ศบค.เคาะมาตรการคุมเข้มโควิด ต่อเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึง 30 ก.ย.2564 เคาะ 'เคอร์ฟิว' 10 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด งดออกนอกเคหสถาน 21.00 น.- 04.00 น. สั่งเรียนออนไลน์ 100% พร้อมเพิ่ม 'ล็อกดาวน์' 6 จังหวัด กทม.และปริมณฑล ปิดห้าง เปิดซูเปอร์มาร์เก็ต-ร้านอาหาร ถึง 2 ทุ่ม ห้ามนั่งกิน เริ่ม 12 ก.ค.เป็นต้นไป
-----------------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) กล่าวว่า ในการประชุม ศบค.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมเป็นประธาน วันนี้ได้มีคณาจารย์แพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย , รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย, พลอากาศโท นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โดยทั้งหมดมีความพยายามในการตัดสินใจเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการต่างๆ อย่างรอบคอบ
หลังใช้เวลาการประชุมนานกว่า 6 ชั่วโมง ที่ประชุม ศบค.มีมติเห็นชอบ ดังนี้
เห็นชอบขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเป็นคราวที่ 13 ตั้งแต่ 1 ส.ค.-30 ก.ย.2564 โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในวันที่ 13 ก.ค.2564
โดยเห็นว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดทั้งทั่วโลกและในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงไทยยังมีความน่าห่วงกังวล ที่มีปัจจัยทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด ประกอบด้วย จำนวนผู้ป่วยหนีกที่ต้องใช้ท่อหายใจเพิ่มขึ้น รวมถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง , การแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ที่เป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรง , การเดินทางเพื่อกลับภูมิลำเนาของกลุ่มแรงงานใน กทม.
ที่ประชุมปรับระดับพื้นที่สถานการณ์
พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 10 จังหวัดคงเดิม
พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 24 จังหวัด จากเดิม 19 จังหวัด
พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 25 จังหวัด จากเดิม 16 จังหวัด
พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด (สีเขียว) 18 จังหวัด จากเดิม 39 จังหวัด
สำหรับหลักคิดในการออกมาตรการครั้งนี้ คือ มีการจำกัดการเคลื่อนย้ายและรวมกลุ่มของบุคคลชั้นสูงสุด หรือที่คุ้นเคยกับคำว่า 'ล็อกดาวน์' รวมทั้งกำหนดการออกนอกเคหะสถาน หรือ 'เคอร์ฟิว' ควบคู่ไปกับการเร่งรัดมาตรการด้านการป้องกันโรค การฉีดวัคซีน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล รวมทั้งการเยียวยา โดยทั้งหมดเป็นมาตรการที่ใช้เฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ สีแดงเข้ม เท่านั้น
มาตรการ 'ล็อกดาวน์' เฉพาะ 6 จังหวัด กทม.และปริมณฑล
- ขอความร่วมมือราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน เน้นการทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home ให้มากที่สุด
- ขนส่งสาธารณะ ปิดให้บริการ 21.00 น. - 04.00 น.
- ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิดให้บริการ 20.00 น. – 04.00 น.
- ห้างสรรพสินค้า เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เกต ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม ธนาคาร สถาบันการเงิน ร้านจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ สถานที่จำหน่ายอุปกรณ์มือถือและการสื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีนเปิดให้บริการได้ถึง 20.00 น.
- ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เปิดได้ถึง 20.00 น.อนุญาตให้เฉพาะซื้อกลับบ้าน
- ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ได้แก่ นวดแผนโบราณ สปา สถานเสริมความงาม
- สวนสาธารณะ เปิดให้บริการได้ถึง 20.00 น.
- สถานศึกษา 10 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด อนุญาตเฉพาะเรียนออนไลน์ 100%
- ห้ามรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางสังคม ที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ การประกอบอาชีพ กิจกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณี ที่มีการรวมกลุ่มของบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
มาตรการ 'เคอร์ฟิว' ห้ามออกนอกเคหะสถาน ใช้รวม 10 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ประกอบด้วย 6 จังหวัด กทม.และปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนใต้
โดยมีรายละเอียด คือ ห้ามเดินทางที่ไม่จำเป็น ห้ามออกนอกบ้านตั้งแต่ 21.00 – 04.00 น. เว้นเฉพาะกรณีจำเป็น เจ็บป่วยต้องไปโรงพยาบาล หรือแพทย์ พยาบาลต้องไปขึ้นเวร หรือกรณีฉุกเฉิน ไฟฟ้า ประปา ขัดข้อง ก็สามารถเดินทางไปแก้ไขเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้
มาตรการทั้งหมดนี้ บังคับใช้ 12 ก.ค.2564เป็นต้นไป
นอกจากนี้ที่ประชุมสรุปมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ดังนี้
1.เร่งรัดให้มีการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงระบบการตรวจหาเชื้ออย่างเพียงพอ
2.เร่งรัดนำระบบการแยกกักแบบการแยกกัที่บ้าน หรือ Home Isolation และการแยกกักในชุมชน หรือ Community Isolation รวมทั้งการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลัก ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร มาเสริมเพิ่มมาตรการรักษาพยาบาลที่มีอยู่ในปัจจุบัน
3.เรงรัดจัดตั้ง ICU สนาม และ รพ.สนาม ถึง รพ.สนามชุมชน เพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และมีจำนวนเพียงพอ
4.ปรับแผนการกระจายวัคซีนและเร่งการฉีดวัคซีน ให้ผู้สูงอายุ และผู้มาโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เน้นในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ฉีดวัคซีนให้ได้ 1 ล้าโดสภายใน 2 สัปดาห์
5.ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ในการป้องกันส่วนบุคคล การตรวจหาเชื้อ และรักษาพยาบาลให้มีประสิทธิภาพ
6.ให้ ศบศ.เร่งกำหนดมาตรการเยียวยาสถานประกอบการหรือพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดมาตรการต่อไป
@ ใช้ ‘ไฟเซอร์’ ฉีดเข็ม 3 ให้บุคลากรแพทย์
นอกจากนั้น ยังเห็นชอบจัดสรรวัคซีนที่ได้รับบริจาคจากต่างประเทศ รวม 2.55 ล้านโดส มาจากสหรัฐอเมริกาบริจาคไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส และญี่ปุ่นบริจาคแอสตร้าเซนเนก้า 1.05 ล้านโดส ดังนี้
วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส สำหรับฉีดเข็มที่ 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าทั่วประเทศ , ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค , ชาวต่างชาติที่อยู่ในไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง และผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดไฟเซอร์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ อาทิ นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต
แผนการกระจาย สำหรับฉีด 2 เข็ม เว้นระยะห่าง 3 สัปดาห์ แบ่งเป็น สัญชาติไทย 1.35 ล้านโดส ต่างชาติ 150,000 โดส หรือ 10% ของจำนวนที่มีอยู่
พื้นที่เป้าหมาย คือ 10 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1.05 ล้านโดส สำหรับ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค , ชาวต่างชาติที่อยู่ในไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง และผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดไฟเซอร์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ อาทิ นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต
แผนการกระจาย สำหรับฉีดเข็มที่ 1 แบ่งเป็น สัญชาติไทย 945,000 โดส ต่างชาติ 105,000 โดส หรือ 10% ของจำนวนที่มีอยู่
พื้นที่เป้าหมาย คือ กทม. และปริมณฑล รวม 6 จังหวัด และพื้นที่ท่องเที่ยว 4 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ภูเก็ต
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage/