"...เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 มีผู้นําเงินประกันสัญญามาส่งมอบให้แก่ผู้เสียหายแต่จําเลยไม่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ นางสาว ร. จึงไปรื้อลิ้นชักโต๊ะทํางานของจําเลยเพื่อนําใบเสร็จรับเงินมาออกเป็นหลักฐานการรับเงิน แต่พบว่ามีการออกใบเสร็จหลายเล่มทั้งไม่มีการสลักหลังและลงวันที่ ซึ่งโดยปกติจะมีใบเสร็จเพียงหนึ่งถึงสองเล่มเท่านั้น จึงไปทําการตรวจสอบกับฝ่ายพัฒนารายได้ พบว่าจําเลยไม่ได้นําส่งเงินหลายรายการ..."
................................................
จำเลยมีความผิด ตามมาตรา 147 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามมาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 ปี
จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 คงจำคุก กระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวม 64 กระทง เป็นจำคุก 128 ปี 348 เดือน แต่เมื่อรวมโทษจำคุก ตามมาตรา 91 (3) แล้ว ให้คงจำคุกมีกำหนด 50 ปี
พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับจำเลยไม่ได้บรรเทาผลร้ายด้วยการนำเงินมาคืนให้แก้ผู้เสียหายให้ครบถว้น จึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษให้ได้
ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินที่ยังไม่คืน 1,903,094.50 บาท แก่ผู้เสียหาย
คือ คำพิพากษาของ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ที่ตัดสินคดีกล่าวหา นางณัทษมน เหมภัทรธร หรือมารศรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี 3 สำนักการคลัง เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เบียดบังค่าตอบแทนสวัสดิการพนักงานและลูกจ้าง เงินค่าตอบแทนคณะกรรมการชุมชน และเงินประกันสัญญาจ้างเหมาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 157 ประกอบมาตรา 90 และ 91 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
(อ่านประกอบ : คุก 128 ปี 348 ด. ติดจริง 50! อดีตเจ้าพนง.การเงิน พัทยา เบียดบังเงินหลวง)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลคำพิพากษาคดีนี้ พบว่ามีการระบุรายละเอียดพฤติการณ์การกระทำความผิดของ นางณัทษมน เหมภัทรธร หรือมารศรี ว่ามีการเบียดบังค่าตอบแทนสวัสดิการพนักงานและลูกจ้าง เงินค่าตอบแทนคณะกรรมการชุมชน และเงินประกันสัญญาจ้างเหมาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว เป็นจำนวนกว่า 169 ครั้ง รวมความเสียหายเป็นจำนวนเงิน 2,237,094.50 บาท ปรากฎรายละเอียดดังต่อไปนี้
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม 2550 ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2552 จําเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน ตําแหน่ง เจ้าพนักงานการเงินและบัญชี 3 สํานักการคลัง เมืองพัทยาซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รูปแบบพิเศษ และจําเลยมีหน้าที่ในการจัดทําเช็คค่าตอบแทนประเภทเงินสวัสดิการแก่พนักงานและลูกจ้าง เงินค่าตอบแทนล่วงเวลาและเงินค่าตอบแทนแก่กรรมการชุมชนในการจัดซื้อจัดจ้าง แล้วนําจ่ายให้กับผู้มีสิทธิขอรับเงินของเมืองพัทยา พร้อมจัดเก็บฎีกาให้เรียบร้อย มิให้สูญหาย และรับผิดชอบการรับฝากเงินนอกงบประมาณ ประเภทเงินประกันสัญญา ตรวจสอบการครบกําหนดเงินประกันสัญญาพร้อมทั้งแจ้งเจ้าหนี้เงินประกันสัญญาให้ดําเนินการถอนคืนเมื่อครบกําหนด ตามคําสั่งเมืองพัทยาที่ 1738/2550 แล้วจําเลยได้ทําการเบิกเงินของผู้เสียหายให้แก่ผู้มีสิทธิขอเบิกในรายการต่าง ๆ หลายรายการกับรับเงินประกันสัญญาจากผู้รับจ้างแล้วไม่นําจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับกับไม่นําส่งเงินให้แก่ผู้เสียหายแต่เบียดบังไปเป็นประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริตรวมทั้งหมด 169 ครั้ง เป็นเงิน 2,237,094.50 บาท
หลังเกิดเหตุจําเลยนําเงินมาคืนให้แก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 200,000 บาท
เหตุเกิดที่ ตําบลหนองปรือ อําเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 147 และ 157 และให้คืนหรือชดใช้เงินจํานวน 2,037,094.50 บาท แก่ผู้เสียหาย
จําเลยให้การรับสารภาพ
ในการสอบข้อเท็จจริง จําเลยรับว่ายักยอกเงินของผู้เสียหายไปจริง โดยนําไปชําระดอกเบี้ยให้แก่บุคคลภายนอกที่นําเงินมาให้จําเลยเพื่อนําไปให้ผู้อื่นกู้ยืม
โดยจําเลยมีหน้าที่ในการจัดทําเช็คเพื่อจ่ายเป็นเงินสวัสดิการแก่พนักงานและลูกจ้าง เงินค่าตอบแทนล่วงเวลาและเงินค่าตอบแทนแก่กรรมการชุมชนที่มาขอเบิกจากผู้เสียหาย พร้อมนําจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิขอรับเงินแล้วจัดเก็บฎีกาให้เรียบร้อยมิให้สูญหายและมีหน้าที่รับผิดชอบในการรับฝากเงินนอกงบประมาณ ประเภทเงินประกันสัญญา จัดทําทะเบียนคุมให้เรียบร้อยเป็นปัจจุบัน ตรวจสอบการครบกําหนดเงินประกันสัญญา พร้อมทั้งแจ้งเจ้าหนี้เงินประกันสัญญาให้มาดําเนินการถอนคืนเมื่อครบกําหนด
ขั้นตอนการปฏิบัติงานในการจ่ายเงินค่าสวัสดิการพนักงานและลูกจ้าง เมื่อมีการอนุมัติฎีกาเสร็จสิ้นแล้วจําเลยจะเป็นผู้จัดทําเช็คสั่งจ่าย โดยหากยอดเงินเกินกว่าสองพันบาทต่อราย จะจ่ายเป็นเช็คในนาม ผู้มีสิทธิได้รับเงิน หากยอดเงินต่ำกว่าสองพันบาทต่อราย จะทําการรวมยอดเงินแต่ละรายแล้วเขียนเช็คในนาม นางสาว ร. ร่วมกับจําเลย แล้วนําเช็คไปขึ้นเงิน โดยจําเลยมีหน้าที่จ่ายเงินสดให้แก่ผู้มีสิทธิรับเงินทุกราย
เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 มีผู้นําเงินประกันสัญญามาส่งมอบให้แก่ผู้เสียหายแต่จําเลยไม่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ นางสาว ร. จึงไปรื้อลิ้นชักโต๊ะทํางานของจําเลยเพื่อนําใบเสร็จรับเงินมาออกเป็นหลักฐานการรับเงิน แต่พบว่ามีการออกใบเสร็จหลายเล่มทั้งไม่มีการสลักหลังและลงวันที่ ซึ่งโดยปกติจะมีใบเสร็จเพียงหนึ่งถึงสองเล่มเท่านั้น จึงไปทําการตรวจสอบกับฝ่ายพัฒนารายได้ พบว่าจําเลยไม่ได้นําส่งเงินหลายรายการ
ต่อมาผู้เสียหายแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ได้ความว่า จากการตรวจสอบเอกสารยอดเงินต่อรายซึ่งเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไป พบความผิดปกติของการปฏิบัติงานว่า มีการรวมยอดเพื่อเขียนเช็คในนามนางสาว ร. และจําเลย แล้วนําไปเบิกจ่ายเป็นเงินสด แล้วบุคคลทั้งสองจะลงลายมือชื่อหลังเช็ค พร้อมมอบสําเนาบัตรประจําตัวประชาชนให้กับพนักงานขับรถไปเบิกเงินจากธนาคาร
โดยพนักงานขับรถจะนําเงินที่เบิกได้มามอบให้แก่จําเลย และจําเลยเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายและเก็บรักษาเงินแล้วแจ้งผู้มีสิทธิได้รับตามรายชื่อเพื่อมารับเงินสดหรือเช็คและเมื่อจ่ายแล้วผู้รับเงินจะต้องลงลายมือชื่อเพื่อเป็นหลักฐาน 2 แห่ง คือ ในรายงานการจัดทําเช็คในช่องลายมือชื่อผู้รับเงิน และในใบหน้าของฎีกาเบิกเงินช่วงท้าย หัวข้อหลักฐานการเบิกจ่ายเงิน
โดยในปีงบประมาณ 2551 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2551 และในปีงบประมาณ 2552 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551 ถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2552 ปรากฎรายการที่ไม่มีการลงลายมือชื่อของผู้ขอรับเงินสวัสดิการ และในการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่ คณะกรรมการชุมชน ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเปิดซองสอบราคาและกรรมการตรวจการจ้าง
ปรากฏพบว่ามีการลงลายมือชื่อรับเงินของกรรมการชุมชนไม่ครบถ้วน ในส่วนเกี่ยวกับการรับฝากเงินนอกงบประมาณ ประเภทเงินประกันซองประกวดราคา หรือประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเงินประกันสัญญา ที่ผู้เข้าเสนอราคาหรือผู้รับจ้างจะมาทําสัญญากับผู้เสียหายโดยจะนําหลักประกันเป็นเงินสดหรือแคชเชียร์เช็คไปมอบให้กับจําเลย แล้วจําเลยจะออกใบเสร็จรับเงินให้กับผู้เข้าเสนอราคาหรือผู้รับจ้างนั้นเป็นหลักฐาน
ในช่วงเย็นของทุกวันจําเลยจะต้องนําเงินสดหรือแคชเชียร์เช็คที่จัดเก็บได้ไปส่งให้กับสํานักการคลังพร้อมกับใบเสร็จรับเงินและใบนําส่งเงิน
จากการตรวจสอบเอกสารแล้วปรากฏว่า จําเลยได้รับเงินประกันซองและเงินประกันสัญญาแล้วไม่นําส่งสํานักการคลังอีกด้วย
โดยเมื่อระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม 2550 ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2552 จําเลยเบิกเงินของผู้เสียหายจากธนาคารและรับเงินแทนผู้เสียหายดังกล่าว ข้างต้นรวม 169 ครั้ง
ต่อมาผู้เสียหายจึงมีคําสั่งไล่จําเลยออกจากราชการและดําเนินคดีแก่จําเลย
ในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จําเลยก็ให้ถ้อยคํารับว่ายักยอกเงินของผู้เสียหายไปจริง หลังเกิดเหตุจําเลยนําเงินสดและเงินหุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานเทศบาล ไปชําระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายแล้วรวมเป็นเงิน 334,000 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่าจําเลยกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่
ในชั้นพิจารณาของศาลมี นางสาว ร. และ นาง ส. มาเบิกความเป็นพยานยืนยันข้อเท็จจริงสรุปให้เห็นถึงพฤติการณ์ที่จําเลยเบิกใบเสร็จหลายเล่มเพื่อนําไปใช้ในช่วงเวลาเกิดเหตุและพบความผิดปกติ
เมื่อทําการตรวจสอบก็พบว่า จําเลยไม่ได้นําเงินของผู้เสียหายที่เบิกมาจากธนาคารไปจ่ายให้กับผู้มีสิทธิขอเบิกและจําเลยรับเงินหรือเช็คหลักประกันสัญญาจากผู้ที่เข้าทําสัญญากับผู้เสียหายนํามาวางไว้แล้วไม่ได้นําส่งให้แก่ผู้เสียหาย
พยานทั้งสองปากเป็นผู้ร่วมงานใกล้ชิดกับจําเลย ไม่ปรากฏว่าเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจําเลยมาก่อน ทั้งเป็นผู้ที่ได้รู้ได้เห็นมาด้วยตนเอง ในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ก็ให้การยืนยันไว้เช่นเดียวกันนี้มาโดยตลอด จึงมีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือและยังสอดคล้องกับ รายงานการจัดทําเช็คและฎีกาเบิกเงินตามงบประมาณรายจ่าย ที่ไม่มีการลงลายมือชื่อผู้รับเงินไว้ในช่องผู้รับเงิน
ทั้งจําเลยที่ให้การรับว่ายักยอกเงินของผู้เสียหายไป มาตั้งแต่ในชั้นที่ผู้เสียหายแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ชั้นไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตลอดจนในชั้นพิจารณาของศาล พยานหลักฐานจึงฟังได้จนเป็นที่พอใจแล้วว่า จําเลยกระทําความผิดจริงตามฟ้องจริง
เมื่อจําเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต จึงเป็น การกระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นบทเฉพาะของบททั่วไปตามมาตรา 157 แล้ว ย่อมไม่จําต้องปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า การกระทําของจําเลยเป็นความผิดหลายกรรมเพียงใด
ซึ่งในเรื่องนี้โจทก์บรรยายฟ้องและทางไต่สวนปรากฏว่า จําเลยกระทําความผิดตั้งแต่ วันที่ 25 ตุลาคม 2550 จนถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2552 รวมทั้งหมด 169 ครั้ง
เห็นว่า การที่จําเลยมีหน้าที่เบิกเงินสวัสดิการของผู้เสียหายจากธนาคารเพื่อนํามาจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิก็ดี การจัดทําเช็คก็ดี ตลอดจนการที่จะต้องเบิกเงินหรือรับเงินประกันตามสัญญาแทนผู้เสียหายดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นก็ดี
จําเลยปฏิบัติหน้าที่โดยกระทําการเบิกและรับเงินเป็นครั้งในแต่ละวัน, บางวันเพียงรายการเดียว บางวันหลายรายการ แล้วจําเลยทําการยักยอกไปในแต่ละวันโดยไม่ได้เลือกว่าเป็นเงินของผู้มีสิทธิรับรายใด
แต่จากการตรวจสอบเอกสารถึงจะทราบได้ว่าจําเลยยักยอกเงินไปในวันนั้นจํานวนเท่าใด จึงฟังได้ว่าจําเลยมีเจตนากระทําความผิดฐานยักยอกในแต่ละวันต่อเนื่องกันเพียงกรรมเดียวเท่านั้น
ในส่วนนี้จึงเป็นการกระทําความผิดอีกเพียง 30 กรรมเท่านั้น มิใช่ 135 กรรม แม้จําเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 ดังนี้เมื่อรวมกันแล้วเป็นการกระทําความผิดทั้งสิ้น 24 กระทง
ส่วนที่โจทก์ขอให้จําเลยชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายนั้น ก็ได้ความว่า นอกจากจําเลยจะนําเงินมาชําระคืนแก่ผู้เสียหาย จํานวน 200,000 บาทแล้ว จําเลยยังนําเงินค่าหุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์ไปชําระให้แก่ผู้เสียหายอีกด้วยรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 334,000 บาท ยังคงเหลือส่วนที่ผู้เสียหายไม่ได้รับคืนอีกเพียง 1,903,094.50 ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ผู้เสียหายต้องสูญเสียไปเนื่องมาจากการกระทําความผิดของจําเลย จึงมีสิทธิได้รับชดใช้คืนจากจําเลยได้
อนึ่ง ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26 ) พ.ศ. 2560 มาตรา 7 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 147 และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน แต่ปรากฏว่าโทษจําคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจําคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษสูงกว่าตามกฎหมายเดิมต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณ จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จําเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 การกระทําของจําเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จําคุกกระทงละ 5 ปี ซึ่งเป็นอัตราโทษที่ต่ำที่สุดแล้ว
จําเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจําคุกกระทงละ 2 ปี 5 เดือน รวม 64 กระทง เป็นจําคุก 128 ปี 348 เดือน
แต่เมื่อรวมโทษจําคุกทุกกระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) แล้ว ให้คงจําคุกมีกําหนด 50 ปี พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับจําเลยไม่ได้บรรเทาผลร้ายด้วยการนําเงินมาคืนให้แก่ผู้เสียหายให้ครบถ้วน
จึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษให้ได้
ให้จําเลยคืนหรือชดใช้เงินที่ยังไม่คืน 1,903,094.50 บาท แก่ผู้เสียหาย
คําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแห่งให้เป็นพับ
อ่านข่าวในหมวดเดียวกัน
คุก 4 ปี 12 ด.-คืน 8 ล.! อดีตพนง.ออมสิน กาฬสินธุ์ แอบอ้างชื่อลูกค้ากู้เงิน-ปลอมสลากพิเศษ
ยืนโทษ คุก 5 ปี ! อดีต ผอ.ร.ร.จุฬาภรณฯพิษณุโลก เอื้อปย.ร้านค้า-เช่ารถโดยสารเก่า
คุก 128 ปี 348 ด. ติดจริง 50! อดีตเจ้าพนง.การเงิน พัทยา เบียดบังเงินหลวง
ป.ป.ช.ค้าน อสส.ไม่อุทธรณ์คดี! รอลงอาญา คุก 2 ปี 6 ด. อดีตนายก อบต.ทรัพย์ไพวัลย์
คุก 2 ปี 6 ด.! อดีตนายก อบต.เมืองหลวง ศรีษะเกษ ทุจริตจัดซื้อเมล็ดพันธุ์พืช-ฝึกอบรม
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage