"...เนื่องจากช่วงเวลาเคอร์ฟิวที่ล่นเวลาจากการประกาศครั้งก่อนจากเดิมที่กำหนดเวลาไว้ 4 ทุ่ม เป็น 2 ทุ่ม ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่เร็วมาก คนไร้บ้านบางคนต้องอาศัยรถเมล์ในการเดินทางไปทำงาน เก็บของเก่าต่างๆ ก็ต้องรีบไป และรีบกลับ เพราะเกรงว่าอาจจะโดนจับได้ ส่วนอีกข้อกังวลของคนไร้บ้าน คือ เรื่องอาหาร ทำให้ผู้คนใจบุญ หรือผู้บริจาคต่างๆ มีความกังวลใจในการแจกอาหาร ทำให้คนไร้บ้านได้รับอาหารน้อยลงเช่นกัน..."
-----------------------------------
จากสถานการณ์โควิดที่มีความรุนแรงขึ้น อีกทั้งการพบเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ๆ ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) จึงออกประกาศปรับระดับโซนสีตามสถานการณ์ของจังหวัด และยกระดับมาตรการควบคุมโควิดให้เข้มข้นมาขึ้น โดยหนึ่งใน 12 มาตรการที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คือ ให้ประชาชนในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ได้แก่ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ห้ามออกจากเคหสถาน ในระหว่างเวลา 21.00 -04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน นับแต่วันที่ข้อกาหนดฉบับนี้บังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.นี้เป็นต้นไป
หมายความว่า ทุกคนต้องอยู่ใน 'บ้าน' หรือที่พักอาศัยในช่วงเวลาเคอร์ฟิว แต่ในกรณีของ 'คนไร้บ้าน' หรือคนเร่ร่อน บุคคลที่อาศัยพักพิงอยู่ในพื้นที่สาธารณะ สำหรับการหลับนอน เป็นบ้านของพวกเขา เช่น ป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟ สนามกีฬา ทางเท้า หรือตามซอก ซอย ตรอก เป็นต้น จะทำอย่างไรในช่วงเวลาดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ติดต่อสอบถามถึงสถานการณ์ของ 'คนไร้บ้าน' ในช่วงการประกาศเคอร์ฟิวของรัฐบาล จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมถึงภาคประชาสังคมที่ทำงานให้ความช่วยเหลือ พบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
นางอัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เปิดเผยว่า หลังจากภาครัฐประกาศเคอร์ฟิว คนไร้บ้าน หรือบุคคลที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่สาธารณะเอง ก็ค่อนข้างหวาดกลัว อีกทั้งยังคนบางกลุ่มทำการปล่อยข่าวต่างๆ นาๆ ยิ่งสร้างความหวาดกลัวและความกังวลให้กับพี่น้องคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
นางอัจฉรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในมุมของผู้ที่ทำงานในด้านนี้ ส่วนตัวคิดว่า ในสถานการณ์ของภาครัฐในขณะนี้ ยังไม่มีความพร้อมที่จะจับใครเข้าสถานสงเคราะห์ หรือเข้าสถานีตำรวจแน่ๆ เพราะยังไม่มีสถานที่รองรับ
"ตอนนี้รัฐไม่พร้อมที่จะจับใครเข้าสถานสงเคราะห์ เอาแค่ศูนย์พักคอย สำหรับคนรอเตียง กทม.ยังจัดสรรไม่ได้เลย เขาคงไม่หาภาระเพิ่ม นอกจากมีประเด็นที่จะเป็นต้องมากวาด แต่ในมุมคนทำงานเชื่อว่ายังไม่ทำอะไรตอนนี้" นางอัจฉรา กล่าว
เมื่อสอบถามว่า มีคนไร้บ้านเปลี่ยนใจ หรือให้ความสนใจจะเข้าที่พักของรัฐบ้างหรือไม่ นางอัจฉรา กล่าวว่า ในขณะนี้บ้านพักของรัฐก็ยังไม่พร้อมจะเปิดให้บริการ เพราะในช่วงโควิด มีความจำเป็นจะต้องตรวจคัดกรองก่อน อีกทั้งสถานของรัฐเอง ก็มีผู้ที่เข้าพักอาศัยข้างในอยู่ก่อนหน้าแล้ว ถ้ารับคนใหม่เข้าไป ก็ไม่ต่างกับการกักตัว 14 วัน และก็ไม่สามารถรับรองว่าจะไม่มีการติดเชื้อเกิดขึ้น หรือจะการติดเชื้อ ฉะนั้น ทางป้องกันที่ดีที่สุดของรัฐในขณะนี้ คือการยังไม่รับคนใหม่เข้าไปเพิ่ม
@ ตรึงอยู่ในพื้นที่ ทางเลือกที่ดีที่สุด
สำหรับแนวทางการแก้ไขสถานการณ์ในช่วงเคอร์ฟิวนี้ นางอัจฉรา กล่าวว่า การขอความร่วมมือ ตรึงให้พี่น้องคนไร้บ้านอยู่ในพื้นที่เดิมที่อาศัยอยู่เป็นทางที่ดีที่สุด ดีกว่าการปล่อยข่าวว่าจะมีการจับกุม เนื่องจากสุดท้ายแล้ว คนไร้บ้านนั้น ไม่มีที่อยู่ อีกทั้งในปัจจุบันมีคนประสบปัญหา กลายเป็นคนไร้บ้านมากขึ้น และมีการแพร่ระบาดหลายสายพันธุ์อีก โอกาสที่จะติดเชื้อสู่กันนั้นง่านขึ้นกว่าการระบาดในระลองแรก
"ถ้าในสายตาของคนทำงานคิดว่า การตรึงพวกเขาอยู่ในพื้นที่เดิมเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด และถ้ารัฐสามารถระดมในการตรวจเชิงรุก ระดมฉีดวัคซีนให้พวกเขาในช่วงเวลาที่เขายังอยู่ในพื้นที่เดิมได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องดีมาก เพราะจะได้ครอบคลุมและป้องกันได้อย่างทั่วถึง" นางอัจฉรา กล่าวว่า
@ แนะจัดรถโมบายล์กระจายฉีดวัคซีน
นางอัจฉรา เปิดเผยว่า สถานการณ์วัคซีนสำหรับคนไร้บ้าน ในขณะนี้มีการกระจายโควตาจากที่ต่างๆ มีการทยอยฉีดได้บ้าง ในบางกลุ่ม แต่ก็มีประเด็นคำถามคือ การเชื่อมโยงของข้อมูลมีการเชื่อมโยงหากันหรือไม่ เพราะว่ามีวัคซีนจากทางภาครัฐ และวัคซีนจากทางจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เลยเป็นข้อสงสัยว่าข้อมูลต่างๆ มีการเชื่อมโยงถึงกันมากน้อยแค่ไหน
"ถ้ายึดที่ ID Card คนที่มีบัตรประชาชน ส่วนใหญ่ได้รับ ได้รับแน่ๆ แต่ยังไม่ทั่วถึง อาจจะ 20% ของในพื้นที่ ที่พอได้พาไปฉีดบ้าง ทางมูลนิธิฯ ก็ได้พาไปฉีดประมาณ 10-20 คน"
นางอัจฉรา กล่าวถึงแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการจัดสรรวัคซีนให้คนไร้บ้านว่า หวังว่าในทางที่ดีที่สุดในขณะนี้ กทม.มีการจัดสรรรถโมบายล์เคลื่อนที่ สำหรับการฉีดวัคซีนให้คนในที่สาธารณะ โดยไม่ต้องไปกระจุกรวมตัวกันในที่เดียว เนื่องจากการขนย้ายพาคนเร่ร่อนไปฉีดวัคซีนในที่ที่รัฐจัดสรรไว้เป็นเรื่องที่ยากลำบาก เพราะว่าเป็นการขนย้ายคนจำนวนมากในภาวะโรคระบาด อีกทั้งเมื่อต้องไปรวมกันในที่เดียว ยิ่งแออัด และมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อมากขึ้น
@ เพิ่มความช่วยเหลือ แต่ยังไม่ทั่วถึง
สำหรับมาตรการเยียวยาต่างๆ นางอัจฉรา กล่าวว่า ที่ผ่านมาในการระบาดโควิดระลอกที่ 2 ถ้ายึดตามบัตรประชาชน ทาง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ลงมาช่วยเหลือ ช่วยลงทะเบียนให้รับสิทธิ์การเยียวยาโครงการต่างๆ เช่น เราชนะ แต่ก็ไม่ทั่วถึงครอบคลุมทุกคน อีกทั้งในภาวะตอนนี้ มีคนตกงานมากขึ้น จากเดิมมูลนิธิฯ ได้ให้ความช่วยเหลือแจกอาหาร ถุงยังชีพต่างๆ จากเดิมประมาณ 300 คน ได้เพิ่มขึ้นเป็น 500 คน
"การเยียวยาการช่วยเหลือต่างๆ ก็ไม่ต่างกับคนทั่วไปในสังคมที่ไม่ได้เข้าถึงอย่างเต็มที่ และพวกเขาเหล่านี้ ก็ยังไม่ได้รับการดูแล บางคนบัตรหาย บางคนไม่มีบัตร ก็ยังเป็นปัญหาเชิงซ้อนอยู่" นางอัจฉรา กล่าว
นางอัจฉรา กล่าวอีกว่า การเรียกร้องการเยียวยาหรือความช่วยเหลือ เรียกร้องได้ในบางกรณี เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา พม.ได้ลงมาตรวจคัดกรองเชิงรุกให้กับคนไร้บ้าน แต่ก็ตรวจได้ไม่เยอะ เนื่องจากมีข้อจำกัด เช่น อุปกรณ์ชุดตรวจ ต่างๆ รวมแล้วตรวจได้ประมาณร้อยกว่าคน
สำหรับคนไร้บ้านที่เข้ารับการตรวจ บางรายมีความกลัวและกังวล ไม่มั่นใจว่า ถ้าตรวจแล้วจะเป็นอย่างไรต่อ กลัวที่จะถูกจับเข้าสถานสงเคราะห์ หรือเขาจะไปอยู่ไหน เนื่องจากไม่มีความมั่นใจในรัฐ รวมถึงไม่มีความมั่นคงในชีวิตไม่มี คนจะเข้าสู่ระบบของรัฐ ก็ยังลังเลและกลัวอยู่
@ ปัญหาของรัฐ คือ การสื่อสารไม่ชัดเจน
นางอัจฉรา กล่าวว่า การสื่อสารของรัฐที่ไม่ชัดเจน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลา แค่คนทั่วไปก็ยังงง และสร้างความสับสนในข้อมูล และสำหรับคนไร้บ้านเร่รอน เขาจึงค่อนข้างที่จะวิตกกังวลและหวาดกลัว เพราะเขาถูกกระทำจากรัฐมาก่อนในอดีต อีกทั้งการเข้าถึงต่างๆ มีเงื่อนไข ในกรณีช่วงเคอร์ฟิวนี้ องค์กรผู้ปฏิบัติงาน อย่างเช่น มูลนิธิก็จะต้องขอเอกสารอนุญาตในการทำงาน ซึ่งสร้างความยากการทำงานมากขึ้นด้วยซ้ำ ถ้าหากไม่มีหนังสือ แต่หน่วยงานไม่ได้สื่อสารเชื่อมโยงกัน มีผู้ใหญ่อนุมัติให้สามารถทำปฏิบัติงานได้ แต่ฝ่ายหน้างาน ผู้ปฏิบัติไม่รู้ว่า มีหน่วยงานไหนบ้างที่ได้รับอนุญาต ถือว่าเป็นข้อพกพร่องทางการสื่อสารของรัฐอย่างมาก
@ เคอร์ฟิว ทำได้แค่หลบตามซอก-ซอย
เมื่อสอบถามถึงความกังวลของคนไร้บ้านในช่วงสถาการณ์การประกาศเคอร์ฟิว น.ส.กรรณิการ์ ปู่จินะ เครือข่ายกลุ่มคนไร้บ้าน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เปิดเผยว่า คนไร้บ้านส่วนใหญ่ ไม่ได้กลัวเคอร์ฟิว เพราะรู้ช่องทางและวิถีการหลบเลี่ยงเข้าตามตรอก ซอก ซอยต่างๆ แต่สิ่งที่พี่น้องคนไร้บ้านกังวลและมีการเข้ามาสอบถาม คือ การตรวจคัดกรอง อยากตรวจซ้ำอีก เพราะไม่แน่ใจว่าตนเองจะติดเชื้อหรือไม่ โดยเบื้องต้น ก็ได้มีการแจกชุดอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ล้างมือ รวมถึงมีการให้ความรู้ อาทิเช่น อย่ากินน้ำขวดเดียวกัน เวลานอนให้รักษาระยะห่าง แต่ทั้งนี้ยังไม่มีคนไร้บ้าน มาแสดงความจำนงค์อยากเข้าพักในสถานของรัฐเลย
"ช่วงเคอร์ฟิว ก็ไม่อยากให้ไปไหน แต่ทีนี้ เนื่องจากพี่น้องคนไร้บ้าน เขาไม่มีบ้าน ทำได้ก็เพียงหลบจากตรงนี้ เข้าไปสู่ในซอย หลืบ ซอก ถ้าไม่มีเคอร์ฟิว พี่น้องไปไหนได้หมด นั่งรถเมล์จากหัวลำโพงมารังสิต ถ้ามีเชื้อในตัว พอเจอกันตั้งกลุ่มใหม่ ก็จะแพร่กระจายเชื้อ มีความเสี่ยง" น.ส.กรรณิการ์ กล่าว
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวแสดงความเป็นห่วงกับคนไร้บ้าน ว่า เป็นห่วงเรื่องโควิด เพราะคนไร้บ้านไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อกันทุกคน แต่ทั้งนี้อยากให้มีการจัดตรวจคัดกรองเชิงรุกให้ทั่วถึงสำหรับทุกคน เพราะถ้าเกิดการติดเชื้อ จะมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายที่เร็วมาก เนื่องจากคนไร้บ้านไม่ได้พักอาศัยอยู่เป็นที่ เป็นหลักแหล่ง หากนอนที่แห่งนี้ไม่ได้ ก็จะเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ เมื่อเปลี่ยนสถานที่ ก็จะเจอกลุ่มคนไร้บ้านอื่นๆ ก็จะแพร่กระจายเชื้อต่อเรื่อยๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงและอันตราย
@ กลัวทหารจับ มากกว่าตำรวจ
นายชลต์ธร โพธิ์ทอง ผู้ดูแลศูนย์คนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู (บางกอกน้อย) เล่าให้ฟังถึงข้อกังวลของคนไร้บ้านในช่วงการประกาศเคอร์ฟิว ว่า คนไร้บ้านบางกลุ่มมีความกังวลว่าอาจจะถูกจับหลักการประกาศยกระดับมาตรการคุมเข้มป้องกันโควิด อาทิเช่น ห้ามจับกลุ่มเกิน 5 คน เนื่องจากวิถีชีวิตปกติคือการนอนรวมกันเป็นกลุ่ม แต่ทั้งนี้ก่อนการออกประกาศยกระดับมาตรการ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกมาประกาศเตือนกลุ่มคนไร้บ้านก่อนแล้ว ว่าอย่ารวมตัวกัน หรือช่วงเวลาเคอร์ฟิวให้หลบอยู่ตามซอก ซอย เป็นต้น แต่สิ่งที่ทำให้คนไร้บ้านกังวลใจ คือ การลงพื้นที่ตรวจลาดตะเวนความเรียบร้อยในขณะนี้ มีเจ้าหน้าที่ทหารด้วย ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงเท่านั้น
นายชลต์ธร อธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากช่วงเวลาเคอร์ฟิวที่ล่นเวลาจากการประกาศครั้งก่อนจากเดิมที่กำหนดเวลาไว้ 4 ทุ่ม เป็น 2 ทุ่ม ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่เร็วมาก คนไร้บ้านบางคนต้องอาศัยรถเมล์ในการเดินทางไปทำงาน เก็บของเก่าต่างๆ ก็ต้องรีบไป และรีบกลับ เพราะเกรงว่าอาจจะโดนจับได้ ส่วนอีกข้อกังวลของคนไร้บ้าน คือ เรื่องอาหาร ทำให้ผู้คนใจบุญ หรือผู้บริจาคต่างๆ มีความกังวลใจในการแจกอาหาร ทำให้คนไร้บ้านได้รับอาหารน้อยลงเช่นกัน
@ คาดยอดคนไร้บ้านพุ่งกว่า 3,700 คน
ด้าน นายอุเทน ชนะกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ในสถานการณ์ปกติ แม้ไม่ใช่สถานการณ์การระบาดโควิด กลุ่มคนไร้บ้านเอง ก็มีความเดือนร้อนอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างเป็นรายวัน หรือหาของเก่าขาย แต่เมื่อประสบวิกฤติโควิด ก็ไม่มีการจ้างงาน หาของเก่าขายก็ยิ่งยาก อีกทั้งสถานที่รับซื้อปิด รายได้ลดลง จนถึงไม่มีรายได้ ด้านการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ในการใช้ป้องกันตัว ก็ยากตามไปด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้จะต้องมีเงินในการจัดซื้อมาใช้ โดยสถานการณ์โควิด ทำให้มีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น จากเดิมมีจำนวน 2,719 คน คาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 3,500-3,700 คนทั่วประเทศ
@ คนไร้บ้านติดเชื้อแล้ว 14 คน
นายอุเทน เปิดเผยว่า พม.มีการตั้งจุดตรวจคัดกรองเชิงรุก 3 แห่ง ได้แก่ จุดที่ 1 ศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน (สุวิทย์ วัดหนู) ตรวจ 77 คน พบผู้ติดเชื้อ 4 คน จุดที่ 2 สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ตรวจ 160 คน พบผู้ติดเชื้อ 3 คน และจุดที่ 3 บริเวณทางเข้าตรอกสาเก ถนนราชดำเนิน ตรวจ 100 คน พบผู้ติดเชื้อ 7 คน รวมพบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 14 คน คิดเป็น 3-9% ของจำนวนการตรวจทั้งหมด
@ มีโควต้าวัคซีนสำหรับคนมี-ไม่มีบัตรประชาชน
ส่วนด้านการจัดสรรวัคซีน นายอุเทน กล่าวว่า ได้ขอรับการสนับสนุนวัคซีนแล้ว ทั้งหมด 200 คน แบ่งเป็น จากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 100 คน โดยดำเนินการฉีดตั้งแต่วันที่ 12-14 ก.ค.2564 และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สนับสนุนวัคซีนซิโนฟาร์ม 100 คน ยังไม่ได้กำหนดวันฉีด
นายอุเทน กล่าวด้วยว่า พม.ได้มีการลงพื้นที่ติดตามคนไร้บ้านที่เคยสำรวจ หรือลงทะเบียนไว้แล้ว เพื่อพาไปฉีดวัคซีน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เนื่องจากวิถีของคนไร้บ้าน คือเปลี่ยนสถานที่พักอาศัยไปเรื่อยๆ อย่างเช่น เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา มีการนัดหมายคนไร้บ้าน 35 คน เพื่อพาไปฉีดวัคซีน แต่ก็ไม่สามารถพาไปทั้งหมด เพราะต้องลงทะเบียนล่วงหน้า อีกกรณีหนึ่ง คือเมื่อนัดหมายแล้ว พอถึงเวลามาไม่ครบจำนวนที่นัดไว้
"เราสำรวจวันนี้ วันรุ่งขึ้น สองวัน เขาก็ย้ายไปแล้ว พอเราได้ข้อมูลมาแล้ว เราก็ไม่สามารถกำหนดวันฉีดได้ชัดเจน เพราะต้องไปรอรันในระบบ และเมื่อเวลาที่มันไม่แน่นอน การนัดหมายคนไร้บ้านไม่ใชเรื่องง่าย อย่างเช่นการ SWAB ทั้ง 3 จุด ก็มีการนัดหมายวันล่วงหน้า แต่พอถึงวัน SWAB จริงๆ คนไร้บ้านที่มาก็ไม่ได้เป็นตามเป้าที่เราตั้งเอาไว้ มันขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเขา" นายอุเทนกล่าว
สำหรับกรณีคนไร้บ้านที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน นายอุเทน กล่าวว่า ได้มีการให้ขึ้นทะเบียนรับวัคซีนกับทาง พม.อยู่แล้ว ขณะนี้กำลังดำเนินการจัดสรรวัคซีนสำหรับคนที่มีบัตรอยู่ แต่ในวัคซีนล็อตต่อไป จะมีการลงทะเบียน และทยอยฉีดให้สำหรับคนไม่มีบัตรด้วยเช่นกัน
@ พม.ลงช่วยเหลือ ชี้แจง แจ้งสิทธิ รับลงทะเบียน
นายอุเทน กล่าวต่อด้วยว่า ที่ผ่านมา พม.ได้ดำเนินการช่วยเหลือคนไร้บ้านมาอย่างต่อเนื่อง คือ 'ชี้แจง แจ้งสิทธิ รับลงทะเบียน' แต่ที่ผ่านมามีคนลงทะเบียน เข้ารับวัคซีนไม่ถึงร้อยคน แต่ทั้งนี้ได้มีการมอบถุงยังชีพเบื้องต้น เชิญชวนเข้ารับการคุ้มครองอยู่อย่างต่อเนื่อง ในสถานการณ์ที่รัฐประกาศเคอร์ฟิว พม.ก็ได้มีสถานที่สำหรับคนไร้บ้านเข้าพักได้ เช่น บ้านปันสุข หรือบ้านมิตรไมตรี ธนบุรี แต่อาจจะเนื่องจากเหตุผลข้อจำกัดของระยะทางที่ไกล ไม่ใช่ที่คุ้นชินหรือคุ้นเคย ทำให้มีผลต่อการตัดสินใจไม่เข้าพัก ทั้งนี้ พม.มีศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งใน กทม.อีก 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ดินแดง และ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ห้วยขวาง ที่มีบริการอาหาร 3 มื้อ และศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ประจำจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศอีกด้วย
"แต่เราไม่มีสถานที่แบบนี้กระจายอยู่ในเมืองหลัก เพราะว่าที่ชุมชนในคนไร้บ้านอยู่อย่างแออัด เราก็ไม่มีสถานที่ลองรับ ถามว่าทำอย่างไร มีการเชิญชวนให้เข้าสู่สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง แต่ก็เป็นสิทธิของเขาที่จะเข้ามาหรือไม่ ปัจจุบัน บ้านปันสุข ที่เปิดทำการตั้งแต่ ก.ค.2563 มีคนเข้าพักรวมแล้ว 300 ราย" นายอุเทน กล่าว
ทั้งหมดนี้ คือการรวบรวมสถานการ์ช่วงการประกาศเคอร์ฟิวที่กลุ่มคนไร้บ้านจะต้องเผชิญ รวมถึงเสียงสะท้อนจากผู้ที่ทำงานใกล้ชิด รวมถึงหน่วยงานที่ดูแลต่างๆ จะต้องติดตามต่อไปว่าสถานการณ์โควิดจะดีขึ้น และจะสามารถประกาศยกเลิกมาตรการได้เมื่อไหร่
ภาพประกอบจาก: มูลนิธิอิสรชน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage