"...ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนั้นถือว่ามีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำกว่าประเทศอินโดนีเซีย ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ ประเด็นปัญหาเรื่องการผลิตวัคซีนและการแจกจ่าย รวมไปถึงปัญหาเรื่องทัศนคติเรื่องการรับมือกับโรคระบาดในตอนแรก ที่ประเทศเหล่านี้ยังไม่เห็นความจำเป็นในการฉีดวัคซีนมากนัก เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อในประเทศเหล่านี้เป็นจำนวนที่น้อยมากในช่วงต้นของการระบาด ก็เลยทำให้ประเทศเหล่านี้เกิดความชะล่าใจในการฉีดวัคซีนแบบเร่งด่วน และยังมีรายงานด้วยว่า บางประเทศในภูมิภาคนั้นถึงกับอยู่ในภาวะที่ตกตะลึง ทำอะไรไม่ถูก เมื่อได้เห็นข่าวการแพร่ระบาดอันเลวร้ายในอินเดียช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุทำให้ระบบสาธารณสุขต้องล่มสลายเนื่องจากจำนวนผู้ป่วยอันมีอาการรุนแรงที่พุ่งสูงขึ้น ในขณะที่รัฐบาลนั้นไม่ได้เตรียมกันสำหรับสถานการณ์การระบาดมาก่อน จนเป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากมาย..."
..............
จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่ ณ เวลานี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ จำนวนหลักหมื่นรายต่อวัน อันมีสาเหตุมาจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า
ล่าสุด สำนักข่าวออนไลน์ Independent ของอังกฤษ ได้สรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในภูมิภาคเอเชียรวมถึงประเทศไทยว่า อาจจะกลายเป็นภูมิภาคที่มีสถานการณ์การระบาดรุนแรงและยืดเยื้อจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ถ้าหากยังไม่มีความช่วยเหลือจากภายนอกออกมาในทิศทางที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้
มีรายละเอียดดังนี้
ในช่วงที่หลายประเทศในเอเชียกำลังรับมือกับการระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโควิด-19 หนึ่งในอุปสรรคที่เลวร้ายที่สุดคงหนีไม่พ้นปัญหาการจัดสรรวัคซีนที่ล่าช้า ขณะที่ทั่วโลกเริ่มหันมาให้ความสนใจช่วยเหลือด้านวัคซีนกับประเทศในภูมิภาคเอเชียมากขึ้นแล้ว ทำให้เริ่มมีความหวังขึ้นมาบ้างว่า อัตราการฉีดวัคซีนที่ยังต่ำอยู่ของหลายประเทศจะกระเตื้องขึ้นมาบ้าง และน่าจะช่วยชะลอการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า อย่างรวดเร็ว ณ เวลานี้
ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศอินโดนีเซีย (อ้างอิงวิดีโอจาก Channel 4 News)
สำหรับความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียนั้น ต้องยอมรับว่ายังคงห่างไกลมากจากคำมั่นสัญญาว่าจะฉีดวัคซีนให้กับประชากรของตัวเอง
โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ให้ความเห็นตรงกันว่าควรจะต้องมีความช่วยเหลือหลั่งไหลมามากกว่านี้ ในการจะช่วยให้หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียสามารถรับมือกับภาวะคนไข้ที่ล้นมือ และการขาดแคลนปัจจัยสำคัญอย่างออกซิเจนและสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ได้
อาทิ ประเทศอินโดนีเซีย มีการกำหนดวันที่จะได้รับวัคซีนโควิดยี่ห้อโมเดอร์นาจำนวนกว่า 1.5 ล้านโดสแล้ว ในขณะที่ทั้งประเทศกลายเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดหนักและเสียชีวิตสูงที่สุดในภูมิภาคนี้
ขณะที่สหรัฐอเมริกา มีกำหนดการว่าจะจัดส่งวัคซีนจำนวนกว่า 3 ล้านโดสให้กับอินโดนีเซีย โดยคาดว่าวัคซีนดังกล่าวนั้นจะมาถึงในวันที่ 18 ก.ค. นี้ ส่วนทางโคแวกซ์ซึ่งเป็นโครงการแจกจ่ายวัคซีนขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO นั้น ก็ได้มีการส่งวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าแล้วเป็นจำนวนรวมกว่า 11.7 ล้านโดส ซึ่งจำนวนวัคซีนดังกล่าวเป็นจำนวนที่ทางโคแวกซ์ระบุว่าจะมีการจัดส่งมาตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
พญ.โซวมยา คาดันเดล หัวหน้างานด้านสาธารณสุของค์การยูนิเซฟประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งดูแลภารกิจการแจกจ่ายวัคซีนในโครงการโคแวกซ์ ระบุว่า นี่เป็นข่าวที่สร้างความหวังเป็นอย่างยิ่ง และหวังว่าการแจกวัคซีนดังกล่าวจะสามารถนำไปสู่ชัยชนะของการแข่งขันระหว่างวัคซีนและโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้
ณ เวลานี้มีหลายหน่วยงานทั่วโลก รวมไปถึงทาง WHO ได้วิจารณ์ว่าการที่ประเทศร่ำรวยหลาย ๆ ประเทศได้มีการกักตุนวัคซีนไว้เป็นจำนวนมากจนสามารถฉีดวัคซีนได้เป็นจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรของตัวเอง
ในขณะที่ประชากรส่วนมากในประเทศที่มีรายได้ต่ำยังคงไม่ได้รับวัคซีนนั้น ถือเป็นประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของวัคซีนเป็นอย่างยิ่ง
ขณะที่สภากาชาดสากลได้ออกมาเตือนว่า ประเด็นเรื่องความแตกต่างด้านการฉีดวัคซีนนั้นกำลังถูกขยายเพิ่มมากขึ้นและประเทศที่ร่ำรวยควรจะเพิ่มการช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ ตามคำมั่นสัญญาของตัวเองให้มากกว่านี้
“มันเป็นเรื่องน่าอัปยศที่เรื่องเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และไม่สามารถจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเร็วกว่านี้ มันไม่เคยมีคำว่าสายเกินไป เพราะยิ่งวัคซีนมาช้าเท่าไร ก็จะมีผู้คนตายมากขึ้นเท่านั้น” นพ.อเล็กซานเดอร์ มาติอู ผู้อำนวยการสภากาชาดสากลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกล่าว
ส่วนประเทศเวียดนาม ไทย และเกาหลีใต้ ต่างล้วนต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่ประเทศเหล่านี้ต้องดิ้นรนทุกทางเพื่อที่จะควบคุมการระเบิดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเผชิญหน้ากับโครงการฉีดวัคซีนที่มีความซบเซา
ในประเทศเกาหลีใต้นั้นมีรายงานว่าแม้จะมีเสียงชื่นชมจากกรณีการตอบสนองต่อการระบาดครั้งแรกด้วยการใช้มาตรการการตรวจหาและติดตามผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว แต่ ณ เวลานี้ประเทศเกาหลีใต้ก็กำลังเผชิญกับปัญหาความขาดแคลนวัคซีน โดยมีรายงานว่ามีประชากรจำนวนกว่าร้อยละ 70 ที่ยังรอการฉีดวัคซีนโดสแรก
ขณะที่ประเทศไทยซึ่งเพิ่งจะเริ่มการฉีดวัคซีนทั่วประเทศอย่างจริงจังเมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็มีรายงานว่ามีประชากรจำนวนแค่ร้อยละ 15 เท่านั้นที่ได้วัคซีนโดสแรกไปแล้ว และประเทศเวียดนามเองก็สามารถฉีดวัคซีนโดสแรกไปได้แค่ประมาณร้อยละ 4 ของประชากรเท่านั้น
“มีหลายพื้นที่ในโลก กำลังพูดถึงการทวงคืนสิทธิและเสรีภาพที่สูญเสียไปจากโรคระบาด อาทิ การกลับไปทำงาน การเปิดโรงภาพยนตร์และร้านอาหาร แต่ว่าพื้นที่ส่วนนี้ของโลกนั้นยังคงห่างไกลจากเรื่องเหล่านี้” นพ.มาติอูให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพี
ซึ่ง ณ เวลานี้ประเทศอันดับ 4 ของโลกอย่างอินโดนีเซียที่ถือว่าเป็นประเทศแรก ๆ ที่เริ่มโครงการฉีดวัคซีนในภูมิภาค ก็กำลังมีการเจรจาในรูปแบบทวิภาคีกับประเทศจีนเพื่อจะขอวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติม โดยประเทศอินโดนีเซียนั้นสามารถฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มประชากรไปได้ประมาณร้อยละ 14 เท่านั้น และวัคซีนที่ฉีดส่วนมากก็เป็นวัคซีนซิโนแวค
ขณะที่อีกหลายประเทศซึ่งแม้ว่าจะมีขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนของตัวเอง อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไทย ต่างก็ต้องการวัคซีนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อที่จะนำมาใช้อุดช่องว่างความต้องการวัคซีนที่เกิดขึ้นมากในหมู่ประชากรเพราะการระบาดที่เกิดขึ้น
เกาหลีใต้ประกาศใช้มาตรการควบคุมโรคสูงสุดในพื้นที่กรุงโซล (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวอารีรัง)
มีการยืนยันจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่า ความต้องการในวัคซีนโมเดอร์นา และแอสตร้าเซนเนก้า มีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งที่จะต้องสร้างความมั่นใจว่าทรัพยากรเหล่านี้จะยังคงมีพร้อมอยู่ ซึ่ง ณ เวลานี้ ประเทศอินโดนีเซีย ได้มีการวางแผนฉีดวัคซีนให้ได้จำนวนถึง 208.2 ล้านคน ภายในก่อนสิ้นปี 2564 โดยตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ประมาณ 1 ล้านคนต่อวัน หรือหมายความว่าวัคซีนทุกโดสนั้นจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
ส่วนประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนั้นถือว่ามีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำกว่าประเทศอินโดนีเซีย ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ ประเด็นปัญหาเรื่องการผลิตวัคซีนและการแจกจ่าย รวมไปถึงปัญหาเรื่องทัศนคติเรื่องการรับมือกับโรคระบาดในตอนแรก ที่ประเทศเหล่านี้ยังไม่เห็นความจำเป็นในการฉีดวัคซีนมากนัก เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อในประเทศเหล่านี้เป็นจำนวนที่น้อยมากในช่วงต้นของการระบาด ก็เลยทำให้ประเทศเหล่านี้เกิดความชะล่าใจในการฉีดวัคซีนแบบเร่งด่วน
และยังมีรายงานด้วยว่า บางประเทศในภูมิภาคนั้นถึงกับอยู่ในภาวะที่ตกตะลึง ทำอะไรไม่ถูก เมื่อได้เห็นข่าวการแพร่ระบาดอันเลวร้ายในอินเดียช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุทำให้ระบบสาธารณสุขต้องล่มสลายเนื่องจากจำนวนผู้ป่วยอันมีอาการรุนแรงที่พุ่งสูงขึ้น ในขณะที่รัฐบาลนั้นไม่ได้เตรียมกันสำหรับสถานการณ์การระบาดมาก่อน จนเป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากมาย
ซึ่งการระบาดดังกล่าวก็ทำให้อินเดียที่เป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ในภูมิภาคต้องหยุดการส่งออกวัคซีนเพื่อนำวัคซีนดังกล่าวมาใช้กับประชากรของตัวเองก่อน
ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็ได้มีการส่งวัคซีนจำนวนหลายสิบล้านโดสไปยังหลายประเทศในเอเชียเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งตามคำมั่นสัญญาของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ต้องการจะส่งวัคซีนจำนวนกว่า 80 ล้านโดสไปยังประเทศต่าง ๆ อาทิ เวียดนาม,ลาว,เกาหลีใต้และบังกลาเทศ โดยสหรัฐอเมริกานั้นมีความตั้งใจที่จะส่งวัคซีนจำนวนกว่า 500 ล้านโดส แจกจ่ายไปยังทั่วโลกในช่วงปี 2565 และต้องการที่จะแจกวัคซีนจำนวนกว่า 200 ล้านโดสไปทั่วโลกก่อนช่วงสิ้นปี 2564
“อินโดนีเซีย ถือเป็นพันธมิตรที่สำคัญสำหรับกิจการของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และวัคซีนที่ได้มีการส่งมอบให้มานั้น ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ให้เปล่า ไม่มีการผูกมัดใดๆทั้งสิ้น เราทำเรื่องนี้ด้วยจุดประสงค์ที่จะช่วยชีวิตผู้คน ยุติโรคระบาดนี้ และต้องการที่จะทำให้ทั่วโลกนั้นสามารถเข้าถึงวัคซีนที่ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน”นายสก็อต ฮาร์ทแมน โฆษกสถานทูตสหรัฐฯประจำกรุงจาการ์ตากล่าว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี ซึ่งถือว่าเป็นประเทศผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ของเยอรมนีก็ได้ออกมากล่าวหาประเทศรัสเซียและประเทศจีนว่า ใช้ประเด็นเรื่องการจัดส่งวัคซีนเป็นข้อต่อรองทางด้านนโยบายของตัวเอง
“เรารับทราบดีว่าประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะจีนนั้นได้ใช้ประเด็นเรื่องการจัดส่งวัคซีนมาเพื่อจะส่งสารเรียกร้องทางการเมืองไปยังหลายประเทศด้วยกัน” นายมาสกล่าว
นอกจากนี้ยังมีคำถามเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคที่มีต่อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าว่าแท้จริงแล้วเป็นอย่างไรกันแน่
ส่วนที่ประเทศไทย หน่วยงานด้านสุขภาพของไทย ได้มีการออกมายืนยันว่าจะมีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้กับบุคลากรทางการแพทย์เป็นโดสที่ 3 หลังจากที่บุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้ได้รับวัคซีนซิโนแวคไปแล้วจำนวน 2 โดส
โดยการตัดสินใจดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นหลังจากมีรายงานว่า มีแพทย์พยาบาลที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้วจำนวน 2 โดส เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ วัคซีนซิโนแวคนั้นได้รับการอนุมัติจาก WHO เพื่อที่จะใช้ในกรณีฉุกเฉิน แต่ว่าในประเทศอินโดนีเซียนั้นได้มีการวางแผนว่าจะฉีดวัคซีนซึ่งคาดว่าจะเป็นวัคซีนโมเดอร์นาที่เพิ่งได้รับมาให้กับบุคลากรทางการแพทย์เช่นกัน หลังจากมีรายงานว่ามีบุคลากรทางการแพทย์บางรายเสียชีวิตแม้ว่าจะฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้วเป็นจำนวน 2 โดส
“เรายังพบว่ามีบางคนที่มีอาการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต แม้ว่าพวกเขาจะฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องที่พิสูจน์แล้วชัดเจนว่ามีแค่วัคซีนบางประเภทเท่านั้นที่มีศักยภาพสามารถรับมือกับไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้ ซึ่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนกา วัคซีนโมเดอร์นา และวัคซีนไฟเซอร์ก็ถือว่าเป็นวัคซีนเหล่านั้น” นพ.แพนดู ริโอโน นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซียระบุ
ในขณะที่ความคืบหน้าด้านการส่งมอบวัคซีนล่าสุดนั้น พบว่า สหรัฐฯ และ ญี่ปุ่นได้มีการส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้กับประเทศอินโดนีเซีย,ประเทศไต้หวันและประเทศเวียดนาม เพื่อให้ประเทศเหล่านี้นั้นได้รับวัคซีนประเทศละ 1 ล้านโดสผ่านกระบวนการเจรจาทางทวิภาคี และประเทศเวียดนามเองก็ออกมาให้ข้อมูลว่าจะได้รับวัคซีนจากออสเตรเลียอีกเป็นจำนวนอย่างน้อย 1.5 ล้านโดสเช่นกัน
ส่วนประเทศฟิลิปปินส์เองก็มีการคาดการณ์ว่าจะมีวัคซีนจำนวนอย่างน้อย 16 ล้านโดสส่งมาถึงในช่วงเดือน ก.ค. ซึ่งจำนวน 16 ล้านโดสดังกล่าวนั้นก็รวมไปถึงวัคซีนจำนวน 3.2 ล้านโดส วัคซีนจากประเทศญี่ปุ่นจำนวนกว่า 1.1 ล้านโดส วัคซีนสปุตนิกวีจากรัสเซียอีกจำนวน 132,000 โดส และวัคซีนอื่น ๆ จากโครงการโคแวกซ์เข้ามาสมทบอีก
นอกจากนี้ประเทศญี่ปุ่นยังได้มีการส่งวัคซีนจำนวนกว่า 11 ล้านโดสผ่านโครงการโคแวกซ์เพื่อจะส่งวัคซีนเหล่านี้ไปให้กับประเทศบังกลาเทศ,ประเทศกัมพูชา,ประเทศอิหร่าน,ประเทศลาว,ประเทศศรีลังกาและประเทศอื่นๆ
ขณะที่ประเทศแคนาดาในสัปดาห์นี้เองก็ได้ยืนยันว่าจะส่งวัคซีนส่วนเกินจำนวนกว่า 17.7 ล้านโดสถึง 100 ล้านโดสมาให้กับโครงการโคแวกซ์เช่นกัน
ประเทศแคนาดาประกาศบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนกา 17.7 ล้านโดสให้โครงการโคแวกซ์ (อ้างอิงวิดีโอจาก CityNews)
นอกจากการแจกจ่ายวัคซีนแล้ว มีรายงานว่ามีการสนับสนุนทางการเงินให้กับโครงการโคแวกซ์เพิ่มเติมเพื่อที่จะให้นำเอาเงินที่ว่ามานั้นไปช่วยเหลือในการจัดซื้อวัคซีนให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางอีกจำนวนกว่า 92 ประเทศ
ซึ่งความช่วยเหลือดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นมาหลังจากที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาจากสหภาพแอฟริกาว่านานเท่าไรกว่าที่วัคซีนนั้นจะไปถึงทวีปแอฟริกา ที่ ณ เวลานี้มีประชากรแค่ร้อยละ 1 เท่านั้นที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว
ขณะที่กลุ่มพันธมิตรวัคซีนกาวีซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโครงการโคแวกซ์ คาดว่าจำนวนวัคซีนในปีนี้นั้นน่าจะต่ำกว่าเป้าไปมาก เพราะว่าผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ให้กับโครงการซึ่งก็คือสถาบันเซรุ่มจากประเทศอินเดียนั้นจำเป็นต้องโยกทรัพยากรไปใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ในประเทศอินเดียก่อน
ล่าสุดทางกาวี ได้มีการออกมารายงานตัวเลขการคาดการณ์ใหม่ โดยยืนยันว่าโครงการโคแวกซ์นั้นยังอยู่ในหนทางไปสู่เป้าหมายการแจกจ่ายวัคซีนให้ได้ 1.5 พันล้านโดสในช่วงก่อนสิ้นปี 2564 หรือคิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 23 ของประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง และยืนยันว่าในช่วงก่อนสิ้นปี 2565 จะมีวัคซีนเป็นจำนวนมากกว่า 5 พันล้านโดส
“มันเป็นเรื่องที่ดีกว่ามาก ถ้าหากจะมุ่งเน้นไปที่การแจกวัคซีนให้กับประชากรทั้งโลก ดีกว่าที่จะมากักตุนวัคซีนไว้กันตัวเองเป็นจำนวนมาก การแชร์วัคซีนกันทำให้ทุกคนมีความปลอดภัยมากกว่า” นพ.มาติอูกล่าวทิ้งท้าย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/