บช.สอท. มีหน้าที่เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้ ตร. ในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของ บช.สอท. และหน่วยงานในสังกัด ดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทั่วราชอาณาจักร ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และกฎหมายอื่น
.......................................................................
หลายคนคงทราบแล้วว่า เมื่อกลางเดือน มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา มีการแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2563 อย่างเป็นทางการ ถึงการยุบเลิกตำแหน่งมากถึง 1,482 ตำแหน่ง ตั้งแต่ระดับผู้กำกับ (สอบสวน) รองผู้กำกับ รองสารวัตร จนถึง ผบ.หมู่ แบ่งเป็น
1.ตำแหน่ง ระดับ รอง ผกก. ถึง ผบ.หมู่-รอง สว.สังกัด กก.สส.บก.น.1-9 ของ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และ กก.สืบสวนภูธรจังหวัด (ภ.จว.) ต่าง ๆ ของ ภ.1-9 รวมจำนวน 1,190 ตำแหน่ง
2.ตำแหน่ง ผกก.(สอบสวน) สังกัดกลุ่มงานสอบสวน บก.สส. ของ บช.น. ภ.2 ภ.4 ภ.5 และ ภ.8 หน่วยละ 1 ตำแหน่ง รวมจำนวน 5 ตำแหน่ง
3.ตำแหน่ง ผบ.หมู่-รอง สว. ของหน่วยงานสังกัด บช.ตชด. ซึ่งเป็นตำแหน่งว่าง และมีความจำเป็นน้อย รวมจำนวน 287 ตำแหน่ง (อ่านประกอบ : มติ ก.ตร.ยุบเลิก 1,482 ตำแหน่ง ตั้งแต่ระดับ ผกก.สืบสวนฯ-ผบ.หมู่ ยันรอง สว.)
ทำไมถึงมีการยุบเลิกตำแหน่งมากขนาดนี้?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีคำตอบ ดังนี้
แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า สาเหตุที่ ก.ตร. มีมติยุบเลิกถึง 1,482 ตำแหน่งดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นการยุบเลิก เพื่อย้ายอัตราตำแหน่งตำรวจเหล่านั้นไปสังกัดกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือที่เรียกกันว่า ‘ตำรวจไซเบอร์’ เป็นหน่วยงานที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่เมื่อปี 2563 ตามมติของ ก.ตร.
โดย พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2563 มีการเพิ่มความในมาตรา 12/2 ของ ข. กองบัญชาการหรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากองบัญชาการของ มาตรา 4 แห่ง พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2552 คือ บช.สอท.
บช.สอท. มีหน้าที่เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้ ตร. ในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของ บช.สอท. และหน่วยงานในสังกัด ดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทั่วราชอาณาจักร ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และกฎหมายอื่น อันเป็นความผิดทางอาญาเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีหน้าที่สืบสวนสอบสวนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือพิเศษ ดำเนินการรวบรวมข้อมูล ตรวจสอบวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี พิสูจน์หลักฐานดิจิทัล เก็บรวบรวมพยานหลักฐานดิจิทัล ส่งเสริมสนับสนุนให้ท้องถิ่น ชุมชน ประชาชน มีส่วนร่วมกิจกรรมของตำรวจเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นต้น
(อ่าน พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการ ตร. ประกอบ : https://www.royalthaipolice.go.th/downloads/laws/laws_04_17.pdf)
แหล่งข่าวจาก ตร. ระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้มีหน่วยงานภายใต้สังกัด ตร. เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แค่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) แต่เนื่องด้วยปัจจุบันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีมากขึ้น เมื่อปี 2563 ก.ตร. จึงมีมติให้เพิ่มหน่วยงานคือ บช.สอท. มาดำเนินการด้วย
ที่ผ่านมา บช.สอท. มีผลงานเกี่ยวกับการปราบปรามบ่อนพนันออนไลน์ รวมถึงการแกะรอยเว็บไซต์เกี่ยวกับการพนันออนไลน์ และผิดกฎหมายมาแล้วเป็นจำนวนมาก
นี่คือเบื้องหลังเหตุผลว่าทำไมถึงมีการยุบเลิกตำแหน่งของ ตร. มากถึง 1,482 ตำแหน่ง
ส่วนที่ผ่านมาจะเป็นที่น่าพอใจในสายตาประชาชนหรือไม่ ผลงานเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์!
หมายเหตุ : ภาพประกอบ บช.สอท. จากเฟซบุ๊ก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/