“...เรายังไม่มีผลข้างเคียงที่น่าเป็นห่วงรวมถึงไทยที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้วเกือบ 7 ล้านโดส เรายังไม่มีรายงานผลข้างเคียงที่เกิดจากวัคซีนที่รุนแรง ถือว่าซิโนแวคมีประสิทธิภาพในการใช้จริง สามารถลดการติดเชื้อได้ และที่สำคัญลดการป่วยหนัก ลดการเสียชีวิตได้ใกล้เคียงหรือเท่าเทียมกับวัคซีนอื่น...”
----------------------------------------------------------------
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2564 ที่ประชุมได้อนุมัติการดำเนินการเกี่ยวกับวัคซีนโควิด เพื่อใช้ในประเทศไทย รวม 4 ประเด็น
1.อนุมัติเงินกู้ 6.1 พันล้านบาท เพื่อให้กรมควบคุมโรคจัดซื้อวัคซีน ‘ซิโนแวค’ จำนวน 10.9 ล้านโดส จำนวน 2 ล็อต ระหว่างเดือน ก.ค.-ส.ค.
2.อนุมัติให้กรมควบคุมโรค ดำเนินการจัดซื้อวัคซีน ‘ไฟเซอร์’ จำนวน 20 ล้านโดส โดยให้รับเอาข้อสังเกตจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ไปเจรจากับบริษัท ก่อนที่จะทำสัญญาภายในสัปดาห์นี้
3.อนุมัติให้กรมควบคุมโรค ร่วมลงนามในหนังสือร่วมกับหน่วยงานของสหรัฐอเมริกา เพื่อรับมอบการบริจาควัคซีน ‘ไฟเซอร์’ ให้กับไทย จำนวน 1.5 ล้านโดส
4.อนุมัติให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นตัวกลางในการจัดหาวัคซีน ‘โมเดอร์นา’ ให้กับภาคเอกชน โดยมอบหมายให้ผู้อำนวยการ อภ.เป็นผู้ลงนามในสัญญากับ บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด
(ข่าวประกอบ : ใช้เงินกู้ 6.1 พันล.ซื้อ'ซิโนแวค' 10.9 ล้านโดส ส่วน'ไฟเซอร์'มอบ สธ.จัดหา 20 ล้านโดส)
ทำให้ในขณะนี้ ประเทศไทยมี ‘วัคซีนหลัก’ ที่จัดหาโดยรัฐ – ฉีดฟรีให้กับประชาชน รวม 3 ยี่ห้อ คือ ‘ซิโนแวค – แอสตร้าเซนเนก้า - ไฟเซอร์’
ส่วน ‘วัคซีนทางเลือก’ ที่รัฐไม่สนับสนุนงบประมาณ และจะจัดซื้อโดยภาคเอกชน คือ ‘โมเดอร์นา’
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังคงเกิดความสงสัยในประสิทธิภาพ-ประสิทธิผลของวัคซีนแต่ละชนิด
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวย้ำว่า โดยหลักพื้นฐานการใช้วัคซีนของไทยนี้น วัคซีนทุกชนิดต้องได้รับการรับรองจากองค์อนามัยโลก และได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ส่วนการวัดประสิทธิภาพหรือความสามารถในการควบคุมโรค จะมีวิธีวัด 3 ข้อ คือ 1.ฉีดไปแล้ว เจาะเลือดตรวจหาภูมิคุ้มกัน 2.ทดสอบ ทดลองในมนุษย์กลุ่มเล็กๆ ช่วงก่อนที่จะมีการขึ้นทะเบียนวัคซีน 3.การวัดประสิทธิผลหลังจากที่มีการใช้จริง (Real world)
ส่วนข้อมูล ‘วัคซีนหลัก’ ของไทยนั้น สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้นำมารายงานให้ที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุขรับทราบเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2564 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
วัคซีนซิโนแวค หรือ CoronaVac
ประสิทธิภาพวัคซีน 50.4%
ประสิทธิผลวัคซีนหลังมีการใช้จริง (Real world) มีรายงานจาก 3 ประเทศ ดังนี้
อินโดนีเซีย พบว่า หลังฉีดวัคซีนครบ 2 โดส สามารถป้องกันการป่วยที่มีอาการได้ 94% ป้องกันการป่วยที่ต้องเข้ารักษาโรงพยาบาลได้ 96% และป้องกันการเสียชีวิต 98%
ชิลี พบว่า ป้องกันการป่วยที่รุนแรง 89%
บราซิล พบว่า ป้องกันการป่วยที่มีอาการ 80% ป้องกันการป่วยที่ต้องเข้ารักษาโรงพยาบาลได้ 86% และ ป้องกันการเสียชีวิต 95%
ทั้งนี้ ยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัด สำหรับการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2
“เรายังไม่มีผลข้างเคียงที่น่าเป็นห่วงรวมถึงไทยที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้วเกือบ 7 ล้านโดส เรายังไม่มีรายงานผลข้างเคียงที่เกิดจากวัคซีนที่รุนแรง ถือว่าซิโนแวคมีประสิทธิภาพในการใช้จริง สามารถลดการติดเชื้อได้ และที่สำคัญลดการป่วยหนัก ลดการเสียชีวิตได้ใกล้เคียงหรือเท่าเทียมกับวัคซีนอื่น” นพ.โอภาส กล่าว
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือ Vaxzevria
ประสิทธิภาพวัคซีน 82.4% เมื่อฉีดห่างกัน 12 สัปดาห์
ประสิทธิผลวัคซีนหลังมีการใช้จริง (Real world) มีรายงานจาก 4 ประเทศ ดังนี้
อังกฤษ พบว่า ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ 89% หลังฉีดครบ 2 เข็มมีประสิทธิผลในการป้องกันการเสียชีวิตในผู้สูงอายุ 80%
สกอตแลนด์ พบว่า ลดความรุนแรงของโรคที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล 88%
อิตาลี ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในทุกกลุ่มอายุ 95% หลังฉีดวัคซีนแล้ว 35 วัน
เกาหลีใต้ ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ 90% หลังฉีดเข็มแรก 14 วัน
แอสตร้าเซนเนก้า อยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 (AZD 2816) เปลี่ยนรหัสสารพันธุกรรมของ spike จากสายพันธุ์ดั้งเดิมเป็นสายพันธุ์บีตา
“เมื่อหลายเดือนก่อน การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีข้อกังวลเรื่องภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ปัจจุบันไทยฉีดแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว 4 ล้านกว่าโดส พบว่ามีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นลิ่มเลือดอุดตันเพียง 2-3 ราย และทั้งหมดอยู่ในการสอบสวนหาสาเหตุเพียงเท่านั้น” นพ.โอภาส กล่าว
วัคซีนไฟเซอร์ หรือ Comirnaty
ประสิทธิภาพ 95%
ประสิทธิผลวัคซีนหลังมีการใช้จริง (Real world) มีรายงานจาก 2 ประเทศ ดังนี้
อิสราเอล พบว่า ไวรัสสายพันธุ์ที่ระบาดหลักคือ สายพันธุ์อัลฟ่า (B.1.1.7) ทั้งนี้หลังฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ป้องกันการติดเชื้อได้ 95.3% ป้องกันการป่วยที่ไม่มีอาการ 91.5% ป้องกันการป่วยที่มีอาการ 97% ป้องกันการป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล 97.2% ป้องกันการป่วยที่มีอาการรุนแรง 97.5% และป้องกันการเสียชีวิตได้ 96.7%
สหรัฐอเมริกา พบว่า วัคซีนชนิด mRNA ทั้ง ‘ไฟเซอร์’ และ ‘โมเดอร์นา’ มีประสิทธิผลการลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ 90% หลังได้รับวัคซีนเข็มที่เป็นเวลา 2-3 สัปดาห์
สำหรับการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 ยังไม่มีรายงานแน่ชัด แต่พบว่ามีการศึกษาเพิ่มเติมในการฉีดวัคซีนโดสที่ 3 โดยใช้ original vaccine ระยะห่างการฉีดอยู่ในช่วง 6-12 เดือนหลังฉีดวัคซีนโดสที่ 2
“ส่วนเรื่องความปลอดภัย เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์ป้องกันควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา หรือ CDC รายงานว่า เกิดอาการข้างเคียงจากวัคซีน คือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น 8 รายต่อการฉีด 1 ล้านโดส ซึ่งไทยกำลังจับตาดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด” นพ.โอภาส กล่าว
ทั้งหมดเป็นข้อมูลที่รวบรวมและนำเสนอโดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ที่เป็นข้อมูลของ ‘วัคซีนหลัก’ ที่ถูกใช้ในประเทศไทยในปัจจุบัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/