“…ในช่วงที่เกิดคลัสเตอร์สนามมวยลุมพินี เราต้องนำรถฉุกเฉินไปส่งคนไข้ทุกราย ซึ่งทำให้คนไข้ทั้งที่มีอาการหนักและไม่หนัก ต้องรอรถฉุกเฉินไปส่งเป็นระยะๆ ขณะเดียวกันทางศูนย์กู้ชีพนเรนทรฯ เหนื่อยพอควร ตนเองจึงเริ่มคิดว่าเราควรจะหาทางทำรถเพื่อรับส่งผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหนักขึ้นอีกคัน นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ผุดไอเดียทำรถแท็กซี่สำหรับรับส่งผู้โดยสารขึ้นมา ซึ่งเรานำโมเดลจากประเทศจีน มาปรับให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด…”
…………………………………………………
การให้ผู้ป่วยโควิดเดินทางเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยรถขนส่งสาธารณะ ท่ามกลางสถานการณ์การระบาด คงเป็นความเสี่ยง หลายคนจึงต้องรอรถฉุกเฉินเพียงอย่างเดียว ขณะที่รถฉุกเฉินมีจำนวนจำกัด ทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งต่อผู้ป่วย โรงพยาบาลราชวิถีจึงผุดไอเดีย นำร่องเปิดโครงการ ‘แท็กซี่ฉุกเฉิน’ หรือ ‘Ambulance Taxi’ ทำหน้าที่ประสานผู้ป่วยจากต้นทางสู่ปลายทาง ทั้งในโรงพยาบาลสนาม ฮอสพิเทล และสถานที่กักตัวกับครอบครัว ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล
โครงการนี้จะเป็นอย่างไร สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากน้อยเท่าใด และจะสามารถใช้บริการอย่างไรได้บ้าง สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้สัมภาษณ์กับผู้จัดและคนขับรถแท็กซี่จิตอาสาในโครงการแท็กซี่ฉุกเฉิน มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่าตนเองเป็นผู้ดูแล ‘ศูนย์กู้ชีพนเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี’ ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ต้องทำหน้าที่รับส่งผู้ติดเชื้อมาโดยตลอด แต่ในช่วงที่เกิดคลัสเตอร์สนามมวยลุมพินี เราต้องนำรถฉุกเฉินไปส่งคนไข้ทุกราย ซึ่งทำให้คนไข้ทั้งที่มีอาการหนักและไม่หนัก ต้องรอรถฉุกเฉินไปส่งเป็นระยะๆ ตลอดเวลา ขณะเดียวกันทางศูนย์กู้ชีพนเรนทรฯ เหนื่อยพอควร ตนเองจึงเริ่มคิดว่าเราควรจะหาทางทำรถเพื่อรับส่งผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหนักขึ้นอีกคัน นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เริ่มปรึกษากับ สหกรณ์บางกอกแท็กซี่ จำกัด จนผุดไอเดียทำรถแท็กซี่สำหรับรับส่งผู้โดยสารขึ้นมา ซึ่งเรานำโมเดลจากประเทศจีน มาปรับให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด
“เรานำโมเดลจากประเทศจีนมาปรับเพิ่มเติม คือ การแบ่งแท็กซี่ออกเป็น 2 ส่วนด้วยแผ่นพลาสติกกั้น ระหว่างผู้โดยสารและผู้ขับ ซึ่งเราได้ทดสอบแล้ว พบว่าแม้แต่กลิ่นธูปก็ไม่สามารถการข้ามไปหากันได้ เพราะฉะนั้นรถแท็กซี่นี้จึงตอบโจทย์ที่เราจะนำไปรับส่งผู้ป่วยโควิดที่ยังพอช่วยเหลือตนเองได้ หรือผู้สัมผัสเสี่ยง” นพ.ไพโรจน์ กล่าว
นพ.ไพโรจน์ กล่าวอีกว่า เดิมโครงการนี้มีชื่อว่า ‘รถแท็กซี่ดัดแปลงพิเศษ’ แรกเริ่มมีคนขับรถแท็กซี่เพียง 1 คน ก่อนในช่วงปี 2564 จะรับเพิ่มมาอีก 4 รวมเป็น 5 คน และเปลี่ยนชื่อโครงการในวันที่ 5 ก.ค.2564 มาเป็น ‘แท็กซี่ฉุกเฉิน’ หรือ ‘Ambulance Taxi’ เพราะว่าด้วยสถานการณ์โควิดที่รุนแรงขึ้น และกำลังจะมีผู้เข้ามาสนับสนุนโครงการ จึงคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะใช้ชื่อใหม่นี้
(นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี)
@ คัดเลือกคนขับรถเข้ม เน้นคุณภาพ-ปลอดภัย-ประสิทธิภาพ
สำหรับการคัดเลือกคนขับรถแท็กซี่จิตอาสามาร่วมงาน นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาเรามีแค่คันเดียว ตอนนั้นเราได้ นายประวิตร บุญลือ ซึ่งเป็นจิตอาสาที่มีจิตใจชอบช่วยเหลือมาก และยังเป็นคนมีบุคลิกภาพที่ดี คือ ใจเย็น รวมถึงมีวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการ ที่เรามีอยู่ ครบทั้ง 3 ข้อ อย่างครบถ้วน คือ 1. มีคุณภาพ 2. มีความปลอดภัย และ 3. มีประสิทธิภาพ
ต่อมาในช่วงกลางเดือน เม.ย.2564 และในช่วงต้นเดือน ก.ค.2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดใน กทม.และปริมณฑล มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น มีประชาชนตกค้างรอรถฉุกเฉินเข้าไปรับมากขึ้น เราจึงรับสมัครคนเพิ่ม ซึ่งทุกคนล้วนต้องผ่านการสัมภาษณ์ และผ่านการขับรถให้ตนเองลองนั่งทุกคน
“ผมจะถามทุกคนที่มาสมัครก่อนว่ารู้ไหมว่าทำอะไร รู้ไหมว่ามีความเสี่ยงมากนะ ถ้าทุกคนทราบ และพร้อมที่จะเสี่ยง เราจะดำเนินการขั้นต่อไปคือมาดูที่ความปลอดภัยต่อ ซึ่งเราจะพูดกันว่า ทางผมจะดัดแปลงรถนะ เพราะจะเสี่ยงโดยไม่มีความปลอดภัยเลยไม่ได้ ถ้าเกิดจะเสี่ยงแล้ว ต้องไม่ตาย เมื่อทุกคนตกลงและดัดแปลงรถเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมจะขึ้นไปนั่งบนรถของทุกคน พร้อมกับลองจุดธูป เพื่อสังเกตควันไปด้วยว่า ควันทะลุไปในส่วนของคนขับรถหรือไม่ เพราะฉะนั้นถ้าขับรถดี ไม่มีการกระฉาก ทุกอย่างดูแล้วบุคลิกภาพดีและไม่มีกลิ่นธูปเล็ดลอดออกไป จะถือว่าผ่าน การันตีได้ว่าผู้ป่วยที่มาใช้บริการ จะได้รับบริการที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ” นพ.ไพโรจน์ กล่าว
@ จัดอบรม-นัดตรวจรถทุกสัปดาห์ เข้มความปลอดภัยสูง
นพ.ไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ความปลอดภัยที่เราได้เตรียมให้คนขับรถแท็กซี่จิตอาสา ไม่ได้มีเพียงแต่การดัดแปลงรถ แต่เราจะมอบอุปกรณ์ฆ่าเชื้อติดรถให้ทุกคัน พร้อมจัดอบรมในเรื่องการทำความสะอาดรถ จากเจ้าหน้าที่ศูนย์กู้ชีพนเรนทร โรงพยาบาลราชวิถีให้ด้วยว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง เรียกได้ว่าจะเรียนรู้เทคนิคการทำความสะอาดที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง เพราะว่าเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้เคยให้บริการรับส่งผู้ป่วยโควิดมาแล้วหลายราย จนถึงตอนนี้ยังไม่เคยพบเจ้าหน้าที่ติดโควิดเลยสักคน
นอกจากนั้น จะนัดมาตรวจสอบรถทุกวันอาทิตย์ด้วยว่า ยังมีความปลอดภัยสูงหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามเขาจะมีการทำความสะอาดหลังส่งผู้โดยสารทุกครั้งอยู่แล้ว โดยเน้น 6 มาตรการสำคัญ ดังนี้
1. สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาระหว่างการเดินทาง
2. งดหรือลดการคุยโทรศัพท์ ยกเว้นกรณีที่จำเป็นเท่านั้น
3. ห้ามรับประทานอาหารระหว่างการเดินทาง
4. ไม่พูดคุยกับผู้โดยสารที่ร่วมโดยสารระหว่างการเดินทาง
5. งดการสัมผัสพลาสติกที่กั้นระหว่างผู้นั่งและผู้ขับ
6. ไม่พยายามเคาะเรียกผู้ขับระหว่างการเดินทาง
@ รับส่งผู้ป่วย-กลุ่มเสี่ยงสูง ได้วันละ 60 เคส
เมื่อถามว่าใน 1 วัน รถแท็กซี่ฉุกเฉิน สามารถช่วยเหลือประชาชนผู้ป่วยโควิดและกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงได้วันละเท่าใด นพ.ไพโรจน์ เปิดเผยว่า หากเราวัดเป็นระยะทาง รวมทั้งหมด 4 คัน ก่อนที่เราจะรับคนเพิ่มในช่วงเดือน ก.ค.2564 อีก 1 คนนั้น จะวิ่งได้วันละ 700 – 1,000 กิโลเมตร หรือคิดเป็นอย่างต่ำคนละ 12 เคส หากคำนวณตามจำนวนคนขับรถแท็กซี่จิตอาสาทั้งหมด 5 คน จะได้ประมาณวันละ 60 เคส โดยในแต่ละครั้งนั้นส่วนใหญ่จะรับส่งผู้ป่วยได้ไม่เกินครั้งละ 2 คน ยกเว้นรถแท็กซี่แบบฟอร์จูนเนอร์ 1 คัน ที่มีเบาะหลังสามารถรับผู้ป่วยแบบครอบครัวได้มากกว่า 2 คน
“ต้องขอบคุณทีมประสานงานและคนขับรถจิตอาสาที่ทุมเททำงานกันอย่างหนัก พยายามรับผู้ป่วยที่ติดต่อโครงการเข้ามาในแต่ละวัน จนเราไม่มีผู้ป่วยตกค้าง หลายคนทำงานล่วงเวลา จากที่เรากำหนดกรอบเวลาให้บริการไว้ เริ่ม 09.00 – 19.00น. แต่จริงๆ คนขับรถแท็กซี่จิตอาสาก็เริ่มทำงานตั้งแต่ 07.00 – 08.00น. หรือบางครั้งก็มีรับงานด่วนรอบ 20.00น. แม้ว่าคนขับรถจิตอาสาจะกลับถึงบ้านแล้วก็ตาม ส่วนทีมประสานงานจะเริ่มเคลียร์คิวคนไข้ตั้งแต่ 05.00น. เลิกรับโทรศัพท์สายสุดท้ายตอน 21.00น. หรือบางวันก็ทำล่วงเวลายาวถึง 23.00น.บ้าง ทำให้ผมรู้สึกว่าผมมีทีมที่มีใจเกินร้อยในการทำงานนี้” นพ.ไพโรจน์ กล่าว
(น.ส.ทิติมา น่วมทอง ผู้ประสานงานโครงการแท็กซี่ฉุกเฉิน
และบุคลากรด่านหน้าคลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลราชวิถี)
@ มีคนขอรับบริการมากขึ้น ปัจจุบันรับโทรศัพท์ไม่ต่ำกว่า 500 สาย
สำหรับการขอรับบริการ ‘แท็กซี่ฉุกเฉิน’ นั้น น.ส.ทิติมา น่วมทอง ผู้ประสานงานโครงการ แท็กซี่ฉุกเฉิน และบุคลากรด่านหน้าคลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI) โรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโควิดทั้งอาการน้อยไปจนถึงอาการหนัก ที่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สามารติดต่อขอรับบริการได้ทุกคน โดยสามารถโทรมาจองคิวล่วงหน้าได้ตั้งแต่ 6 ชั่วโมง ไปจนถึง 1 วัน ผ่านการแสกนคิวอาร์โค้ด หรือเบอร์โทรศัพท์ของโครงการ 096-771-1687
“สาเหตุที่เรารับเฉพาะผู้ป่วยที่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะคนขับรถแท็กซี่จิตอาสาไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ ผู้ป่วยจะต้องเปิดปิดประตูระหว่างขึ้นลงด้วยตนเอง ถ้าเรารับผู้ป่วยที่ใช้รถเข็น ผู้สูงอายุมากๆ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยที่ต้องให้ออกซิเจน อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งจะเสี่ยงต่อคนขับรถแท็กซี่ที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ถ้าเกิดสัมผัสผู้ป่วยโดยไม่ได้สวมชุด PPE อาจเสี่ยงต่อโรคโควิดได้” น.ส.ทิติมา กล่าว
โดย น.ส.ทิติมา กล่าวอีกว่า ปกติแล้วกำหนดเวลางาน จะเริ่มตั้งแต่ 09.00น. แต่เดี๋ยวนี้จะเริ่มรับสายตั้งแต่เวลา 08.00น. แล้ว ยอมรับว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ามาขอรับบริการเยอะขึ้น ทุกวันนี้รับโทรศัพท์ไม่ต่ำกว่า 500 สาย โดยจำนวนนี้ยังไม่ได้รวมผู้ที่ร้องขอมาผ่านการแสกนคิวอาร์โค้ด และเกือบ 80% เป็นผู้ป่วยที่มีเตียงแล้ว แต่ยังรอรถนำส่ง ซึ่งปัจจุบันภารกิจของเราเริ่มหนักขึ้น เราต้องคัดเคส บางเคสต้องมีการปรับเวลา หรือเลื่อนเวลาไปบ้าง แต่ไม่เกิน 1 วัน เพื่อรับส่งผู้ป่วยเคสตกค้าง รอเตียงก่อน เพราะว่าผู้ป่วยที่รักษาหาย เตรียมกลับบ้าน กลุ่มนี้อาจรอได้ แต่สำหรับผู้ป่วยแอดมิท ถ้าเขาพลาดรถ เขาอาจอดได้เตียงไปเลย
@ ‘แท็กซี่ฉุกเฉิน’ สร้างงาน-รายได้ให้คนขับรถ
ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายของคนขับรถแท็กซี่จิตอาสา น.ส.ทิติมา กล่าวว่า ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส ค่าเช่า ค่าอุปกรณ์เสริม ค่าทำความสะอาด และค่าจิตอาสา คำนวณตามระยะทางเป็นหลักกิโลเมตร มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถีจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ปัจจุบันใช้งบประมาณ 200,000 บาทต่อเดือน และอาจจะเพิ่มขึ้นไปอีกถึง 300,000 บาท เนื่องจากเรารับคนขับรถแท็กซี่มากขึ้น ซึ่งล่าสุดจะรับเพิ่มเข้ามาอีก 1 คน เริ่มปฏิบัติงานในวันที่ 11 ก.ค.2564 รวมทั้งหมดเป็น 5 คน
“โครงการนี้นอกจากเราจะช่วยเหลือผู้ป่วยได้แล้ว ยังช่วยเหลือคนขับรถแท็กซี่จิตอาสาได้อีก โดยในช่วงวิกฤติโควิด เราเห็นทุกคนมีปัญหาหมด บางคนมีลูกเล็กที่ต้องดูแล และจ่ายค่าห้องเช่าด้วย การที่พี่เขาได้มาทำงานตรงนี้ก็เหมือนได้ปลดหนี้ปลดสิน มีเงินเก็บได้ใช้จ่ายในครอบครัวมากขึ้นด้วย” น.ส.ทิติมา กล่าว
(คนด้านหน้า: นายประวิตร บุญลือ คนขับรถแท็กซี่จิตอาสาคนแรก)
@ รับส่งผู้ป่วยฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ขณะที่ นายประวิตร บุญลือ คนขับรถแท็กซี่จิตอาสาคนแรก กล่าวด้วยว่า โครงการนี้ผมเข้ามาด้วยใจ อยากช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดให้ได้มากที่สุด ไม่ได้คิดถึงเรื่องค่าจ้างที่เราจะได้รับ โครงการนี้ถึงแม้จะเสี่ยง แต่ส่วนหนึ่งที่เข้ามา เพราะอยากเรียนรู้ ตนเองคิดว่าถ้าไม่ได้ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถี อย่างไรแล้วก็เสี่ยงติดโควิดอยู่ดี แต่ถ้าหากเราได้อยู่ใกล้มือแพทย์ ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด อยู่ในกฎระเบียบอย่างไรเราก็จะปลอดภัย
ส่วนข้อกังวลใจในการปฏิบัติภารกิจรับส่งผู้ป่วยนั้น นายประวิตร ยืนยันว่า ไม่มีข้อกังวลใจใดๆ ตนเองได้ทำงานร่วมกับโครงการนี้มานานกว่า 1 ปี 4 เดือน ไม่เคยพบเพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่กระทั่งตนเองติดเชื้อโควิด เราได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ดีมาก อย่าง น.ส.ทิติมา ก็คอยช่วยประสานงานและดูแลอยู่ตลอด รับงานคนแรกและกลับเป็นคนสุดท้ายเสมอ ที่สำคัญทางโรงพยาบาลราชวิถียังมีมาตรการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ ทุกครั้งหลังไปส่งผู้ป่วย หากเป็นผู้ป่วยแอดมิทเข้าโรงพยาบาล เราสามารถเข้าไปทำความสะอาดฆ่าเชื้อภายในโรงพยาบาลได้ แต่ถ้าหากเป็นกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เราจะมีน้ำยาฆ่าเชื้อติดรถที่ทางโรงพยาบาลให้ นำไว้ใช้เช็ดเองได้ ก่อนจะไปรับส่งผู้ป่วยรายอื่นต่อ
“วันนึงตนเองรับส่งผู้ป่วยโควิดได้ประมาณ 12 เคส ขึ้นไป แต่ตั้งแต่เดือน พ.ค.2564 เป็นต้นมา ภายใน กทม. เรามีผู้ติดเชื้อจำนวนมากขึ้น จากเดิมที่มีวันหยุดอย่างน้อย 1 วันนั้น ตอนนี้เรียกได้ว่าเราทำงานทุกวัน อย่างเมื่อคืนนั้นเคสสุดท้ายที่ได้ไปส่งผู้ป่วยก็อยู่ที่ประมาณ 20.00น. อย่างไรก็ตามเรายังยินดีที่จะปฏิบัติหน้าที่รับส่งผู้ป่วยแม้ว่าภารกิจจะหนักขึ้นก็ตาม ทั้งนี้หลายคนมองว่าโครงการนี้มีค่าใช้จ่าย จึงอยากย้ำว่าเราบริการฟรีด้วยใจ จะไม่มีการเรียกเก็บใดๆ จากผู้ป่วยเด็ดขาด อยากให้มาใช้บริการกัน ผมเชื่อว่าอีกไม่นานเราจะต้องผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้” นายประวิตร กล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวของโครงการรถแท็กซี่ฉุกเฉิน หรือ Ambulance Taxi ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อรับส่งผู้ป่วยโควิดที่ยังสามารถช่วยเหลือตนเองได้ เป็นโครงการที่นอกจากจะช่วยเหลือผู้ป่วยแล้ว ยังช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้คนขับรถแท็กซี่จิตอาสาในช่วงวิกฤตโควิดได้อีก นับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาผู้ป่วยตกค้างในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/