"...ปัจจุบัน สังคมไทย มีคู่ชีวิตเพศเดียวกันและคนข้ามเพศจำนวนมากที่ใช้ชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัว เฉกเช่น คู่ชาย-หญิงทั่วไป แต่สถานภาพของคู่ชีวิตดังกล่าวกลับไม่มีกฎหมายรับรอง ทำให้บุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายทั้งในเรื่องสิทธิและหน้าที่ที่จะพึงมีพึงได้ ทั้งที่ 'สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว' เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งครอบครัวในรูปแบบใดก็ตาม การก่อตั้งครอบครัวตามธรรมชาติ หรือการก่อตั้งครอบครัวบุญธรรม..."
----------------------------------
เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มหลากหลายทางเพศ มีการจัดงานเฉลิมฉลอง สินค้าและบริการต่างๆ มีการจัดแคมเปญ กิจกรรมต่างภายใต้ธงสีรุ้ง
สังคมทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลง เปิดกว้างยอมรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมากขึ้น หลายประเทศเริ่มมีการแก้กฎหมาย และมีการผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อปกป้องสิทธิและความเสมอภาคของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการมีกฎหมายคุ้มครองการไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ด้วยเหตุจากเพศ รวมถึงการจัดตั้งครอบครัวด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันมีการอนุญาตและรับรองการแต่งงานของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศหรือเพศเดียวกันให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวม 29 ประเทศ ประกอบด้วย เนเธอร์แลนด์ สวีเดน ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ เยอรมนี เบลเยียม โปรตุเกส อุรุกวัย กรีนแลนด์ ออสเตรเลีย สเปน ไอซ์แลนด์ นิวซีแลนด์ โคลอมเบีย แคนาดา อาร์เจนตินา สหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ แอฟริกาใต้ เดนมาร์ก ลักเซมเบิร์ก หมู่เกาะแฟไร นอร์เวย์ บราซิล สหรัฐอเมริกา มอลตา ออสเตรีย ไต้หวัน และคอสตาริกา
สำหรับประเทศไทย มีการเปิดกว้างมากขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคมอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สื่อ การเมือง ภาคธุรกิจ สถานศึกษา ทุกพื้นที่ส่วนใหญ่เริ่มเปิดประตูทำความเข้าใจและโอบรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่สิทธิขั้นพื้นฐานอย่างการมี 'ครอบครัว' ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ยังคงเป็นเรื่องที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ และเป็นวาระที่ต้องผลักดันกันอยู่
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหว การผลักดันวาระทางกฎหมายสำหรับการก่อตั้งครอบครัวของกลุ่มหลากหลายทางเพศ พบประเด็นที่น่าสนใด ดังนี้
ปัจจุบัน สังคมไทย มีคู่ชีวิตเพศเดียวกันและคนข้ามเพศจำนวนมากที่ใช้ชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัว เช่น คู่ชาย-หญิงทั่วไป แต่สถานภาพของคู่ชีวิตดังกล่าวกลับไม่มีกฎหมายรับรอง ทำให้บุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายทั้งในเรื่องสิทธิและหน้าที่ที่จะพึงมีพึงได้ ทั้งที่ 'สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว' เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งครอบครัวในรูปแบบใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการก่อครอบครัวตามธรรมชาติ หรือการก่อตั้งครอบครัวบุญธรรม
โดยสิทธิดังกล่าวนี้ได้รับการรับรองไว้ในตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคีหลายฉบับ อาทิ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ค.ศ.1966 รวมทั้งในหลักการยอกยาการ์ตา (Yogyakarta Principles) หลักการว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ได้ระบุไว้ชัดเจนในข้อ 24 อีกทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เองก็ได้รับรองหลักการห้ามเลือกปฏิบัติไว้เช่นกัน
@ 'การตั้งครอบครัว' สิทธิขั้นพื้นฐานที่ถูกปฎิเสธ
เมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา นายนที ธีระโรจนพงษ์ และ นายอรรถพล จันทวี คู่รักคู่หนึ่ง เดินทางไปจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขต แต่ถูกปฏิเสธ จึงได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง จนนำมาสู่แนวคิดการกำหนดกฎหมายแยกออกมาโดยการร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต เพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว
และในวันที่ 14 ก.พ. 2563 น.ส.เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และ น.ส.พวงเพชร เหมคำ คู่รักเพศเดียวกันที่ใช้ชีวิตร่วมกันมานานมากกว่า 12 ปี เดินทางไปจดทะเบียนสมรส แต่ก็ถูกปฏิเสธ โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตไม่สามารถดำเนินการให้ได้ โดยให้ความเห็นว่า เมื่อตรวจสอบเอกสารแล้ว ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งการจดทะเบียนสมรส
ต่อมาในวันที่ 9 ก.ค. 2563 น.ส.เพิ่มทรัพย์ และ น.ส.พวงเพชร ได้แต่งตั้งทนายความให้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยศาลเยาวชนฯ ได้รับคำร้องและส่งคำร้องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่จำกัดว่าการสมรสอนุญาตเฉพาะคู่รักชาย-หญิงนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในวันที่ 31 ส.ค. 2563 ปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องแล้ว และได้เลื่อนนัดฟังคำตัดสิน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด เป็นวันที่ 24 ก.ย.2564
@ 2 แนวทางสู่ การสร้างครอบครัวที่เท่าเทียม
เมื่อสังคมไทย เริ่มให้ความสนใจ เปิดกว้าง และตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศ ความหลากหลายทางเพศมากขึ้น จึงได้มีการเริ่มผลักดันกฎหมายรับรองสิทธิ 'การก่อตั้งครอบครัว' ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยมี 2 แนวทางหลัก ประกอบด้วย
1. การเสนอให้ยกร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ออกมาเป็นกฎหมายแยกต่างหาก เพื่อรับรองสิทธิตามกฎหมายของคู่รักเพศเดียวกันเป็นการเฉพาะ
2. การเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วย การสมรส ที่เดิมระบุเพียง 'ชาย-หญิง' นั้น สามารถสมรสได้ตามกฎหมาย ให้แก้เป็นให้ 'ทุกเพศ' สามารถสมรสได้เช่นเดียวกัน เพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวอย่างเท่าเทียม
นายนที ธีระโรจนพงษ์ และ นายอรรถพล จันทวี
ภาพจาก: ผู้จัดการออนไลน์
@ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่เท่ากับ สมรสเท่าเทียม
โดยจุดเริ่มต้นของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับแรก เกิดขึ้นช่วงปี 2556 โดยกระทรวงยุติธรรม แต่ถูกปัดตกไป ก่อนเข้าสู่สภา ต่อมาได้มีภาคประชาชนได้พยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ภาคประชาชน แต่ก็ไม่คืบหน้า ความรับผิดชอบหลักในร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตจึงกลับมาอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐ คือ กระทรวงยุติธรรมอีกครั้ง
เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบและรับทราบ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
หลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.คู่ชีวิต กลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์ จนปรากฎ #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต เนื่องจากหลายคนมองว่า การออกร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นการแบ่งแยกเพศ แทนที่จะมีการปรับแก้และใช้ พ.ร.บ.เดียวกันกับการแต่งงานระหว่างชาย-หญิง เพื่อให้ทุกเพศเท่าเทียมกัน อีกทั้ง พ.ร.บ.คู่ชีวิตนั้น ยังไม่ได้ให้สิทธิต่างๆ ของคู่ชีวิตได้เท่าเทียมกับคู่สมรส และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังไม่เปิดให้คนทุกเพศสามารถหมั้นกันได้อย่างถูกกฎหมาย แตกต่างจากการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
@ ครม.ส่งต่อหน่วยงานศึกษาพิจารณาผลกระทบ
ส่วนร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่ ครม.มีมติเห็นชอบ เป็นการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 ภายหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับในเรื่องนี้มีผลใช้บังคับแล้ว
ครม.มีมติเห็นควรให้กระทรวงยุติธรรมร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง พิจารณาศึกษาผลกระทบและแนวทางในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและหน้าที่ที่คู่ชีวิตที่มีเพศเดียวกันควรได้รับอย่างเท่าเทียมกับคู่สมรสระหว่างชายและหญิงตามกฎหมายอื่นด้วย ตามข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.รวม 2 ฉบับ ที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เป็นร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว โดยได้ปรับปรุงแก้ไข และได้ยกร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ขึ้นมาอีกฉบับหนึ่งเพื่อให้สอดคล้องกัน มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดบทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับการจดทะเบียนคู่ชีวิตและการเลิกการเป็นคู่ชีวิต สิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่ชีวิต การจัดการทรัพย์สิน การรับบุตรบุญธรรม และมรดก เพื่อรองรับความสัมพันธ์การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันโดยกำเนิด โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรส จะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน
น.ส.เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และ น.ส.พวงเพชร เหมคำ
ภาพจาก: มนธ.เพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (for-sogi)
โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต มีรายละเอียดดังนี้
1.'คู่ชีวิต' หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้
2.กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้
3.กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย
4.กำหนดให้ในกรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ย่อมบรรลุ นิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต
5.กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 3 และ 5 (2) และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 29 วรรคหนึ่ง) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
6.กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน
7.คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียน รับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตน ด้วยก็ได้
8.เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่ เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
9.กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส มาตรา 1606 1652 1563 ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม
ส่วน ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. .... มีรายละเอียด ดังนี้
1.กำหนดให้ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสหรือคู่ชีวิตอยู่ไม่ได้
2.กำหนดให้เหตุฟ้องหย่า รวมถึงกรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต
3.กำหนดให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต
@ ไทยเปิดกว้าง แต่ยังไม่ยอมรับ
'วาดดาว' หรือ น.ส.ชุมาพร แต่งเกลี้ยง นักกิจกรรมเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า ปัจจุบัน สถานการณ์ในสังคมไทย เปิดกว้างมากขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคมอย่างเห็นได้ชัดในสังคมเมือง โดยสังเกตุได้จาะนโยบายการเปิดพื้นที่และเสียงตอบรับของสื่อ ที่มีการนำเสนอประเด็นดังกล่าวได้โดยไม่เหนียมอายเหมือนเช่นในอดีต
น.ส.ชุมาพร กล่าวต่ออีกว่า ส่วนสถานการณ์โลก สหรัฐอเมริกาได้มีการเฉลิมฉลองการสมรสเท่าเทียมในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกค่อนข้างที่จะตื่นตัวกับประเด็นดังกล่าว เช่นเดียวกับประเทศไทยเอง ก็ได้รับอิทธิพลจากประเทศตะวันตกที่เปิดกว้างมากขึ้น และทำให้ตื่นตัวมากขึ้นเช่นกัน
"หลังจากอเมริกามีการเฉลิมฉลองการสมรสเท่าเทียม ไทยตื่นตัวมากขึ้น ได้รับอิทธิพลจากประเทศตะวันตกที่เปิดกว้างมากขึ้น คนไทยเลยโอเคกับมันมากขึ้น เช่นเดียวกับการที่คนเราได้รับอิทธิพลเรื่องเทรนด์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น แฟชั่น เน็ตฟลิกซ์" น.ส.ชุมาพรกล่าว
ส่วนภาพที่คาดหวังไว้ในอนาคตสำหรับกลุ่มความหลากหลายทางเพศ น.ส.ชุมาพร กล่าวว่า ถึงแม้สังคมไทยในปัจจุบันจะเปิดกว้างสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่เป็นการอนุญาตให้มีอยู่ได้ ไม่ใช่การยอมรับ โดยการยอมรับที่อยากจะให้เกิดขึ้นสังคม คือ การยอมรับ และได้รับการปกป้องคุ้มครองผ่านทางกฎหมาย เพื่อเป็นหลักประกันในการปกป้องคุ้มครองสิทธิ
น.ส.ชุมาพร แต่งเกลี้ยง นักกิจกรรมเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ
ภาพจาก: THE TRUTH
น.ส.ชุมาพร อธิบายเพิ่มเติมว่า สิ่งที่กลุ่มความหลากหลายทางเพศต้องการการยอมรับผ่านทางกฎหมาย แบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นที่ 1 การยุติการเลือกปฏิบัติ ด้วยเหตุอันเนื่องจากเพศ แม้ว่าประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 แล้วก็ตาม แต่ยังคงมีการเลือกปฏิบัติอยู่ เช่น เครื่องชุดนักเรียน นักศึกษา รวมถึงเครื่องแบบข้าราชการที่ยังไม่เปิดกว้างยอมรับให้กับเพศทางเลือก หรือบุคคลข้ามเพศที่ต้องการแสดงตัวตนอย่างที่ต้องการ ถือว่ายังไม่ใช่การยอมรับอย่างแท้จริง
สำหรับประเด็นที่ 2 นโยบายสิทธิการจัดตั้งครอบครัว หรือที่มีการต่อสู้ เรียกร้อง ผลักดันในนามของ 'การสมรสเท่าเทียม' น.ส.ชุมาพร กล่าวว่า ถึงแม้ว่าภาคธุรกิจ จะเปิดกว้างยอมรับ เช่น การอนุญาตให้กู้ซื้อบ้านร่วมกันได้ ซื้อประกันชีวิตได้ แต่ในส่วนขั้นตอนของการใช้กฎหมายจริงๆ อาจจะต้องไปต่อสู้ในชั้นศาล
"คู่รักหญิงรักหญิง ซื้อบ้านร่วมกัน หรือประกันชีวิตร่วมกัน จะต้องไปสู้ต่อในชั้นศาลอีกหรือไม่ ยังไม่มีภาคปฏิบัติให้เราได้เห็น แต่ตัวบทกฎหมายยังไม่คุ้มครอง เป็นเพียงกฎเกณฑ์ของภาคธุรกิจเท่านั้น" น.ส.ชุมาพรกล่าว
น.ส.ชุมาพร กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่ 3 คือ การยอมรับสำนึกทางเพศ หรือเพศสภาพที่เกิดขึ้น ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ กะเทย หรือบุคคลข้ามเพศ ไม่สามารถเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อได้ หรือ นอน-ไบนารี่ (Non-binary) ยังคงต้องอยู่ภายใต้กรอบของเพศชาย-หญิงเหมือนเดิม
ทั้งหมดนี้ เป็นการรวบรวมสรุปสถานการณ์ผลักดันวาระการก่อตั้งครอบครัวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศให้ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นที่ยอมรับในสังคม ต้องติดตามกันต่อไปว่าในอนาคต พ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือการแก้กฎหมายใดๆ ที่รองรับการจัดตั้งครอบครัวของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศให้มีสิทธิเท่าเทียมกับชาย-หญิง และสถานการณ์ความเท่าเทียมกันในสังคม
อ่านประกอบ: 'มิถุนายน' เดือนสีรุ้งแห่งความภูมิใจของกลุ่มหลากหลายที่ไม่จำกัดเพศ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage