“…แม้ว่าข้อมูลปัจจุบันบ่งชี้ว่า หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิดจะมีอาการไม่ต่างจากคนปกติ แต่ก็มีความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรงกว่าคนทั่วไป และมีโอกาสต้องเข้ารักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตเพิ่มขึ้น และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ เลือดแข็งตัวผิดปกติ ทารกตายในครรภ์ ทารกคลอดก่อนกำหนดและทารกน้ำหนักตัวน้อย ทารกติดเชื้อต้องเข้ารักษาในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดวิกฤตสูงขึ้น ทั้งนี้ การรักษา จึงจะมีความซับซ้อนกว่าคนปกติ เช่น ต้องคำนึงถึงอายุครรภ์ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ภาวะคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น…”
----------------------------
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดในปัจจุบัน มีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่จะมีแนวโน้มมีอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อ คือ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 2 ปี รวมถึงหญิงตั้งครรภ์
วัคซีน จึงเป็นทางออกสำหรับการหยุดยั้งโรคระบาดนี้ที่ทั่วโลกยอมรับ สำหรับประเทศไทย ได้มีนโยบายสำหรับการฉีดวัคซีนเพื่อลดอาการรุนแรง และอัตราการเสียชีวิต เมื่อติดเชื้อ รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อควบคุมการระบาด โดยกำหนดลำดับการฉีดให้ตามระดับความเสี่ยง แบ่งเป็น กลุ่มแรก คือ ผู้ที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิต เมื่อติดเชื้อ คือ ผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และกลุ่มต่อมา คือ ประชาชนทั่วไป
ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค ได้เพิ่มกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ที่มีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรกด้วย สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดกับหญิงตั้งครรถ์ พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
@ หญิงท้องติดโควิดแล้วเกือบ 900 ราย
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาารณสุข เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด และทารกแรกเกิด ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2563 - 20 ก.ค.2564 พบว่า มีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อแล้ว 898 ราย เสียชีวิต 16 ราย โดยพบว่า 14 รายเสียชีวิต จากภาวะปอดอักเสบรุนแรงจากเชื้อโควิด มีเพียง 2 รายที่เสียชีวิตจากภาวะทางสูติกรรม และพบทารกติดเชื้อ 68 ราย เสียชีวิต 6 ราย
เนื่องจาก ในช่วงตั้งครรภ์ จะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายมากกว่าช่วงปกติ เช่น ประสิทธิภาพการทำงานของปอดลดลง ปริมาณการใช้ออกซิเจนในร่างกายเพิ่มขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันของแม่ท้องเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคระบบทางเดินหายใจได้ ส่งผลให้หากเจ็บป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่จะมีความรุนแรงมากกว่าคนปกติ รวมถึงการติดเชื้อโควิดด้วยเช่นกัน
แม้ว่าข้อมูลปัจจุบันบ่งชี้ว่า หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิดจะมีอาการไม่ต่างจากคนปกติ แต่ก็มีความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรงกว่าคนทั่วไป และมีโอกาสต้องเข้ารักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตเพิ่มขึ้น และยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอาการครรภ์เป็นพิษ เลือดแข็งตัวผิดปกติ ทารกตายในครรภ์ ทารกคลอดก่อนกำหนด และทารกน้ำหนักตัวน้อย ส่วนทารกติดเชื้อต้องเข้ารักษาในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดวิกฤตสูงขึ้น ทั้งนี้ การรักษา จึงจะมีความซับซ้อนกว่าคนปกติ เช่น ต้องคำนึงถึงอายุครรภ์ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ภาวะคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น
@ ชี้หญิงท้องเสี่ยงอาการรุนแรง เร่งฉีดวัคซีน
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ในขณะที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน แต่ข้อมูลวัคซีนหญิงตั้งครรภ์ยังมีไม่มาก กรมอนามัยจึงให้ความสำคัญโดยร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญ ผลักดันนโยบายให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับการดูแลที่เหมาะสมผ่านคลินิกฝากครรภ์ที่หญิงตั้งครรภ์ไปรับบริการอยู่ โดยให้หญิงตั้งครรภ์จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ควรต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเช่นเดียวกับกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค
"หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับวัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว ยังคงต้องป้องกันตนเองจากการติดเชื้อเป็นพิเศษ โดยงดใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับคนในบ้าน หมั่นล้างมือเป็นประจำ เว้นระยะห่าง งดออกจากบ้านหรือเดินทางเท่าที่จำเป็นเมื่อต้องไปตรวจครรภ์ โดยเฉพาะรายที่มีความเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีโรคประจำตัว อาจโทรปรึกษาแพทย์เพื่อขอเว้นระยะเวลาการไปตรวจครรภ์ที่โรงพยาบาล โดยให้แพทย์ เป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม" นพ.สุวรรณชัย กล่าว
@ การปฏิบัติติตัวของหญิงตั้งครรภ์
หญิงตั้งครรภ์ ควรจะดูแลตัวเองเป็นพิเศษในสถานการณ์แพร่ระบาด ณ ขณะนี้ เนื่องจากมีอีกหนึ่งชีวิตอยู่ในครรภ์ ทางกรมอนามัย จึงมีข้อแนะนำ ข้อควรควรมีวิธีปฏิบัติ และการดูแลตนเองเป็นพิเศษ ได้แก่
1.สวมหน้ากาก พกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวเพื่อล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน จำกัดการเดินทางเท่าที่จำเป็น และไม่ไปในที่ที่มีคนหนาแน่น เมื่อกลับถึงบ้าน ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที
2.กินอาหารปรุงสุก สะอาด และครบ 5 หมู่ โดยขอให้เลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ บุหรี่ และควรมีกิจกรรมทางกายสม่ำเสมอ
3.การไปตรวจครรภ์ตามนัดยังเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในรายที่มีความเสี่ยงในขณะตั้งครรภ์ ควรนัดหมายเวลาล่วงหน้า
@ ฝากครรภ์แบบนิวนอมอล
ปัจจุบัน วิถีชีวิต ตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อโควิดตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ต้องปรับแนวทางการดำเนินชีวิตประจำวันต่างๆ เป็นในรูปแบบวิถีใหม่ หรือนิวนอมอล เช่น เว้นระยะห่าง จัดประชุมออนไลน์ สวมหน้ากากอนามัย รวมถึงการเข้ารับบริการในสถานพยาบาล
แนวทางการให้บริการฝากครรภ์ตามแนววิถีใหม่ สำหรับสถานพยาบาล ผู้ให้บริการ
1. ให้บริการฝากครรภ์แบบ ONE STOP SERVICE เพื่อลดระยะเวลารอคอย
2. จัดทำผังขั้นตอนการให้บริการฝากครรภ์เพื่อสื่อสารให้หญิงตั้งครรภ์รับทราบ
3. จัดให้มีกิจกรรมโรงเรียนพ่อแม่ โดยใช้ช่องทางดิจิทัล เช่น โปรแกรม Save mom และ Line @ 9 yangth เป็นต้น
4. จัดระบบการนัดหมายให้เป็นช่วงเวลาสำหรับผู้รับบริการแต่ละราย และให้มีผู้ติดตามหญิงตั้งครรภ์ไม่เกิน 1 คน
5. การจ่ายยาบำรุงครรภ์ แนะนำให้ครั้งละ 2 – 3 เดือน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย
@ วิธีสังเกตอาการตัวเองเมื่อสงสัยติดเชื้อ
สำหรับการสังเกตอาการเมื่อสงสัยว่าติดเชื้อของหญิงตั้งครรภ์นั้น ส่วนหนึ่งเหมือนกับบุคคลทั่วไป คือ มีอาการไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจไม่สะดวก หรือท้องเสีย และหากมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยยืนยันว่าติดเชื้อ ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจและแยกกักตัว
นอกจากนี้ ควรเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น น้ำหนักตัว อาการบวม การเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ อาการปวดท้อง เลือดออกทางช่องคลอด หรือมีของเหลวใสไหลออกจากช่องคลอด หากมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ต้องคอยวัดความดันโลหิตเองที่บ้านหรือที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน และต้องรีบพบแพทย์ เมื่อมีอาการเหล่านี้
@ สนับสนุนช่องทางพิเศษรักษา-ดูแลคนท้อง
นพ.สุวรรณชัย กล่าวด้วยว่า ในกรณีที่พบว่าหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด กรมการแพทย์เคยออกแนวทางปฏิบัติ ระบุว่า หากอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ขึ้นไป ให้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่มีผู้ป่วยมากขึ้น เกินกว่าที่โรงพยาบาลจะสามารถรับได้ไหว ในบางจังหวัด จึงได้ปรับวิธีการดูแลเป็นการให้รักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม และมีทีมแพทย์คอยดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ในขณะนี้ยังไม่มีจุดพักคอยสำหรับดูแลเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ แต่ทั้งนี้ กรมอนามัยสนับสนุนให้มีช่องพิเศษ กับหญิงตั้งครรภ์ในทุกสถานพยาบาลทุกแห่ง
@ คนท้องมีอัตราครองเตียงเพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับหญิงทั่วไป
ขณะที่ ผศ.พญ.อรวิน วัลลิภากร อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า เมื่อดูสถิติย้อนหลัง พบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด มีอัตราการครองเตียงไอซียู มากกว่าหญิงทั่วไป 2 เท่า และมีอัตราการใช้เครื่องช่วยหายใจมากกว่าปกติ 2 เท่า
นอกจากนั้น เมื่อเปรียบเทียบหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ กับ หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ติดเชื้อ พบว่า อัตรากรเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2.8 เท่า ความเสี่ยงอาการรุนแรง ต้องนอนไอซียู เพิ่มขึ้น 18.5 เท่า ทั้งนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ด้วย เช่น การคลอดก่อนกำหนด เสียชีวิตในครรภ์ นอกจากนี้เพิ่มความเสี่ยง เมื่อทารกคลอดออกมาจะต้องไปรักษาตัวใน ICU ประมาณ 5 เท่า
ผศ.พญ.อรวิน กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์พักคอยสำหรับดูแลหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะว่า เมื่อดูสถิติหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อทั้งหมด ประมาณ 50% ไม่มีอาการหรืออาการน้อย และ 40 เปอร์เซ็น ที่มีอาการปอดอักเสบ โดยมาตรการการเข้ารับการรักษาก็จะเป็นไปตามแนวปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข เพระาฉะนั้น จุดพักคอยสำหรับหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะ อาจจะยังไม่จำเป็น
"อยากจะแนะนำคนท้อง เข้ารับการฉีดวัคซีน หากมีความเสี่ยงหรือสัมผัสเสี่ยงสูง ต้องพิจารณาเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ และเมื่อสงสัยว่าเป็น สำหรับคนท้องที่หมอสูติฯ อยากจะแนะนำ คือ อย่าซื้อยากินเอง ไม่ว่าจะเป็นยาสมุนไพรต่างๆ ฟ้าทะลายโจร ยาเขียว จริงๆ แล้วไม่แนะนำให้ใช้กับคนท้อง ถ้ามีอาการหรือรู้ว่าติดเชื้อ ให้แจ้งคุณหมอที่ฝากครรภ์เป็นอย่างน้อย และเข้ารับการรักษาตามขั้นตอนต่อไป" ผศ.พญ.อรวิน กล่าว
ผศ.พญ.อรวิน วัลลิภากร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
@ ต้องมีใบยินยอมรับวัคซีน
กรมอนามัยได้ขอความร่วมมือทุกโรงพยาบาล และคลินิกฝากครรภ์มีแนวทางให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดสำหรับหญิงตั้งครรภ์ โดยให้คำแนะนำหรือให้คำปรึกษาเรื่องวัคซีน เมื่อตัดสินใจฉีดวัคซีนแล้ว ให้พิจารณาว่าไม่มีข้อห้ามหรือไม่
การฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ ต้องมีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ กรณีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ภายหลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว แนะนำให้เลื่อนการฉีดเข็มที่ 2 ไปหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ส่วนหญิงหลังคลอดหรือให้นมบุตร สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังจากฉีดวัคซีนนั้น สามารถพบได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป
ในส่วนข้อห้ามของการฉีดวัคซีนเหมือนในบุคคลทั่วไป คือ เคยแพ้วัคซีนจากการฉีดครั้งก่อน มีโรคประจำตัวที่รุนแรงและอาการยังไม่คงที่ มีโรคกำเริบ นอกจากแพทย์ประจำประเมินว่าฉีดได้ หรือขณะที่กำลังป่วย หรือร่างกายอ่อนเพลียจากสาเหตุต่างๆ ควรเลื่อนการฉีดไปก่อนจนกว่าจะเป็นปกติ
ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์สามารถติดต่อเข้ารับบริการฉีดวัคซีนได้ที่คลินิกฝากครรภ์ที่รับบริการอยู่ แต่จะต้องลงชื่อในใบยินยอมในการรับวัคซีน หรือ Walk-in รับบริการฉีดวัคซีนได้ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ กทม. เริ่มตั้งแต่ 22 -31 ก.ค.2564 เวลา 13.00-17.00 น.
@ ฉีดซิโนแวคเข็มแรก ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า
สำหรับชนิดของวัคซีนให้เป็นไปตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยและชนิดของวัคซีนที่มีอยู่ในเวลานั้นๆ ในปัจจุบันแนะนำให้ฉีดวัคซีนซิโนแวค เป็นเข็มแรก และแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มที่ 2 โดยเว้นระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ หากในอนาคต สามารถจัดหาวัคซีนชนิด mRNA ได้ จึงพิจารณาให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับวัคซีน mRNA 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์
“สำหรับช่วงเวลาที่แนะนำให้ฉีดวัคซีนคือช่วงหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป และแนะนำให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคก่อน เนื่องจากผลิตจากเชื้อที่ตายแล้ว ในขณะที่แอสตราเซนเนก้า เป็น Viral Vector Vaccine มีโอกาสเกิดอาการไข้หลังฉีดได้มาก และมีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหญิงที่อายุน้อยกว่า 30 ปี แต่พบน้อยมาก ส่วนหญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร สามารถรับการฉีดวัคซีนได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป” นพ.สุวรรณชัยกล่าว
@ ฉีดวัคซีนอื่นได้ แต่ต้องเว้น 2 สัปดาห์
ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนอื่นที่มักได้รับระหว่างตั้งครรภ์ เช่น วัคซีนป้องกันบาดทะยัก วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีได้ แต่ให้เว้นระยะห่าง 2 สัปดาห์ในการฉีดวัคซีนแต่ละชนิด ยกเว้นในกรณีเป็นวัคซีนที่ต้องได้รับฉุกเฉินเช่น วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ คือข้อมูลสถานการณ์ของหญิงตั้งครรภ์ ภาวะเสี่ยงติดเชื้อ รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกัน ในสภาวะการระบาดของโควิดนี้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage