“...กรณีคลัสเตอร์เด็กในสถานรับเลี้ยงเด็กติดเชื้อทั้งหมด ก็จะมีพี่เลี้ยง หรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปสลับกันดูแล ส่วนกรณีพ่อแม่ติดเชื้อ แต่เด็กไม่ติด ขั้นแรกสุด เด็กจะต้องถูกกักตัว เพราะฉะนั้นการกักตัว ก็ควรมีขั้นตอน เช่นให้ไปอยู่โรงพยาบาลใกล้เคียงกัน มีความเป็นไปได้ไหมไม่จับแยกเด็กให้อยู่กับพ่อแม่ หรือมีโรงพยาบาลไหนที่สามารถดูแลทั้งพ่อแม่และเด็กด้วยกันได้...”
----------------------------------------------
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในปัจจุบัน ยอดตัวเลขที่ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย จากการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด ถึงแม้ว่าจะมีวัคซีนป้องกัน รวมถึงมีการพัฒนาวัคซีนแล้วก็ตาม แต่เป็นการฉีดให้สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่สำหรับ 'เด็ก' กลุ่มเปราะบางที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีน
รศ.พญ.วนัทปรียา พงษ์สามารถ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า สำหรับเด็กส่วนใหญ่แล้ว เมื่อมีการติดเชื้อโควิดจะมีอาการน้อยกว่าผู้ใหญ่มาก และกว่า 90% จะมีประวัติสัมผัสกับบุคคลในครอบครัวที่มีการติดเชื้อ เด็กอาจจะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ และส่วนใหญ่ก็จะมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดทั่วไป ซึ่งมักจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ มีรายงานผู้ป่วยที่เป็นที่มีอาการหนักและวิกฤต 6% ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่มีอาการหนักและวิกฤตพบมากถึง 19% โดยกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะมีอาการรุนแรงในเด็ก ได้แก่ ทารก และเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี
ด้าน พญ.เรณุกา จรัสพงศ์พิสุทธิ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อในเด็ก ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 2 เปิดเผยถึงข้อสงสัยว่าทำไมเด็กถึงไม่ได้รับวัคซีนว่า ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในช่วงปลายปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ข้อมูลหรือผลการศึกษาการฉีดวัคซีนโควิดในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังมีไม่มาก อีกทั้งยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา หากในอนาคตผลการศึกษาและงานวิจัยต่างๆ พบว่า วัคซีนที่มาอยู่มีประสิทธิภาพดี และมีความปลอดภัยที่จะใช้ในเด็ก ถึงวันนั้นก็จะมีการนำมาใช้ในกลุ่มเด็กต่อไป ดังนั้น เมื่อยังไม่สามารถฉีดวัคซีนให้กับเด็กๆ ได้ในตอนนี้ ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยเด็กอยู่ที่ ประมาณ 8% แต่หากไวรัสมีการกลายพันธุ์ อาจจะมีการแพร่เชื้อมากขึ้น ความเสี่ยงการติดเชื้อในเด็กก็อาจจะมากขึ้นได้เช่นกัน
จึงเป็นเหตุให้การติดเชื้อโควิดใน 'เด็ก' ยังเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมสะสมกว่า 3.91 แสนรายนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการติดเชื้อในผู้ใหญ่ที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่ยอดการติดเชื้อในเด็กก็พุ่งสูงเช่นกัน ตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน มีเด็กแรกเกิดถึงอายุ 15 ปี ติดเชื้อโควิดจำนวน 2,738 ราย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้พูดคุยกับ ครูโอ๋น หรือ น.ส.สุคนธ์ทิพย์ เทียนทอง หัวหน้าบ้านสมวัย (ชุมชนคลองเตย) มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในเด็กพื้นที่คลองเตย ว่า บ้านสมวัย มีเด็กในความดูแล 100 คน หลังจากเมื่อมีคำสั่งปิดสถานรับเลี้ยงเด็ก ตั้งแต่เดือน เม.ษ.ที่ผ่านมา ในช่วงแรกได้มีการจัดทำกับข้าวส่งในชุมชนสำหรับมื้อกลางวันของเด็กๆ ต่อมามีการระบาดหนักในพื้นที่คลองเตย การจัดหาซื้อวัตถุดิบสำหรับทำอาหารก็เป็นไปได้ยาก จึงได้ปรับเปลี่ยนเป็นการช่วยเหลือด้วยถุงยังชีพเรื่อยมา
“พ่อแม่เด็กตกงานเกือบ 100% จากรายได้ที่เคยได้ 300-400 บาทจากการขับวินมอเตอร์ไซด์ ตอนนี้ได้ไม่ถึง 200 บาท รายได้ที่เป็นเงินสด แทบจะไม่มีเลย จะอยู่ได้ด้วยการช่วยเหลือจากถุงยังชีพ ส่วนหนึ่งมาจากมูลนิธิ มาจากประธานชุมชนหาเข้ามาช่วยเหลือ พูดได้ว่าในพื้นที่คลองเตยตอนนี้ อยู่ได้ด้วยกรรมการชุมชน ภาคประชาสังคม NGOs ที่เข้ามาช่วยเหลือตอนนี้” น.ส.สุคนธ์ทิพย์ กล่าว
น.ส.สุคนธ์ทิพย์ กล่าวว่า จนกระทั่งการระบาดในระลอกเดือน มิ.ย.-ก.ค. ที่มีความรุนแรงมากขึ้น เชื้อไวรัสมีหลากหลายสายพันธุ์ด้วย มีเด็กในบ้านสมวัยติดเชื้อ 20 คน เมื่อรวมกับครอบครัว กลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ติดเชื้อรวมกว่า 60 คน ถึงแม้ว่าในชุมชนจะมีการจัดศูนย์พักคอยที่วัดสะพาน แต่ในขณะนี้แออัดด เต็มจำนวนกว่าจะวัดจะรับได้แล้ว จึงต้องมีการสั่งปิด ไม่รับคนเพิ่ม ส่งผลให้คนที่ติดเชื้อ ยังต้องอยู่ที่บ้าน แต่ด้วยสภาพแวดล้อมของบ้านที่เล็ก ไม่เหมาะสม ไม่สามารถแยก หรือกักตัวที่ไหนได้ จึงทำให้มีการแพร่กระจายเชื้อ และติดกันในครอบครัว
“เหมือนกรณี เด็กในบ้านสมวัยมี 2 ครอบครัวที่ติดเชื้อ แต่ไม่สามารถแยกกักตัวออกได้ เนื่องจากพ่อติด รอเตียงว่างของโรงพยาบาล ทำให้แม่ติดเชื้อ และเด็กก็ติดตามไปด้วย ส่วนใหญ่เด็กได้รับเชื้อมาจากคนในบ้าน สถานการณ์ตอนนี้ มีเด็กติดมากกว่าผู้ใหญ่ ด้วยแนวโน้มที่ผู้ใหญ่ได้รับวัคซีนคุ้มกันแล้ว แต่เด็กได้รับเชื้อ 100% แน่นอน” น.ส.สุคนธ์ทิพย์ กล่าว
ภาพจาก: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น
@ เด็กเป็นผู้นำเชื้อแพร่สู่ญาติโดยที่ไม่รู้ตัว
น.ส.สุคนธ์ทิพย์ กล่าวแสดงความคิดเห็นถึงการตั้งศูนย์พักคอยสำหรับเด็กว่า คิดว่าเป็นสิ่งที่อยากให้มี แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแยกเด็กออกมาจากครอบครัว จะต้องมองหลายด้าน รวมถึงด้านจิตใจของเด็กด้วย และต้องมีมาตรการรัดกุ่ม จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่าในกรณีที่พ่อและแม่ติดเชื้อ เด็กจะต้องถูกตรวจหาเชื้อก่อน ถ้าไม่ติดเชื้อ ก็มีโอกาสที่จะไปฝากที่อื่นได้ แต่ในกรณีที่พ่อและแม่ติดเชื้อ และถูกแยกออกไปรักษาแล้ว เด็กจะถูกย้ายไปอยู่กับญาติ กลับกลายเป็นว่า เด็กมีเชื้อ เป็นคนที่นำเชื้อแพร่กระจายไปสู่ญาติ เพราะฉะนั้นการมีศูนย์แยกกักตัวเด็ก นับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่จะต้องมาวางมาตราการที่รัดกุม เพื่อที่จะต้องไม่เกิดการแพร่เชื้อต่อด้วยเช่นกัน
“ที่คลองเตยไม่มีครอบครัวไหนที่พ่อแม่ติด แล้วเด็กจะไม่ติด เพียงแต่ระยะเวลาห่างกันเท่านั้นเอง สมมติว่าแม่ติดวันนี้ เด็กไปอยู่กับญาติ 7-8 วัน กลายเป็นว่าบ้านญาติก็ติดเชื้อด้วยเช่นกัน” น.ส.สุคนธ์ทิพย์ กล่าว
ส่วนเรื่องผลกระทบด้านจิตใจของเด็ก น.ส.สุคนธ์ทิพย์ กล่าวว่า การที่เด็กถูกแยกจากครอบครัว ก็เหมือนจะถูกทอดทิ้งอยู่แล้ว เด็กจะเกิดคำถามว่า แม่ทิ้งเขาไปไหน เนื่องจากระยะเวลาก็ค่อนข้างยาว ไม่ต่ำกว่าครึ่งเดือน แต่ในมุมของตนมองว่า จะเป็นเรื่องที่ดีกว่า ถ้าหากสามารถพาเด็กไปอยู่ในสถานที่รักษาได้ แต่คนที่จะเป็นคนมาดูแลเด็ก จะต้องเป็นคนที่เข้าใจเด็กจริงๆ และพร้อมที่จะรับสถานการณ์ สภาวะอารมณ์ของเด็กที่จะต้องมีการต่อต้านแน่นอน ฉะนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือ สำหรับกรณีพบการติดเชื้อทั้งครอบครัว คือการรักษาอยู่ด้วยกัน แต่ถ้าหากต้องแยกเด็ก ควรจะให้เด็กอยู่กับคนที่คุ้นเคย เช่น ญาติ หรือในชุมชน โดยทางบ้านสมวัยจะมีการติดต่อถามไถ่หากมีเด็กในความดูแล จะต้องไปอาศัยญาติ หรือถ้าอยู่ในชุมชนจะมีการจัดถุงยังชีพให้
ภาพจาก: เวชนิทัศน์ โรงพยาบาลขอนแก่น
@ สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องจิตใจของเด็ก
นางสุนี ไชยรส รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เด็กเป็นวัยที่ละเอียดอ่อน และมีความต้องการในการดูแลที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย เช่น ในกรณีเด็กอ่อน เด็กทารก ก็จะมีความต้องการเอาใจใส่ในรูปแบบของการป้อนนม การนอนหลับ เป็นต้น แต่สำหรับเด็กเล็ก โดยธรรมชาติจะติดพ่อหรือแม่ ถ้าจะต้องแยกออกไปก็เป็นบาดแผลในใจเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะต้องไปเจอกับคนแปลกหน้า และในกรณีเด็กโต ถึงแม้ว่าจะสามารถพูดคุยสื่อสารได้รู้เรื่อง ก็จำเป็นจะต้องมีทีมที่ทำงานกับเด็ก ไม่ใช่เพียงแค่ให้การรักษาร่างกายเท่านั้น แต่รวมถึงจิตใจของเด็กที่มีความละเอียดอ่อนอีกด้วย โดยหลักการจะต้องพยายามให้เด็กอยู่กับพ่อแม่ ครอบครัว อยู่ในจุดที่คุ้นเคย หรือกับชุมชนให้มากที่สุดก่อน ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหน
“กรณีคลัสเตอร์เด็กในสถานรับเลี้ยงเด็กติดเชื้อทั้งหมด ก็จะมีพี่เลี้ยง หรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปสลับกันดูแล ส่วนกรณีพ่อแม่ติดเชื้อ แต่เด็กไม่ติด ขั้นแรกสุด เด็กจะต้องถูกกักตัว เพราะฉะนั้นการกักตัว ก็ควรมีขั้นตอน เช่นให้ไปอยู่โรงพยาบาลใกล้เคียงกัน มีความเป็นไปได้ไหมไม่จับแยกเด็กให้อยู่กับพ่อแม่ หรือมีโรงพยาบาลไหนที่สามารถดูแลทั้งพ่อแม่และเด็กด้วยกันได้” นางสุนี กล่าว
นางสุนี กล่าวเน้นย้ำว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสภาพของจิตใจเด็ก เช่นกรณี เด็กตาบอดที่พ่อแม่ติดเชื้อ จึงให้เด็กอยู่ที่บ้าน และพาพ่อแม่ไปรักษา ต่อมาพบว่าเด็กติดภายหลัง ก็มีการเจรจาหารือกันอย่างหนักของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนสามารถส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเดียวกับที่พ่อแม่อยู่ได้ ไม่เช่นนั้นเด็กจะต้องไปอยู่อีกที่หนึ่ง ถือว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ถ้าไม่ตั้งเป้าหมายหรือเตรียมแผนรับมือเอาไว้ จะกลายเป็นปัญหาที่มีเงื่อนไขยิบย่อยที่จะต้องมาแก้ภายหลัง
“ตอนนี้ติดเยอะๆ ไปทุกย่อม เพราะกระบวนการแยกมันทำไม่ได้ ควรมีกลไกการคัดกรองแบบเชิงรุก แยกกักตัวแบบมีระบบกลไกรองรับ แยกอย่างที่ไม่ใช่แล้วแต่ครอบครัวตัดสินใจ หรือชุมชนช่วย เพราะบางชุมชนก็พร้อม บางชุมชนไม่พร้อม ทางจังหวัดควรมีการวางแผนว่าจะจัดการเชิงรุกอย่างไร และให้ความสำคัญแกก่กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก คนท้อง แม่ลูกอ่อนด้วยเช่นกัน” นางสุนี กล่าว
นางสุนี ไชยรส
รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
@ กทม.ตั้งศูนย์พักคอยเด็ก
เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2564 นายพงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang ระบุว่า การแพร่ระบาดที่มีการติดเชื้อกันในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น ในหลายครอบครัว เมื่อพ่อแม่ติดเชื้อแล้ว ลูกจะติดเชื้อตามไปด้วย แต่เป็นการติดเชื้อที่ไม่พร้อมกัน ทำให้ต้องแยกกันเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เช่น กรณีที่เคยมีเด็กติดเชื้อโควิด แต่พ่อแม่ไม่ติด จะต้องบอกลาพ่อแม่ไปรักษาตัวในโรงพยาบาล และกรณีพ่อแม่ที่อาการหนักต้องเข้ารักษาในห้อง ICU ทันที แต่ติดเด็กอาการไม่รุนแรง จึงต้องกักตัวรอเตียงสีเขียวอยู่ที่บ้าน โดยปัจจุบันมีเด็กป่วยโควิด ที่รอส่งต่อรักษาในโรงพยาบาที่ต้องเร่งแยกกักตัวออกจากครอบครัวและชุมชนให้เร็วที่สุด โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้จัดตั้ง 'ศูนย์พักคอยสำหรับเด็ก' ที่มีอายุตั้งแต่ 3-14 ปี ที่ศูนย์สร้างสุขทุกวันเกียกกาย เขตดุสิต จะใช้เป็นสถานที่ดูแลเด็ก เพื่อช่วยลดความเครียดของผู้ปกครองที่กังวลว่าจะไม่มีคนดูแลลูก ขณะเดียวกันก็เป็นการลดความกดดันของเด็กที่ต้องแยกกักตัวจากพ่อแม่
'ศูนย์พักคอยเด็ก' จะมีกิจกรรมและของเล่นตามช่วงวัย ให้เด็กๆ ได้มีกิจกรรมผ่อนคลายความวิตกกังวลที่ต้องอยู่ห่างจากพ่อแม่ รวมถึงจะมีทีมแพทย์ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครพี่เลี้ยงเด็ก ครูอาสาคอยดูแลอย่างใกล้ชิด 24 ชั่วโมง และหากมีอาการที่จะต้องเข้ารักษาพยาบาล ก็สามารถส่งเข้าโรงพยาบาลได้ทันที สามารถรองรับผู้ป่วยเด็กได้ 52 เตียง แบ่งเป็นชาย 26 เตียง และหญิง 26 เตียง โดยปัจจุบัน ข้อมูล ณ วันที่ 16 ก.ค. 2564 มีผู้ป่วยเด็กเข้าพักที่ศูนย์ฯ แล้ว 3 ราย เป็นชาย 1 ราย และหญิง 2 ราย
@ พม.มีสถานสงเคราะห์แต่ไม่สามารถรับได้ทันที
ด้าน น.ส.อุไร เล็กน้อย รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า พม.ได้รับการส่งต่อสำหรับกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือภายในปีนี้ รวมกว่า 10 เคส สำหรับกรณีที่น่าเป็นห่วง คือ พ่อแม่ติดเชื้อ ส่วนเด็กอยู่ในระหว่างรอผล จะต้องพิจารณาก่อนว่าเด็กมีญาติที่พร้อมจะดูแลหรือไม่ ถ้าไม่มี ทางชุมชนพร้อมที่จะดูแลได้หรือไม่ ถ้าหากมีญาติหรือชุมชนพร้อมดูแลระหว่างรอผล ทาง พม.ก็จะทำหน้าที่ดูแลเครื่องอุปโภค บริโภคให้เด็ก รวมถึงประสานหน่วยงานในพื้นที่ดูแล ในกรณีที่เด็กจะอยู่บ้านเด็กเอง
น.ส.อุไร อธิบายเพิ่มเติมว่า พม.มีสถานสงเคราะห์เด็กก็จริง แต่ไม่สามารถรับเด็กที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเข้าพักได้ เนื่องจากในสถานสงเคราะห์เองก็มีเด็กที่พักอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ถ้าพาเด็กกลุ่มเสี่ยงเข้าพักในทันที อาจจะเป็นการแพร่กระจายเชื้อในวงกว้างมากขึ้น สำหรับเด็กที่ติดเชื้อ หรือต้องแยกกักตัวกับพ่อแม่ ทาง พม.ได้มีการทำงานประสานร่วมกับ กทม.และในส่วนท้องถิ่นแต่ละจังหวัด
ในพื้นที่ กทม.มีฮอสพิเทล 4 แห่งที่รองรับ รวมถึงมีศูนย์พักคอยสำหรับเด็ก 14 วัน โดย พม.จะช่วยเหลือในการหาอาสาสมัครสำหรับการเข้าไปดูแลเด็กสำหรับเด็กเล็กที่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด รวมถึงนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา และเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาสำหรับครอบครัวและเด็กด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้หากครบกำหนด 14 วันแล้ว พ่อแม่ยังไม่หายป่วย พม.จะมารับเด็กไปดูแลที่สถานสงเคราะห์จนกว่าพ่อแม่จะหาย และพาส่งกลับครอบครัว
ในพื้นที่ต่างจังหวัด พม.มีบ้านพักเด็กและครอบครัวทั่วประเทศที่คอยดูแลช่วยเหลือต่างๆ ที่ผ่านมาไม่ค่อยพบปัญหาในต่างจังหวัด อาจจะเพราะที่พักคอยที่มีมากกว่า กทม. แต่สำหรับในกรณีต่างจังหวัดที่เด็กไม่มีคนดูแล ทางบ้านพักเด็กและครอบครัวจะรับเข้ามาดูแล โดยมีการจัดเตรียมที่พักแยกให้
“กรณีเด็กต้องแยกจากพ่อแม่ อยากให้เด็กอยู่กับครอบครัว ญาติ พี่น้อง เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาอันดับสอง คือ ชุมชน เพราะการที่เด็กอยู่กับคนรู้จักก็ดีกว่าที่จะแยกเด็กไป” น.ส.อุไร กล่าวว่า
ทั้งหมดนี้ คือ สถานการณ์ผลกระทบของเด็กๆ จากสถานการณ์โควิด ร่วมถึงมุมมองของผู้ที่ทำงาน และมีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กๆ ต่อการแยกเด็กจากครอบครัวในกรณีพบการติดเชื้อ ทั้งนี้ สิ่งที่ควรให้ความสำคัญที่สุดคือ จิตใจและสุขภาพของเด็กๆ และจะต้องติดตามกันต่อไปว่าเมื่อไหร่เด็กๆ จะได้รับวัคซีน ถึงแม้จะเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อแล้วอาการไม่รุนแรงก็ตาม
น.ส.อุไร เล็กน้อย
รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage