"...มาตรการล็อกดาวน์ งดออกจาก 14 วัน มีข้อยกเว้นในส่วนที่มีความจำเป็น เช่น การออกไปซื้ออาหาร เครื่องใช้ที่จำเป็น ยาหรือเวชภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงการออกไปโรงพยาบาล ไปฉีดวัคซีนด้วย และการออกไปเพื่อปฏิบัติติหน้าที่ทางการแพทย์สาธารณสุข และหน้าที่ที่จำเป็นต่อสาธารณะตามมาตรการกำหนด เช่น ตำรวจ ทหาร จิตอาสาที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือด้านอาหารสำหรับกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น โดยการออกจากบ้าน จำเป็นต้องมีความระมัดระวัง รักษามาตรการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด เว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา พกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือตลอดเวลา และขอให้งดการทานอาหารร่วมกัน หรือหากมีความจำเป็น ให้แยกกันทานให้มากที่สุด..."
---------------------------------------------
วันที่ 20 ก.ค.2564 วันแรกของการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์-เคอร์ฟิวที่คุมเข้มมากขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ 13 จังหวัด ที่อยู่ในโซนสีแดงเข้ม หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด อย่างไรก็ตามยังมีข้อสงสัยว่า ประกาศ-คำสั่งที่เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 28 ยังคลุมเครือและไม่มีความชัดเจนเท่าที่
กระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ชี้แจงข้อมูล มาตรการล็อคดาวน์เพื่อป้องกันควบคุมโรค ที่น่าสนใจ ดังนี้
@ เร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ- 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง
ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน การติดเชื้อมีความรุนแรงค่อนข้างมาก ทั้งในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัดที่ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปรักษา ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา และเกิดมีการระบาดต่อเนื่องกันในหลายจังหวัด ทั้งในครอบครัวและชุมชนใกล้บ้าน สาเหตุจากการที่เดินทางมาและไม่ได้กักตัว ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมาก
สำหรับปัจจัยเสี่ยงจากเชื้อสายพันธุ์เดลตา นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า เชื้อสายพันธุ์นี้มีการแพร่กระจายค่อนข้างเร็ว เมื่อเชื้อเข้าไปถึงผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อขึ้นมาจะทำให้มีกอาการค่อนข้างหนักมากขึ้นได้ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง คือ ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง สำหรับการป้องกันการติดเชื้อ และลดความรุนแรงของโรค ว่า วัคซีน เป็นตัวช่วยในการลดการระบาด ลดอาการรุนแรง โดยเมื่อวานนี้ (16ก.ค.2564) มีการฉีดวัคซีนแล้วกว่า 250,000 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 217,000 โดส และเข็มที่ 2 ประมาณ 30,000 กว่าโดส
"เรามีความหวังว่าถ้าจะฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 4-5 แสนโดสในกลุ่มที่สำคัญ คือ ป้องการเจ็บป่วยรุนแรง คือ กลุ่มโรคเรื้อรัง กลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ ถ้ากลุ่มเหล่านี้ได้รับการฉีดวัคซีนและมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาก่อนจะช่วยลดความรุนแรงได้" นพ.จักรรัฐ กล่าว
นพ.จักรรัฐ เปิดเผยว่า ในพื้นที่ กทม. มียอดสะสมการฉีดวัคซีนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เกือบถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และมีความหวังว่า อีก 40 เปอร์เซ็นต์ โดยจะเร่งฉีดวัคซีนภายใน 2 สัปดาห์นี้ เพื่อจะให้คนที่มีความเสี่ยงสูงต่อความรุนแรงของโรคได้รับการฉีดวัคซีนก่อน รวมถึงจังหวัดอื่นๆ เช่น นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี
"ยอดการฉีดวัคซีนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ก็หวังว่าจะฉีดเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ เพราะฉะนั้นช่วงนี้จึงสำคัญ ที่บ้านไหนที่มีผู้สูงอายุภายในบ้าน ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน จะต้องรีบพาลงทะเบียนเข้ารับการฉัดวัคซีน เพื่อให้ยอดการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเรื้อรั้งได้รับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุดถ้าเป็นคนในกทม.ลงทะเบียนผ่านไทยร่วมใจ ส่วนต่างจังหวัดจะมีช่องทางของแต่ละจังหวัดที่ประกาศออกมา" นพ.จักรรัฐ กล่าว
@ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อคนที่เรารัก
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการที่ออกมานั้น ก็มีหลายข้อในการประกาศที่ใช้คำว่า 'ล็อกดาวน์' แต่ไม่ใช่การล็อกดาวน์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แบบที่เข้ากันใจกัน โดยหลักการแล้ว เป็นการขอความร่วมมือให้ทุกคนอยู่ที่บ้าน งดการเคลื่อนที่ ลดการเดินทาง เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อจากครอบครัวหนึ่งไปสู่อีกครอบครัวหนึ่ง อันเนื่องมาจากการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ที่ทำงาน การทำกิจกรรมนอกบ้าน การเดินทางบนขนส่งสาธารณะ ที่อาจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้มีการแพร่ระบาดโรคต่อเนื่องได้ ฉะนั้นต้องขอให้ทุกคน อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อคนที่เรารัก และรีบเร่งฉีดวัคซีนให้กับคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรังจากกลุ่มโรค รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ด้วย
"วัคซีนทุกยี่ห้อ แม้ว่าจะฉีดครบแล้ว ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ และมีโอกาสแพร่เชื้อได้ เพราะฉะนั้นคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ก็ต้องช่วยเพื่อที่จะให้การแพร่เชื้อไม่กระจายออกไปสู่ครอบครัวอื่น ด้วยการอยู่บ้านเช่นเดียวกัน ขอให้ 14 วันนี้ เริ่มต้นวันนี้เป็นวันแรก งดออกจากบ้านทุกคนอยู่บ้านป้องกันคนในบ้านให้ได้มาตรการป้องกันสูงสุด เช่น สวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย ระหว่างพูดคุยกันระยะใกล้ชิด งดทานข้าว แยกทานอาหาร อาจจะแยกที่นอนบ้าง สำหรับคนที่เสี่ยงมาก" นพ.จักรรัฐ กล่าว
@ ซื้ออาหาร-ยา-ไป รพ.-ฉีดวัคซีน ได้
สำหรับมาตรการล็อกดาวน์ อาจจะสร้างข้อกังวลและสงสัยว่า หากให้อยู่บ้าน จะทานอะไร นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า มาตรการล็อกดาวน์ งดออกจาก 14 วัน มีข้อยกเว้นในส่วนที่มีความจำเป็น เช่น การออกไปซื้ออาหาร เครื่องใช้ที่จำเป็น ยาหรือเวชภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงการออกไปโรงพยาบาล ไปฉีดวัคซีนด้วย และการออกไปเพื่อปฏิบัติติหน้าที่ทางการแพทย์สาธารณสุข และหน้าที่ที่จำเป็นต่อสาธารณะตามมาตรการกำหนด เช่น ตำรวจ ทหาร จิตอาสาที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือด้านอาหารสำหรับกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น โดยการออกจากบ้าน จำเป็นต้องมีความระมัดระวัง รักษามาตรการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด เว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา พกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือตลอดเวลา และขอให้งดการทานอาหารร่วมกัน หรือหากมีความจำเป็น ให้แยกกันทานให้มากที่สุด
@ เว้นระยะห่าง-ไม่ใช้ของร่วมกัน เพิ่มความปลอดภัยในบ้าน
นพ.จักรรัฐ กล่าวถึงการมาตรการป้องกันการติดเชื้อภายในบ้าน ว่า การอยู่บ้าน แบบป้องกันคนในบ้านนั้น ให้เช็กความเสี่ยงของทุกคนในบ้าน ถ้าเสี่ยงมากให้ขอรับการตรวจคัดกรอง เช่น เคยใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ไปสถานที่แออัด ที่ทำงานมีผู้ติดเชื้อ โดยสามารถขอรับการตรวจคัดกรองได้ฟรีด้วย Antigen Test Kit (ATK)
สำหรับมาตรการป้องกันได้บ้าน มีข้อปฏิบัติ เช่น พูดคุยกันห่างๆ สวมหน้ากากอนามัยขณะคุยกัน แยกทานอาหาร ให้ห่างกันระหว่างทำอาหาร-ทานอาหาร ทำความสะอาดบริเวณที่จับร่วมกันบ่อยๆ ลูกบิด ราวบันได โต๊ะอาหาร พัดลม รีโมต รวมถึงแยกที่นอน นั่งดูทีวีห่างกัน งดกิจกรรม และการสัมผัสที่จะใกล้ชิดกันมากๆ
@ 4 จุดตรวจ ATK ฟรีใน กทม.
สำหรับกรณีสงสัยว่าตนเองติดเชื้อ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ให้ลงทะเบียนเพื่อไปตรวจหาเชื้อด้วย ATK สำหรับพื้นที่ กทม. มี 4 จุดที่รับเปิดตรวจเชิงรุก ได้แก่ 1) สนามกีฬาธูปะเตมีย์ กองทัพอากาศ 2) สนามราชมังคลากีฬาสถาน หัวหมาก 3) ลานจอดรถชั้น 1 อาคารบี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และ 4) สถาบันธัญญารักษ์ นอกจากนี้ ยังมีคลินิกชุมชนอบอุ่นที่อยู่ใกล้บ้าน ก็สามารถที่จะช่วยตรวจ ATK หาเชื้อได้ด้วย
@ ตรวจ ATK ผลเป็นบวก ให้คิดไว้ก่อนว่าเข้าข่ายติดโควิด
นพ.จักรรัฐ กล่าวถึงขั้นตอนสำหรับกรณีตรวจผลเป็นบวก ว่า ถือว่าเข้าข่ายเป็นผู้ติดเชื้อ กรณีที่อาการไม่หนัก ถือว่าเป็นกลุ่มสีเขียว ยังไม่มีไข้ ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก หายใจสะดวก จมูกยังได้กลิ่น ลิ้นยังรับรสได้ดี ให้ติดต่อไปที่หมายเลขโทรศัพท์ของ สปสช. 1330 หรือลงทะเบียนโดยการแสกน QR CODE
สำหรับผู้ที่เริ่มมีไข้ ไอ น้ำมูกไหล หายใจสะดวก ยังไม่มีอาการเหนื่อยง่าย การดมกลิ่นหรือการรับรสเริ่มมีปัญหา ให้รีบขอคำแนะนำและการดูแลที่บ้านด้วย CCR Team โดยโทรสายด่วน 1330 สแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อลงทะเบียน หรือกรอกข้อมูลผ่านเว็บไซต์ที่นี่ จะมีทีมประเมินความเสี่ยงสมาชิกในบ้านด้วย รวมถึงให้อุปกรณ์ที่จำเป็นและยาต่างๆ
“หากผลตรวจด้วย ATK เป็นลบ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ติดเชื้อ อาจจะมีโอกาสติดเชื้อ แต่อยู่ในช่วงระยะฟักตัว ฉะนั้นยังต้องป้องกันตัวเองอยู่ตลอดเวลา จากนั้นตรวจซ้ำในอีก 3-5 วัน หรือหากในระหว่างนั้น มีอาการให้ตรวจซ้ำเช่นกัน” นพ.จักรรัฐ กล่าว
@ ตั้งเป้าลดผู้ติดเชื้อใน กทม.เหลือ 1,000 ราย
นพ.จักรรัฐ ตอบคำถามเป้าหมายในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ หลักการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ว่ายอดตัวเลขของผู้ติดเชื้อจะลดลง ภายใน 1-2 เดือนนี้ ส่วนตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อที่จะลดลงเท่าไหร่นั้น เพื่อให้เพียงพอต่อขีดความสามารถของทรัพยากรทางด้านสาธารณสุขและการแพทย์ รวมถึงเตียงที่จะรองรับไหว หากเป็นไปได้ อยากให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในพื้นที่ กทม. ต่ำกว่าวันละ 1,000 ราย จะเป็นตัวเลขที่น่าจะเหมาะสมในสถานการณ์ช่วงนี้ แต่หากต่ำกว่า 500 รายได้ ก็จะสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการมีประสิทธิผล แต่หากจำนวนผู้ป่วยยังคงเพิ่ม อาจจะต้องยืดระยะเวลามาตรการล็อกดาวน์ต่อไป จนกว่าการฉีดวัคซีนจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ พร้อมเน้นย้ำขอให้ทุกคนอยู่บ้าน ลดการเดินทาง เพื่อหยุดการแพร่กระจายเชื้อ จากครอบครัวหนึ่งไปสู่ครอบครัวหนึ่ง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage