"...ผลสำรวจเดือน ต.ค.2563-มิ.ย.2564 ของ อย. พบว่าประชาชนร้องเรียนเรื่องโฆษณาถึง 1,905 รายการ คิดเป็น 61.19% ซึ่งสูงที่สุดในรอบปี 4 ปี นับจากปี 2560 อย่างไรก็ตามการทำงานเดิมของ อย.ในปี 2563 เรามุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาด้วยการบังคับใช้กฎหมายและการสร้างการรู้เท่าทันด้านสุขภาพ ตอนนี้เราเล็งเห็นว่าแบบเดิมอาจไม่เพียงพอจะต้องมีการแก้ปัญหาเชิงระบบให้ครอบคลุมในทุกมิติและทุกภาคส่วนด้วย โดยจะต้องรวมมือกันทั้งในส่วนของภาครัฐที่บังคับใช้กฎหมาย กลุ่มผู้ผลิต (OEM) ผู้ประกอบการตลาดออนไลน์ ผู้ประกอบการสื่อ และภาคเครือข่ายประชาชน องค์การผู้บริโภค..."
………………………………………………………
จากผลสำรวจของโคแฟค หรือ Collaborative Fact Checking (CO FACT) โครงการของภาคประชาสังคมที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวลวง เผยแพร่ผลสำรวจจากประชาชนทุกช่วงวัยจำนวน 670 คน ระหว่างวันที่ 7-12 มิ.ย.2564 เปิดเผยว่าประชาชนกว่า 97% ได้รับข่าวสารที่สงสัยว่าเป็นข่าวลวงผ่านช่องทางออนไลน์ โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ประชาชนพบข่าวลวงด้านสุขภาพติด 4 อันดับแรก ประกอบด้วย สรรพคุณเกินจริงของถั่งเช่าและอาหารเสริมอื่นๆ 29% ฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิด 25% มะนาวโซดารักษามะเร็งหรือโควิด 13% และคลิปเสียงคณบดีศิริราชแนะนำให้กินยาเขียวต้านโควิด 12% ขณะที่ข่าวลวงด้านเศรษฐกิจ และด้านวิทยาศาสตร์กลับรั้งท้าย
การเพิ่มขึ้นของข่าวลวงที่เราได้เห็นกันนั้น หากไม่รู้เท่าทันอาจก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงทางด้านสุขภาพ และระบบสาธารณสุขที่อาจไม่ได้รับความร่วมมือของประชาชนในการเข้ารับการรักษาภายในโรงพยาบาลได้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้รวบรวมนานาทัศนะจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพภายในงานเสวนา ‘รู้เท่าทัน…โฆษณาอาหารยารักษาโควิด’ มีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น เราพบว่ามีการซื้อขายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมาขึ้น เครือข่ายองค์การผู้บริโภค จึงได้ทำโครงการเฝ้าระวังร่วมกับองค์กรผู้บริโภค 34 จังหวัด โดยจะให้แต่ละองค์กรทำหน้าที่ตรวจตราผลิตภัณฑ์สุขภาพในทุกช่องทางของสถานที่ซื้อขายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพออนไลน์ อาทิ Shopee, Lazada, Watsons, JD.CO.TH, CMART และ SHOPAT24.com เป็นต้น และรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน หลังจากนั้นเราจะทำหน้าที่เตือนภัย ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงของแต่ละผลิตภัณฑ์ที่เราตรวจสอบและพบว่าเป็นข่าวลวง ขณะเดียวกันจะแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยจัดการแก้ไข และส่งต่อไปยังผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้นด้วย
สำหรับผลงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ผ่านมา ในปี 2562 – 2563 มูลนิธิฯได้จัดการปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ยกเลิกเลขสารบบ พบการวางขายผลิตภัณฑ์ที่ยกเลิกเลขสารบบถึง 40 รายการจาก 100 ราย ส่วนใหญ่เป็นยาลดน้ำหนัก 72.5% รักษาโรค 15% ผิวขาว 7.5% และเสริมสมรรถภาพทางเพศ 5% ซึ่งพบพฤติการณ์ของผู้ประกอบการที่กระทำผิดดังกล่าวว่า จะเปลี่ยนชื่อและเลขสารบบใหม่ ส่วนบรรจุภัณฑ์จะใช้ของเดิม และใช้รูปเดิมและเทคนิคการโฆษณาในลักษณะเดิม
ต่อมาในปัจจุบัน เราได้พัฒนาระบบเฝ้าระวังอีกครั้ง เราพบว่าในช่วงปี 2563-2564 ปัญหาการร้องเรียนเรื่องโฆษณาอาหารและยาเกินจริงยังไม่ลดลง มีผู้ร้องเรียนเข้ามาถึง 826 รายการ แบ่งเป็น โฆษณาโอ้อวดเกินจริง 575 รายการ แสดงสรรพคุณเท็จ 91 รายการ โฆษณาเท็จหรือเกินจริง 64 ราย โฆษณาที่สนับสนุนให้ทำผิดกฎหมาย 49 รายการ โฆษณาที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด 45 รายการ โฆษณาด้วยวิธีที่อันตรายต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดความรำคาญ 2 รายการ
ด้วยเหตุดังกล่าว เราเล็งเห็นว่ามีผู้บริโภคต้องเผชิญกับปัญหาโฆษณาอาหารและยาเกินจริงจำนวนมาก การทำงานเชิงรับ รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนคงไม่พอ ประกอบกับด้วยยุคเทคโนโลยีที่มีความเจริญก้าวหน้าข้อมูลข่าวสารสามารถไหลได้ตลอดเวลาและเร็ว จะต้องมีการทำงานเชิงรุกด้วย ขณะนี้มูลนิธิฯจึงกำลังพัฒนานวัตกรรมระบบถังข้อมูล ที่จะใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการสืบค้นปัญหาที่ผู้บริโภคได้ร้องทุกข์ในช่องทางต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อให้มูลนิธิฯได้ทราบปัญหา และสื่อสารกลับให้ผู้บริโภคได้รู้เท่าทัน
@ ชี้บัญชีผู้โฆษณาอาหารและยาเกินจริง ถูกสั่งปิด แต่แอบเปิดใหม่เป็นประจำ
นายสมศักดิ์ ชมพูบุตร ประธานศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จ.ลำปาง กล่าวถึงการทำงานด้านการเฝ้าระวังร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในส่วนของหน่วยงานภาคเหนือด้วยว่า ในเดือน เม.ย.2564 ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในภาคเหนือได้ตรวจสอบผ่านอินสตาแกรม พบ 22 ผลิตภัณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวัง ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์หน้าขาว 11 ผลิตภัณฑ์ สมุนไพร 3 ผลิตภัณฑ์ ลดพุง 4 ผลิตภัณฑ์ และหุ่นดี 4 ผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่มักไม่แสดงเลขที่ อย. และมีการใช้คำพูดโฆษณาเกินจริง เช่น กินแล้วมีการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม
ต่อมาในเดือน พ.ค.2564 ได้เฝ้าระวังผ่านโทรทัศน์ พบ 30 ผลิตภัณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวัง ส่วนใหญ่มักอวดอ้างคุณสมบัติสามารถรักษาโรคได้ อาทิ ลดความดัน ลดน้ำตาลในเลือด หรืออ้างว่าส่วนผสมทำมาจากธรรมชาติ ไม่มีสารเคมี มีผู้เชี่ยวชาญหรือบุคคลสาธารณะเข้าร่วมในการสัมภาษณ์และอ้างผลวิจัยรับรอง มีการสัมภาษณ์ผู้ใช้ให้กล่าวถึงคุณสมบัติที่ทำให้ร่างกายดีขึ้นเพราะผลิตภัณฑ์ และมีการจัดโปรโมชันดึงดูดใจ ลดราคาจากเดิมลงมาถึง 2 เท่า
จากนั้นในเดือน ก.ค.2564 ได้เฝ้าระวังผ่านอินสตาแกรม และเฟซบุ๊ก พบ 30 ผลิตภัณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวัง แบ่งเป็นในอินสตาแกรม 12 ผลิตภัณฑ์ และเฟซบุ๊ก 18 ผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่มักไม่แสดงเลขที่ อย. อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง อาทิ จะทำให้ขาว และผอม และมีการตั้งราคาขายเกินราคา
“จากการเฝ้าระวังผ่านช่องทางต่างๆ เราจะเห็นได้ว่าเรายังมีปัญหาด้านการจัดการที่ยังไม่ชัดเจน หรือเป็นระบบ การเชื่อมต่อข้อมูลการเฝ้าระวังกับหน่วยงานต่างๆ ยังมีความล่าช้าในการส่งต่อข้อมูล การติดตามบัญชีผู้ใช้ที่ยากต่อการติดตามซ้ำ ซึ่งมักจะพบการปิดเพจ ปิดบัญชีผู้ใช้ แต่แอบไปเปิดใหม่เป็นประจำ ซึ่งเราเจอเคสแบบนี้เยอะมาก นอกจากนั้นยังพบการใช้ข้อมูลสินค้าเดิมในการโพสต์ขายสินค้าขึ้นหน้าฟีดต่างๆ โดยไม่ถูกจัดการ และที่สำคัญยังพบอีกว่าสินค้าที่ได้รับการเฝ้าระวังไม่มีผลการดำเนินงาน เพื่อประชาสัมพันธ์บอกต่อสาธารณะ” นายสมศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ ได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะในการเฝ้าระวังอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยว่า 1. หน่วยงานต่างๆ ควรจะร่วมมือกันตรวจสอบเพจขายสินค้าที่มีการนำข้อมูลเดิมมาโพสต์ซ้ำตลอด จนไม่มีความเคลื่อนไหว 2.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรให้ความสำคัญกับเครือข่ายเฝ้าระวังในพื้นที่ 3. ควรมีการพัฒนาระบบการแก้ไขปัญหาการจัดการผลิตภัณฑ์ในสื่อต่างๆ และ 4. เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแล้ว ควรมีการส่งต่อข้อมูลการดำเนินการนั้นมายังเครือข่ายเฝ้าระวัง หรือประชาสัมพันธ์การจัดการในวงกว้าง
@ เตือน ปชช.ระวังโฆษณาสุขภาพ ‘พูดดี-อวดอ้างเกินจริง’ ช่วงโควิด
ขณะที่ นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า ทางสมาคมเพื่อนโรคไต เราเป็นส่วนหนึ่งของการรับเรื่องร้องเรียนข่าวหรือโฆษณาลวง และให้ข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการโดยส่วนใหญ่ที่กระทำผิดมักใช้คำพูดที่ดูดี อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ทำให้ประชาชนที่ได้รับสื่อโฆษณานี้เกิดความหลงใหล ยกตัวอย่างเช่น การหลอกขายยาไอเวอร์แมคติน หรือถ่ายพยาธิ ที่อ้างว่า เป็นยารักษาโควิด ให้กับกลุ่มผู้ป่วยที่ติดโควิดและยังไม่ได้บำบัดทดแทนไต ทำให้ผู้ป่วยโควิดเดิมที่ท้องเสียอยู่แล้ว มีอาการท้องเสียหนักขึ้น นอกจากนั้นยังถึรวมถึงการขายกระชายขาว และยาฟ้าทะลายโจรที่ไม่ได้บอกถึงข้อจำกัดในการใช้ที่เป็นข้อควรระวังด้วยว่าไม่ควรใช้อย่างไร ไม่เหมาะกับกลุ่มไหน ทำให้สุขภาพของผู้ถูกหลอกซื้อบางรายป่วยหนักขึ้น ได้รับผลข้างเคียงจากยา และบางรายยอมไม่เข้าสู่ระบบการรักษาหรือทานยาของโรงพยาบาล เนื่องจากเห็นว่ายานี้ดีกว่า ยานี้สามารถรักษาได้ทุกโรค ส่งผลให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรมมากขึ้น
@ กสทช.จับมือ ‘อย.-ดีอีเอส’ ตรวจสอบข่าวลวง-ลงโทษผู้กระทำผิด
นอกจากภาคีเครือข่ายภาคประชาชนแล้ว ด้าน ภญ.วรสุดา ยูงทอง ผู้อำนวยการกองส่งเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น กล่าวถึงการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ในการแก้ไขปัญหาหรือขจัดการโฆษณาอาหารและยาเกินจริง ว่า กสทช.ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยจะให้ อย.ช่วยตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีความปลอดภัยและอนุญาตให้จำหน่ายหรือโฆษณาได้หรือไม่ หากพบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตามแม้ว่า กสทช.จะมีบทลงโทษมาก แต่การลงโทษในแต่ละครั้งจะต้องมาพิจารณาถึงความหนักเบาของการกระทำผิดให้ถี่ถ้วน เนื่องจากการตัดสินใจในแต่ละครั้งจะกระทบต่อผู้ประกอบการค่อนข้างมาก ทั้งนี้ในการดูแลเรื่องดังกล่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ กสทช.อาจจะดูแลไม่หมด ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จะเข้าดูแลด้วย
@ ทุบสถิติคนร้องเรียนโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพหลอกลวงพุ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี
จากข้อมูลปัญหาของการโฆษณาอาหารและยาที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือเกินจริงข้างต้น ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์ ผอ.ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียน และปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ กล่าวว่า โฆษณาเป็นสื่อที่ช่วยผลิตซ้ำทางความคิด การที่ผู้ประกอบการลงทุนโฆษณาโดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีเทคโนโลยีที่เรียกว่าเอไอ ช่วยทำให้การโฆษณาเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายมากขึ้น และทำให้เห็นการโฆษณาแบบเดิมอยู่บ่อยครั้ง จนเกิดความเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถช่วยได้จริงๆ เนื่องจากหากไม่เป็นเรื่องจริง เพจนี้คงจะถูกปิดบัญชีและคงไม่มีโฆษณานี้ไปแล้ว
ผลสำรวจเดือน ต.ค.2563-มิ.ย.2564 ของ อย. พบว่าประชาชนร้องเรียนเรื่องโฆษณาถึง 1,905 รายการ คิดเป็น 61.19% ซึ่งสูงที่สุดในรอบปี 4 ปี นับจากปี 2560 อย่างไรก็ตามการทำงานเดิมของ อย.ในปี 2563 เรามุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาด้วยการบังคับใช้กฎหมายและการสร้างการรู้เท่าทันด้านสุขภาพ ตอนนี้เราเล็งเห็นว่าแบบเดิมอาจไม่เพียงพอจะต้องมีการแก้ปัญหาเชิงระบบให้ครอบคลุมในทุกมิติและทุกภาคส่วนด้วย โดยจะต้องรวมมือกันทั้งในส่วนของภาครัฐที่บังคับใช้กฎหมาย กลุ่มผู้ผลิต (OEM) ผู้ประกอบการตลาดออนไลน์ ผู้ประกอบการสื่อ และภาคเครือข่ายประชาชน องค์การผู้บริโภค
“วันนี้เราปิดได้ แต่วันก็ย่อมเกิดการเปิดใหม่ได้อีกเช่นกัน ทุกคนพร้อมใช้ประโยชน์จากสื่อโฆษณา ยิ่งด้วยนวัตกรรมเอไอ สามารถตรงเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายได้ตรงและเผยแพร่ซ้ำๆได้ ซึ่งทาง อย.ได้กำหนด 6 ยุทธศาสตร์การดำเนินงานออกมา สรุปให้เข้าใจโดยง่ายว่าเราจะต้องไม่ไลค์ ไม่แชร์ แล้วก็ช่วยกันกดรีพอร์ท เพื่อให้เอไอของสื่อออนไลน์ต่างๆได้เรียนรู้ ขณะเดียวกันในดำเนินงานตามกฎหมายควบคู่กันไปด้วย แต่การดำเนินงานทางกฎหมายอาจใช้เวลานาน ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่ภาครัฐได้เห็นโฆษณาลวง หรือรับข่าวสารจากประชาชนหรือภาคีเครือข่ายต่างๆที่ร้องเรียนเข้ามา อยากให้ส่งสื่อที่ถูกต้องสู่สาธารณะ เพื่อให้สาธารณชนสามารถแชร์ย้อนกลับไปเรื่อยๆ ตัดวงจรโฆษณาลวงให้หมดไปในที่สุด ทั้งนี้หากไม่มีการส่งต่อย้อนกลับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เชื่อว่าข่าวลวงเดิมๆนี้ จะถูกส่งกลับมาถึงเราอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้เราเจอบ่อยมากในการปฏิบัติหน้าที่” ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์ กล่าว
@ รู้เท่าทันโฆษณาลวง ด้วยหลัก ‘3W’
ด้าน ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการ เฝ้าระวัง และพัฒนาระบบยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือเกินจริงมีประเด็นที่ต้องคำนึงอยู่ด้วยกัน 9 ประการ ประกอบด้วย 1. การศึกษาของไทยยังขาดการเตรียมพร้อมให้ประชาชนสามารถคิดเชิงวิพากษ์ หรือ Critical Thinking ได้ โดยประชาชนต้องสามารถตรวจสอบได้ว่าการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่แอบอ้างว่าสามารถรักษาโรคได้นั้น หากได้รับการรับรองจาก อย. เพียงแค่เป็นผลิตภัณฑ์อาหาร มิใช่ยา ขอให้ประชาชนตระหนักได้ว่าการโฆษณานั้นอาจแอบอ้างสรรพคุณเกินจริง สินค้าอาจมีความปลอดภัยให้ทานได้ แต่ไม่ได้ใช้รักษาโรค
2. ประชาชนชาวไทยยังเชื่อง่าย ขาดวิจารณญาณ ขาดแหล่งข้อมูล และไม่ค่อยค้นคว้าตรวจสอบหาข้อเท็จจริง 3. ผู้สูงอายุมักมีการส่งต่อโฆษณาดังกล่าวด้วยความหวังดี โดยแต่กลับกลายเป็นการประสงค์ร้ายโดยไม่รู้ตัว 4. ขาดการรวมกลุ่มชุมชนเฝ้าระวัง 5. ขาดแหล่งข้อมูล และการสนับสนุนของรัฐในการตรวจสอบ 6.กฎหมายยังมีความอ่อนแอ และมีช่องว่าง 7. ระบบเฝ้าระวังของภาครัฐ ยังตรวจจับได้น้อย 8. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ของภาครัฐไม่มีการบูรณาการร่วมกัน ต่างแยกกันทำงาน ทำให้ประชาชนได้รับความยากลำบาก ต้องเปิดเพจของแต่ละหน่วยงานในการตรวจสอบข่าวสาร และ 9. ขาดการสื่อสารร่วมกันระหว่างรัฐ ภาคประชาชน และธุรกิจ
“การจะขจัดปัญหาการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือเกินจริงให้หมดไปได้จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตามสำหรับประชาชนในการตรวจสอบเบื้องต้นให้ใช้หลัก 3W คือ การประเมินที่มาของข่าว (Who) การเข้าถึงเป้าหมายของแหล่งข่าว (What) และความเป็นไปได้ของข่าว (Why)” ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage