"...บริษัทซิโนแวคนั้นได้มีส่วนและกลายมาเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ระดับโลกของวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว ณ เวลานี้ โดยบริษัทแห่งนี้ได้เป็นเสมือนรากฐานที่สำคัญของโครงการภายในประเทศจีน และยังมีส่วนในการทำข้อตกลงกับประเทศที่รายได้ต่ำและปานกลางทั่วโลก ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนแล้วแต่พยายามที่จะเข้าถึงทรัพยากรวัคซีนต่างๆ เช่นเดียวกับที่ประเทศร่ำรวยที่สามารถจะหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชากรของตัวเองได้ ในขณะที่แผนการของ WHO ที่ต้องการจะให้เกิดการเข้าถึงวัคซีนอย่างเป็นธรรมนั้นก็ดูเหมือนว่าจะห่างไกลจากความเป็นจริงไปเรื่อยๆ เช่นกัน ...."
................................
ประเด็นเรื่องการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคจำนวนมากของประเทศไทย เพื่อนำมาใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะความแคลงใจว่าวัคซีนดังชนิดนี้ มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรับมือกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในขณะนี้ได้หรือไม่
ล่าสุด สำนักข่าวเซาธ์ ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ของประเทศจีน ได้เผยแพร่รายงานวิเคราะห์ประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค กับคำถามสำคัญที่ว่าสามารถปกป้องไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
ณ เวลานี้ วัคซีนจากบริษัทซิโนแวค ไบโอเทคนั้นถือว่าเป็นวัคซีนที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดในโลก โดยมีการแจกจ่ายไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 943 ล้านโดสทั่วโลก
บริษัทวิเคราะห์ของอังกฤษที่ชื่อว่า Airfinity ได้คาดการณ์ว่าในช่วงสิ้นปี 2564 นี้ วัคซีนชนิดนี้จะถูกผลิตขึ้นจำนวนมากกว่า 2.9 พันล้านโดส
ภายในโรงงานผลิตวัคซีนของบริษัทซิโนแวค (อ้างอิงวิดีโอจากเซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์)
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในกระบวนการทดลองทางคลินิกและกระบวนการศึกษาการใช้งานในโลกจริง ที่เรียกกันว่าเรียลเวิลด์ ทั่วโลกนั้น จะระบุว่าวัคซีนชนิดนี้ มีศักยภาพในการป้องกันโรคและป้องกันการรักษาในโรงพยาบาล
ทว่าเหล่าผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างเริ่มที่จะเรียกร้องที่จะให้มีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ว่าวัคซีนมีศักยภาพมากน้อยแค่ไหนในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า และมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีการฉีดวัคซีนเสริมหรือที่เรียกกับว่าบูสเตอร์ชอตเพื่อที่จะเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
โดยคำถามดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นในหลายประเทศ อาทิ อินโดนีเซียที่พึ่งพาวัคซีนซิโนแวคเป็นจำนวนมหาศาลและกำลังขับเคี่ยวกับปัญหาจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว อันมีสาเหตุมาจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ที่มีขีดความสามารถในการแพร่เชื้อได้มากกว่า
ทั้งนี้ มีการรายงานจากกลุ่มอิสระที่ชื่อว่าลาปอร์โควิด-19 (LaporCovid-19) ณ ประเทศอินโดนีเซีย ว่านับตั้งแต่เดือน มิ.ย. มีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนกว่า 130 คน ได้เสียชีวิตลงจากโควิด ในจำนวนนี้มีบุคลากรทางแพทย์จำนวนกว่า 58 คน เสียชีวิตในช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
กลุ่มลาปอร์โควิดได้มีการเก็บข้อมูลจากหลายแหล่งทั้งสมาคมทางการแพทย์มืออาชีพและจากชุมชนต่างทั้งที่มีการฉีดวัคซีนและไม่ได้มีการฉีดวัคซีนมาประกอบกัน ซึ่งข้อมูลดังกล่าว ถูกนำไปอ้างอิงโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุชัดเจนว่ามีตัวเลขการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของอินโดนีเซียไปแล้วถึง 95 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ตัวเลขเปอร์เซ็นต์ผู้ฉีดวัคซีนโดยรวมของประเทศอินโดนีเซียจากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO นั้นอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์
“เรายังเห็นบุคลาการทางการแพทย์จำนวนมากที่ติดเชื้อยังคงอยู่และมีอาการป่วยที่ไม่รุนแรง ซึ่งนี่ยังทำให้เรามีความมั่นใจว่าวัคซีนซิโนแวคก็มีประสิทธิภาพในระดับหนึ่งในการป้องกันกับไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงแนะนำให้ผู้คนฉีดมัน” นพ.ดิกกี บูดิแมน (Dicky Budiman) นักระบาดวิทยาชาวอินโดนีเซียที่มหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ประเทศออสเตรเลียที่ทำงานร่วมกับกลุ่มลาปอร์โควิดกล่าว
นพ.บูดิแมน กล่าวต่อว่าปัจจัยต่างๆ อาทิการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม และสถานการณ์โดยทั่วไปของประเทศอินโดนีเซียที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงกว่า 25,000 ราย เมื่อไม่กี่วันมานี้นั้นได้สร้างสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพมากในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์
อย่างไรก็ตาม ปัญหาในเรื่องการเสียชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับกรณีการลดลงของภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน เมื่อต้องเผชิญกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่มีศักยภาพในการลดประสิทธิภาพของวัคซีน
“เราไม่อาจยอมรับการตัวเลขการเสียชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ในระดับสูงที่เราเห็น ณ เวลานี้ได้” นพ.บูดิแมนกล่าว และยังได้แสดงความเห็นสนับสนุนว่าตัวเขานั้นสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ชอตให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และดำเนินการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้ได้คำตอบที่แน่ชัดว่าวัคซีนนั้นมีศักยภาพเท่าใดกันแน่ในการจะปกป้องกลุ่มประชากร
ส่วนนางเออร์มา ฮิดายานา (Irma Hidayana) ผู้ก่อตั้งกลุ่มลาปอร์โควิดได้กล่าวว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเนื่องจากมีประเด็นเรื่องความแตกต่างของภูมิภาคเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่การเสียชีวิตส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีการฉีดวัคซีนในอัตราที่ถือว่าสูงสำหรับบุคลากรทางการแพทย์
ขณะที่ เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา สื่อท้องถิ่นของอินโดนีเซีย ได้มีการรายงานเช่นกันว่านางโนวิเลีย สยาฟริ บาคเทียร์ (Novilia Sjafri Bachtiar) ในวัย 50 ปีต้นๆ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีบทบาทในกระบวนการทดลองวัคซีนซิโนแวคนั้นได้เสียชีวิตลง ด้วยอาการที่น่าจะมาจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นกัน
ข่าวการเสียชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์แม้ว่ารับวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว (อ้างอิงวิดีโอจาก WION)
ทั้งนี้ บริษัทซิโนแวคนั้นได้มีส่วนและกลายมาเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ระดับโลกของวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว ณ เวลานี้
โดยบริษัทแห่งนี้ได้เป็นเสมือนรากฐานที่สำคัญของโครงการภายในประเทศจีน และยังมีส่วนในการทำข้อตกลงกับประเทศที่รายได้ต่ำและปานกลางทั่วโลก ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนแล้วแต่พยายามที่จะเข้าถึงทรัพยากรวัคซีนต่างๆ เช่นเดียวกับที่ประเทศร่ำรวยที่สามารถจะหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชากรของตัวเองได้
ในขณะที่แผนการของ WHO ที่ต้องการจะให้เกิดการเข้าถึงวัคซีนอย่างเป็นธรรมนั้นก็ดูเหมือนว่าจะห่างไกลจากความเป็นจริงไปเรื่อยๆ เช่นกัน
ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้วัคซีนซิโนแวคได้กลายมาเป็นวัคซีนที่ถูกผลิตมากที่สุดในโลกในช่วงสิ้นเดือน พ.ค.
โดยข้อมูลของบริษัท Airfinity ระบุว่าอัตราการผลิตวัคซีนซิโนแวคนั้นแซงหน้าวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคไปแล้ว
ขณะที่ข้อมูลจากเรียลเวิลด์ได้มีการเปิดเผยผลประสิทธิภาพในประเทศชิลี ที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์นิวอิงแลนด์เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 65.9 เปอร์เซ็นต์ ต่อไวรัสโควิด-19 มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 87.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อป้องกันการรักษาตัวในโรงพยาบาล และมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 86.3 เปอร์เซ็นต์เมื่อป้องกันการเสียชีวิต
แต่ก็ยังคงมีข้อมูลที่น้อยนิดว่าวัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพต่อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้ามากน้อยแค่ไหน
ทางด้านนพ.เฟิง ซิเจียน (Feng Zijian) รองผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคติดต่อประเทศจีน ได้กล่าวกับสื่อของรัฐบาลจีน ไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยยอมรับว่าสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีที่ผลิตจากวัคซีนจีนจำนวน 2 ชนิดนั้นมีความแข็งแกร่งที่น้อยลงเมื่อต้องเผชิญกับไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้า เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ
แต่การฉีดวัคซีนนั้นก็ยังคงมอบภูมิคุ้มกันอยู่ดี
อย่างไรก็ดี นพ.เฟิงไม่ได้ระบุว่าวัคซีนจีน 2 ชนิดที่ว่านั้นคือวัคซีนยี่ห้ออะไรบ้าง
ส่วนผู้เชี่ยวชาญหลายคน กล่าวว่าจากสถานการณ์การขาดแคลนอุปทานวัคซีนอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นมานั้น หนทางที่ดีที่สุดในการรับมือกับสถานการณ์นี้ก็คือปรับการใช้วัคซีนที่มีอยู่ให้ดีและเหมาะสมที่สุดกับสายพันธุ์ต่างๆที่ระบาดอยู่ ณ เวลานี้ ควบคู่ไปกับการใช้วัคซีนเพื่อทำความเข้าใจว่าประสิทธิภาพภูมิคุ้มกันจากวัคซีนนั้นจะมีการลดลงอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป
นพ.จิน ดง-เหยียน (Jin Dong-yan) ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวย้ำว่า มันเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะศึกษาว่าวัคซีนซิโนแวคนั้นมีประสิทธิภาพแค่ไหนในการรับมือกับโควิดสายพันธุ์เดลต้า
“เป็นที่เชื่อกันว่าการป้องกันทั้งหมด ไม่ว่าจะมาจากวัคซีนอะไรก็ตามก็จะลดลงไปเล็กน้อย” นพ.จินกล่าวและชี้ไปที่ข้อมูลจากกรณีที่หน่วยงานด้านสุขภาพของอิสราเอลได้มีการประกาศในสัปดาห์นี้ที่แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์นั้นลดลงไปจาก 90 เปอร์เซ็นต์ไปสู่ 64 เปอร์เซ็นต์ เมื่อต้องเผชิญกับไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้า ขณะที่การป้องกันการนอนโรงพยาบาลและการเสียชีวิตนั้นพบว่าวัคซีนไฟเซอร์ยังคงมีอัตราประสิทธิภาพอยู่ที่ 93 เปอร์เซ็นต์
“เป็นที่แน่นอนว่าประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคนั้นก็จะลดลงเช่นกัน แต่คำถามสำคัญก็คือว่าลดลงไปเท่าไร” นพ.จินกล่าวและย้ำว่าถือเป็นความจำเป็นสำคัญมากที่จะต้องมีการปรับปรุงวัคซีนที่มีอยู่ ซึ่งการปรับปรุงดังกล่าวนั้นก็รวมไปถึงการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยง หรือการเริ่มพิจารณาที่จะมีการผสมและจับคู่วัคซีนต่างชนิดกันออกไป
ส่วนนายหยิน เว่ยตง (Yin Weidong) ประธานของบริษัทซิโนแวคได้มีการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ไชน่าเซ็นทรัลเมื่อช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาว่าในกระบวนการทดลองทางคลินิก พบว่าอาสาสมัครที่เข้าสู่การทดลองซึ่งได้รับวัคซีนซิโนแวคเป็นโดส 3 นั้น หลังจากผ่านการฉีดโดสที่ 2 ไปเป็นระยะเวลา 3-6 เดือน และหลังจากการฉีดวัคซีนโดส 3 ไปเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ จะมีการเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าของสารภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย ซึ่งหลังจากนี้จะมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รายละเอียดที่ชัดเจนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทก็ไม่ได้ตอบคำถาม เมื่อมีการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับกรณีของประเทศอินโดนีเซียเพิ่มเติมทางอีเมลไปยังบริษัท
ขณะที่ประเทศตุรกีที่มีการแจกวัคซีนซิโนแวค และมีวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์และไบโอเอ็นเช่นกัน ทางการของตุรกีได้มีการประกาศเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่าจะมีการเสนอให้ฉีดวัคซีนโดสที่ 3 ให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป
โดยนักวิจัยจากประเทศตุรกีที่ศึกษากรณีของบุคลากรทางการแพทย์จำนวนกว่า 1,053 ราย พบข้อมูลว่าหลังจากผ่านไป 3 เดือนแล้ว ในกลุ่มของผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 โดสจำนวน 23 เปอร์เซ็นต์ พบว่ามีการลดลงของแอนติบอดีในร่างกาย ลงไปต่ำกว่าระดับที่เรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพ
นพ.เออร์ฮัน เอเซอร์ (Erhan Eser) ศาสตราจารย์จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมานิซา เซลาล บายาร์ ที่ได้ร่วมศึกษากรณีดังกล่าว ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าการป้องกันนั้นจะลดลงไปด้วยหรือไม่
นพ.เอเซอร์ กล่าวด้วยว่า ปัจจัยเรื่องตัวเลข เปอร์เซ็นต์ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจนถึงบัดนี้พบว่ามีแค่ 2.8 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดที่ได้รับการฉีดวัคซีนจำนวน 2 โดส มีอาการป่วยเท่านั้น และยังไม่พบว่า ในกรณีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแค่โดสเดียวนั้น มีใครที่ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน 28 วันไปจนถึง 3 เดือนแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ก็ยังไม่มีข้อมูลประจักษ์ชัดเจนอย่างเป็นทางการอีกเช่นกันว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อผ่านพ้นจากระยะเวลา 3 เดือนไปแล้ว
“ถ้าหากสถานการณ์เป็นไปโดยราบรื่น เราอาจไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนเพื่อทำการบูสเตอร์ แต่ว่าสถานการณ์ที่ตุรกีนั้นมีความเร่งด่วนมากขึ้น เนื่องจากตอนนี้นั้นต้องเผชิญกับภัยจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้า” นพ.เอเซอร์กล่าว
ข่าวการไม่นับวัคซีนซิโนแวคเข้าไปอยู่ในโครงการวัคซีนของประเทศสิงคโปร์ (อ้างอิงวิดีโอจาก Strait Times)
เรียงเรียงจาก:https://www.scmp.com/news/china/science/article/3140387/coronavirus-sinovac-worlds-most-used-vaccine-how-good-delta
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/