“...ที่ผ่านมาไม่มีการเร่งรัดสอบสวนทางวินัยกันเลย มีการปล่อยตามคำขอขยายเวลาสอบสวนตลอด แต่คราวนี้จะไม่ยอม หากมีการร้องขอขยายเวลา เช่น ขอ 60 วัน ตนจะให้แค่ 30 วัน และกำชับให้สอบให้แล้วเสร็จ เนื่องจากบางเรื่องดูแล้ว ไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน ที่สำคัญในช่วงปีหลังมานี้ การขอเลื่อยขยายเวลามักอ้างสถานการณ์โควิด-19 ทุกครั้ง…”
.....................................................
นับตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่ผ่านมา แวดวงอัยการ หรือที่ประชาชนทั่วไปเรียกกันว่า ‘ทนายของแผ่นดิน’ กำลังระส่ำระส่ายอย่างหนัก
โดยเฉพาะกรณีอัยการระดับสูงสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ข้อหาขับรถยนต์ชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ที่กลายเป็น ‘รอยด่างพร้อย’ อย่างหนัก ร้อนถึงนายกรัฐมนตรีถึงกับตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณา มีนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธาน ก่อนสรุปรายงานผลส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อ
ปัจจุบันคดีการไม่สั่งฟ้องนายวรยุทธ หรือเรียกกันว่า ‘คดีบอส’ อยู่ระหว่างการพิจารณาอย่างน้อย 2 องค์กร ได้แก่ ในชั้นการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการตั้งองค์คณะไต่สวน โดยมีกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะ เป็นองค์คณะ มีผู้ถูกกล่าวหา 15 ราย ทั้งระดับตำรวจยศ พล.ต.อ. 2 ราย นายตำรวจระดับสูง รวมถึงอัยการชื่อย่อ ช. และ น. ด้วย ส่วนในชั้นการสอบสวนทางวินัย คณะกรรมการข้าราชการอัยการ (ก.อ.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ตั้งองค์คณะใหญ่! ไต่สวนคดีบอส ผู้ถูกกล่าวหา 15 ราย 2 พล.ต.อ.-อัยการด้วย, มติ ก.อ.ตั้ง 'กายสิทธิ์ พิศวงปราการ' ประธานสอบ 'เนตร' สั่งไม่ฟ้องคดีบอส)
นอกจาก ‘คดีบอส’ ยังมีอีกหลายคดีที่ปรากฏชื่ออัยการเข้าไปเกี่ยวข้องจนกลายเป็นข่าวฉาวโฉ่ เช่น คดีอัยการพื้นที่ จ.ภูเก็ต เรียกรับเงินเอกชนอ้างวิ่งเต้นเคลียร์คดี คดีอัยการลักลอบขนนอแรดเข้าไทย เป็นต้น
แต่สาธารณชนอาจยังไม่รู้ว่า คดีดังกล่าวข้างต้น แม้จะมีความคืบหน้าในคดีอาญา บางคดีศาลพิพากษาจำคุกไปแล้ว แต่ในชั้นการสอบสวนทางวินัยกลับไม่มีความคืบหน้า อัยการบางรายที่ถูกกล่าวหายังคงรับราชการอยู่ระหว่างรอถูกสอบสวน?
เมื่อเร็ว ๆ นี้ แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน อสส. เล่าให้สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ฟังว่า ปัญหาการสอบสวนทางวินัยกับเหล่าอัยการที่ถูกกล่าวหากระทำผิดทางวินัยร้ายแรง หรือเกี่ยวพันกับเรื่องทุจริต เป็นไปอย่างล่าช้าอย่างมาก ยกตัวอย่าง กรณีกล่าวหานายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ที่ปรากฏชื่อเป็นผู้ลงนามชี้ขาดไม่สั่งฟ้องนายวรยุทธ กรณีกล่าวหาอัยการ 2 รายในพื้นที่ จ.ภูเก็ต เรียกรับเงินอ้างวิ่งเต้นเคลียร์คดี หรือคดีอัยการลักลอบขนนอแรดเข้าไทย เป็นต้น
แหล่งข่าว ระบุว่า ปัจจุบันมีคดีสอบสวนทางวินัยที่ค้างอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการข้าราชการอัยการ (ก.อ.) ประมาณ 30-40 คดี โดยบางคดีใช้เวลานานหลายปีแล้วยังไม่เสร็จ แต่ปัจจุบันมีความพยายามเร่งรัดให้คดีต่าง ๆ แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยเฉพาะในส่วนอาญาที่ศาลพิพากษาไปแล้ว
“บางคดีที่ล่าช้ามาก เช่น คดีอัยการ จ.สระบุรี ลักลอบขนนอแรด ศาลพิพากษาจำคุก 4 ปีไปแล้วตั้งแต่ปี 2561 แต่ได้รับการประกันตัวเพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อ โดยในการสอบสวนทางวินัยยังทำไม่แล้วเสร็จ เจ้าตัวถูกพักราชการอยู่ อ้างว่า ส่งหนังสือเพื่อให้มาชี้แจงข้อเท็จจริงไม่ได้ หรืออัยการ 2 รายพื้นที่ จ.ภูเก็ต ที่ อสส. สั่งฟ้องคดีอาญาไปแล้ว แต่การสอบสวนวินัยยังไม่เสร็จ ทั้ง 2 รายยังรับราชการอยู่ คดีเหล่านี้มีเยอะแยะเต็มไปหมด” แหล่งข่าว ระบุ
แหล่งข่าว ระบุอีกว่า การอ้างว่าส่งหนังสือให้อัยการที่ถูกกล่าวหามาชี้แจงไม่ได้นั้น ความจริงแล้วไม่ใช่ปัญหาเลย เพราะถ้ายึดตามข้อเท็จจริงและตามระเบียบ หากเจ้าตัวไม่มาชี้แจงภายใน 15 วัน ให้ถือว่าสละสิทธิ์ชี้แจง และให้คณะกรรมการสอบสวนฯสรุปผลสอบได้เลย
สำหรับคดีอัยการ จ.สระบุรี ลักลอบขนนอแรดนั้น ถูกกล่าวหาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอัยการ จ.สมุทรปราการ มีส่วนเกี่ยวข้องในการขนนอแรดเข้าไทย จำนวน 21 ชิ้น โดนจับที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดย อสส. (ขณะนั้น) มีคำสั่งพักราชการอัยการรายนี้ ตามมาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ.ข้าราชการอัยการ พ.ศ. 2553 ต่อมามีการฟ้องคดีต่อศาล จ.สมุทรปราการ โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2561 ศาลพิพากษาจำคุกอัยการรายดังกล่าว 4 ปี ไม่รอลงอาญา แต่เจ้าตัวได้รับการประกัน เพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ (อ่านประกอบ : ศาลสั่งคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา อัยการ จ.สระบุรี-พวก คดีขนนอแรดเข้าไทย)
ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะหากอ้างถึง มาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ.อัยการฯ หากถูกฟ้องคดีอาญา อสส.สามารถพักราชการได้นั้น เทียบเคียงกับกรณีอัยการ 2 รายพื้นที่ จ.ภูเก็ต ถูกกล่าวหาเรียกรับเงินวิ่งเต้นเคลียร์คดี โดยปรากฏหลักฐานเป็นคลิปเสียง กรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเมื่อปลายปี 2563 ต่อมา อสส. มีคำสั่งฟ้องเมื่อ 10 มิ.ย. 2564 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 8 แต่ยังไม่มีรายงานว่า อสส. สั่งพักงาน 2 อัยการดังกล่าวแล้วหรือไม่? (อ่านประกอบ : ฟ้อง 2 อัยการภูเก็ตคดีคลิปเสียงฉาวเรียกรับเงิน-ประสานนำตัวส่งศาลคดีทุจริตฯภาค 8)
ด้านนายพชร ยุติธรรมดำรง ประธาน ก.อ. ป้ายแดง ชี้แจงสำนักข่าวอิศราถึงประเด็นปัญหาข้างต้นว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง (โปรดเกล้าฯ 28 พ.ค. 2564) ได้สอบถามเรื่องเหล่านี้ทันที เพื่อเร่งรัดให้มีการสรุปข้อเท็จจริงในการสอบสวนวินัยร้ายแรง รวมถึงเรื่องการสอบสวนวินัยอัยการรายอื่น ๆ อีกประมาณ 30 เรื่อง แต่ขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ต้องทำภายใน 69 วันตามระเบียบฯ เพราะแต่ละเรื่องใช้เวลาการสอบสวน หรือมีการขยายเวลาสอบสวนหลายครั้ง
นายพชร ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาไม่มีการเร่งรัดสอบสวนทางวินัยกันเลย มีการปล่อยตามคำขอขยายเวลาสอบสวนตลอด แต่คราวนี้จะไม่ยอม หากมีการร้องขอขยายเวลา เช่น ขอ 60 วัน ตนจะให้แค่ 30 วัน และกำชับให้สอบให้แล้วเสร็จ เนื่องจากบางเรื่องดูแล้ว ไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน ที่สำคัญในช่วงปีหลังมานี้ การขอเลื่อยขยายเวลามักอ้างสถานการณ์โควิด-19 ทุกครั้ง
นี่คือประเด็นปัญหาที่ยังถูกซุกอยู่ใต้พรมสำนักงาน อสส. และจนกระทั่งนายพชรเข้ามาดำรงตำแหน่งประธาน ก.อ. สั่งลุยรื้อ ‘ขยะใต้พรม’ ทั้งหมด
เพราะหากปล่อยให้บุคคลที่ถูกกล่าวหา ‘มีมลทิน’ ทำงานอยู่ต่อไป จะทำให้ประชาชนเชื่อถือและศรัทธาได้อย่างไร?
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายพชร จาก https://mpics.mgronline.com/, ภาพสำนักงาน อสส. จาก https://static.thairath.co.th/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/