"...สำนักข่าวต่างประเทศ The Diplomat ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีผลกระทบกับระบบสาธารณสุขของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากการบริหารจัดการไม่ถูกต้องระหว่างรัฐบาลและบุคลากรทางการแพทย์ จนทำให้เกิดความไม่พอใจของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานด่านหน้า ผนวกกับการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้า ทำให้สถานการณ์ไวรัสโควิดในประเทศเหล่านี้เลวร้ายมากขึ้นไปอีก..."
..................................
สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ที่ยืดเยื้อยาวนานจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น โดยในส่วนประเทศไทย ล่าสุด ณ วันที่ 23 ก.ค.2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่สูงถึง 14,575 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 467,707 ราย ส่วนผู้เสียชีวิต มีจำนวน 114 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมสูงถึง 3,811 ราย ผู้ป่วยจำนวนมากขาดแคลนเตียงรักษาพยาบาล
นอกเหนือจากความกังวลเรื่องระบบสาธารณสุขในการดูแลรักษาผู้ป่วยกลายเป็นสิ่งที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากในช่วงเวลานี้แล้ว ความขัดแย้งระหว่างบุคลากรทางแพทย์ด้านหน้า กับรัฐบาล กำลังก่อตัวเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวต่างประเทศ The Diplomat ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีผลกระทบกับระบบสาธารณสุขของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากการบริหารจัดการไม่ถูกต้องระหว่างรัฐบาลและบุคลากรทางการแพทย์ จนทำให้เกิดความไม่พอใจของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานด่านหน้า ผนวกกับการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้า ทำให้สถานการณ์ไวรัสโควิดในประเทศเหล่านี้เลวร้ายมากขึ้นไปอีก
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
ในขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังเลวร้ายลงในหลายประเทศทั่วภูมิภาคอาเซียน ปัญหาความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลและบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่กำลังทำงานภายใต้ระบบสาธารณสุขที่มีความเปราะบางจนใกล้จะล่มสลายนั้นก็เพิ่มมากขึ้นในทุกขณะ
มีรายงานข่าวว่าในหลายประเทศของอาเซียน บุคลากรทางการแพทย์ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการเสริมสร้างความปลอดภัยทางวิชาชีพเพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ และการปกป้องที่ดีขึ้นสำหรับไวรัสโควิดสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการแพร่เชื้อสูงขึ้นกว่าเดิม
ซึ่งทั้งหมดนั้นได้ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศตกอยู่ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง
ตัวอย่างเช่นประเทศมาเลเซีย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อสูงที่สุดต่อหัวต่อประชากร และมีรายงานถึงความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลกับบุคลากรทางการแพทย์
เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เปิดการสอบสวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนสิ่งที่เรียกกันว่า ‘รหัสดำ’ และ ‘วันจันทร์สีดำ’ ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้เป็นการเคลื่อนไหวหรือแคมเปญที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีอายุน้อยได้ทำสัญญากับภาครัฐให้มีตำแหน่งที่ถาวรในการทำหน้าที่
แคมเปญรหัสดำของประเทศมาเลเซีย (อ้างอิงรูปภาพจาก https://sea.mashable.com)
ขณะที่สมาคมบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวออนไลน์นั้นได้มีการออกมาประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเป็นการกระทำที่ไม่จำเป็นและล่วงละเมิดต่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประเทศมาเลเซีย
ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า บุคลากรทางการแพทย์ของมาเลเซียนั้นอยู่ภายใต้คำสั่งให้ปิดปากและถูกเตือนไม่ให้แสดงความเห็นโดยไม่ได้รับอนุญาต และยังถูกเตือนว่าจะต้องมีจริยธรรมมากขึ้นในการที่จะไม่ใช้บัญชีโซเชียลมีเดียของตัวเองในการวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจและนโยบายของรัฐบาล
โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแพทย์และพยาบาลซึ่งอยู่ในด่านหน้าแต่ไม่ระบุนาม ได้มีการเขียนจดหมายเปิดผนึก,มีการส่งต่อคำสัมภาษณ์และแชร์วิดีโอที่ปรากฏภาพของโรงพยาบาลที่แออัด พร้อมกับรูปภาพของบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่มีอุปกรณ์เพียงพอ แต่ต้องรับมือกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้า
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ได้มีท่าทีกับเรื่องเหล่านี้ว่า ถ้าหากมีหลักฐานที่เพียงพอว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขมีพฤติกรรมที่ละเมิดต่อระเบียบ กฎเกณฑ์ ก็อาจจะถูกลงโทษทางวินัยซึ่งรวมไปถึงการไล่ออกจากตำแหน่งได้ ในข้อหาว่าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและสร้างภาพพจน์อันเลวร้ายของระบบบริการสาธารณะให้เกิดขึ้น
ส่วนอินโดนีเซียที่ขณะนี้กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่ในทวีปเอเชีย บุคลากรทางการแพทย์ต่างก็มีความกังวลเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของตัวเองหลังจากที่สื่อท้องถิ่นรายงานว่ามีบุคลากรทางการแพทย์เกือบ 1,000 ราย เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19
แม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคมาแล้วจำนวน 2 โดสก็ตาม
การจัดส่งวัคซีนซิโนแวคไปยังประเทศอินโดนีเซีย (อ้างอิงวิดีโอจาก New China TV)
แน่นอนว่าอัตราการติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ดังกล่าวนั้น มีการประเมินเอาไว้ว่าจะทำให้สถานการณ์ของผู้ป่วยในประเทศอินโดนีเซียเลวร้ายลงไปถึง 3 เท่าเลยทีเดียว
ขณะที่องค์กรนิรโทษกรรมสากลหรือแอมเนสตี้นั้น ได้มีการออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรด่านหน้าที่สำคัญอันเนื่องมาจากการขาดอุปกรณ์ป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่เหมาะสม
ทั้งนี้ แอมเนสตี้ยังได้มีการจัดทำเอกสารประกอบข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งระบุว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ออกมาแสดงความกังวลกับมาตรการการรับมือกับไวรัสโควิด-19 นั้น กำลังถูกคุกคามจากภาครัฐตั้งแต่การจับกุม การคุมขัง การข่มขู่ และการปลดออกจากหน้าที่
อนึ่ง ประเทศอินโดนีเซียมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมไปแล้วทั้งสิ้น 2.8 ล้านราย มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 อีกทั้งสิ้น 73,800 ราย นับตั้งแต่การระบาดของไวรัส ซึ่งทางรัฐบาลออกมายืนยันว่าได้มีการสำรองศูนย์ทางการแพทย์เอาไว้แล้วถ้าหากเกิดกรณีเลวร้ายที่สุด จำนวนผู้ติดเชื้อเกินกว่า 100,000 คนต่อวัน
อย่างไรก็ตาม อัตราการฉีดวัคซีนในประเทศอินโดนีเซียก็ยังคงต่ำอยู่ โดยมีการประเมินว่ายังอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่า 6 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนจำนวนทั้งสิ้น 270 ล้านราย แม้ว่าประเทศอินโดนีเซียจะเริ่มมีการฉีดวัคซีนมาตั้งแต่เดือน ม.ค.แล้วก็ตาม
ขณะที่ประเทศเมียนมาที่มีการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง หลังจากที่มีเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ก็เจอกับปัญหาความชะงักงันของการเข้าถึงการบริการทางด้านสุขภาพในช่วงเวลาที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้น
ซึ่งจากความโกรธแค้นที่มีต่อกองทัพไปจนถึงความกลัวว่าจะมีความร่วมมือกับทางกองทัพ ทำให้ทั้งคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์หลายแห่งเลือกที่จะไม่ใช้บริการหรือไม่ทำงานให้กับโรงพยาบาลที่ถูกดำเนินกิจการโดยกองทัพเอง
มีรายงานว่าแพทย์นับพันราย ได้เข้าไปประท้วงร่วมกับพลเรือนทั่วประเทศเพื่อจะแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นปฏิเสธที่จะทำงานภายใต้ระบอบการปกครองของทหาร
ขณะที่กองกำลังฝ่ายทหารได้เปิดฉากเข้าโจมตีใส่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เข้าขัดขวางการช่วยเหลือที่จำเป็นและเข้ายึดอุปกรณ์ทางการแพทย์และยา รวมไปถึงอุปกรณ์ทางคลินิกที่ทำขึ้นมาเอง ในระหว่างการบุกเข้าตรวจค้น และมีรายงานด้วยว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ยังได้ทำร้ายร่างกายและสังหารบุคลากรทางการแพทย์จำนวนหนึ่ง โดยกล่าวหาว่าเป็นบุคคลผู้เป็นภัยต่อรัฐ
รายงานข่าวเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ของเมียนมาที่ต้องทำงานใต้ดินเพื่อหลบซ่อนจากการตรวจจับของรัฐบาล (อ้างอิงวิดีโอจาก ABC News)
ทั้งนี้ จากสภาพการณ์โดยรวมทั้งหมดนั้น นางบริดเจท เวลส์ นักวิจัยกิตติมศักดิ์จากสถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยนอตติงแฮมเอเชีย ประเทศมาเลเซีย ได้ออกมาระบุว่า เป็นที่เห็นเด่นชัดเลยว่ารัฐบาลหลายแห่งในภูมิภาคอาเซียนนั้นประสบความล้มเหลวในการรับมือกับปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 และรัฐบาลประเทศเหล่านี้ก็มีท่าทีที่แข็งกร้าวและรุนแรงเป็นอย่างยิ่งกับบุคลากรที่พวกเขาต้องการมากที่สุด นั่นก็คือ แพทย์
“ทีมแพทย์นั้นกำลังออกมาพูดว่าสถานการณ์ในภูมิภาคนั้นเลวร้ายแค่ไหน ที่เมียนมา ทีมแพทย์ต้องพบกับการตอบสนองที่รุนแรงที่สุด ด้วยพฤติกรรมของเผด็จการทหารที่มีลักษณะเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ในประเทศมาเลเซียเอง ก็ประสบกับความล้มเหลวในการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์รุ่นเยาว์อย่างเหมาะสม ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นได้บั่นทอนความพยายามที่จะรับมือกับวิกฤติไวรัสโควิด-19 อย่างจริงจังและทำลายทรัพยากรอันสำคัญที่จะไปหล่อเลี้ยงการพัฒนาระบบสาธารณสุขแบบองค์รวม ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องอันสำคัญที่กำลังย้อนกลับมาเป็นผลร้าย และสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นคงอันมีนัยยะสำคัญ ซึ่งสิ่งที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้นั้นก็คือการมีผู้นำคนใหม่ ที่จะสามารถจัดการกับระบบสาธารณสุขให้ผ่านพ้นวิกฤติไปให้ได้” นางเวลส์กล่าวกับสำนักข่าว Diplomat
"รัฐบาลทุกรัฐบาลที่มีความต้องการจะจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะได้รับการสนับสนุนจากบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดในช่วงเวลาที่ยังคงมีการระบาดที่จะกินเวลาต่อไปอีกนานโดยไม่มีท่าทีว่าจะลดลงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามถ้าหากคนจำนวนมากยอมจำนนต่อโรคมากเท่าไร สิ่งที่จะตามมาก็คือว่าคนที่อดทนต่อสถานการณ์นั้นก็จะเหลือน้อยลงไปทุกที เหลือไว้ต่อผู้ยังเหน็ดเหนื่อย เจ็บปวด และโกรธแค้น ซึ่งจะตามมาด้วยการไร้ความเชื่อมั่นต่อตัวรัฐบาลเอง และนี่ก็จะนำไปสู่การล่มสลายของระบบสาธารณสุขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" นางเวลส์กล่าวทิ้งท้าย
เรียบเรียงจาก:https://thediplomat.com/2021/07/as-delta-variant-rages-in-southeast-asia-health-workers-warned-not-to-speak-out/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage