สช.จับมือภาคีเครือข่าย ถอดบทเรียนการจัดระบบควบคุม-ป้องกันโรค “ชุมชนคลองเตย-บ้านมั่นคงวังทองหลาง” สรุปเป็น “คู่มือแนวปฏิบัติชุมชนสู้ภัยโควิด-19” หวังเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนชุมชนจัดการตนเองตามบริบทของพื้นที่
.....................................
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ สธ. สปสช. พอช. สสส.เป็นต้น จัดทำหนังสือคู่มือ “แนวปฏิบัติในการป้องกันและเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ของชุมชนรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ สู้ภัยโควิด-19 ระลอก 3” ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนชุมชนในการจัดระบบควบคุมโรคและป้องกันโรคภายใต้สถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นและชุมชนแออัด
สำหรับคู่มือฉบับดังกล่าว จะสรุปแนวทางและบทเรียนสำคัญผ่านประสบการณ์ตรงจากการดำเนินงานของ “ชุมชนคลองเตย” พื้นที่นำร่องการจัดตั้งศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจ เพื่อตัดวงจรการระบาดในชุมชนภายใต้การบริหารจัดการร่วมของคนในชุมชน ตลอดจนการจัดระบบช่วยเหลือต่างๆ ให้กับผู้ที่เดือดร้อน ซึ่งทั้งหมดจะสะท้อนให้เห็นศักยภาพของชุมชนในการจัดการตนเอง อยู่บนพื้นฐานการพึ่งพาอาศัยกันความไว้เนื้อหาเชื่อใจ และความเข้มแข็งของชุมชนที่มีการสะสมมาหลายทศวรรษ
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การทำงานของชุมชนคลองเตย หรือคลองเตยโมเดลจะเป็นพื้นที่การเรียนรู้และต้นแบบสำคัญของการจัดระบบการควบคุมและป้องกันโรคให้กับชุมชนเมืองชุมชนแออัด ทุกพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งทุกฝ่ายสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ตัวเองได้
นอกจากพื้นที่คลองเตยแล้ว เนื้อหาของคู่มือยังพูดถึงตัวอย่างจาก ชุมชนบ้านมั่นคงโครงการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนคนจนเมืองทั่วประเทศ ภายใต้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) ซึ่งมีแนวคิดที่สำคัญคือการมุ่งเน้นให้ผู้ที่อยู่อาศัยมีส่วนร่วมในการคิด ตัดสินใจ ลงมือทำอย่างครบกระบวนการ ทำให้ชุมชนบ้านมั่นคงได้สั่งสมวิธีคิดและการจัดการที่พึ่งตนเองเป็นวิถีปฏิบัติ เช่นกรณีของชุมชนบ้านมั่นคงเขตวังทองหลาง ที่สามารถผ่านสถานการณ์ในช่วงของการระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 1 และ 2 มาได้โดยไม่มีผู้ติดเชื้อ
นพ.ปรีดา กล่าวว่า แนวปฏิบัติฉบับนี้ที่ร่วมกันจัดทำขึ้นโดยหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ต่างๆทั้งด้านสาธารณสุข ด้านสื่อสารมวลชน ด้านธุรกิจเอกชน ด้านสังคม และพระสงฆ์ ยังประกอบด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็นแนวการดำเนินงานกลไกชุมชน การจัดการดูแลคุณภาพชีวิตคนในชุมชนโดยการมีส่วนร่วมในทุกมิติ กิจกรรมการป้องกันและเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ของชุมชน การจัดการความรู้สึกของคนในชุมชน รวมไปถึงเครื่องมือสนับสนุนการทำงานระบบ (Thai.care) และมาตรการรัฐพร้อมเอื้อให้การสนับสนุนชุมชนและภาคส่วนต่างๆ
สช.และภาคีเครือข่าย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวปฏิบัติในการป้องกันและเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ของชุมชนเล่มนี้ จะเป็นแนวทางให้ชุมชนอื่นๆ สามารถนำไปปรับใช้สำหรับควบคุมโรคและดูแลสุขภาพของคนในชุมชน และสามารถข้ามผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปได้ดังเช่นกรณีตัวอย่างที่ถอดบทเรียนออกมา ที่มีการสอดประสานทั้งการใช้มาตรการชุมชน กลไกของภาครัฐ ตลอดจนการใช้เครื่องมืออย่างธรรมนูญชุมชน เพื่อสร้างกติกาข้อตกลงในมิติต่างๆ ที่คนในชุมชนถือปฏิบัติตามร่วมกัน ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค นพ.ปรีดา กล่าว
สามารถดาวน์โหลดคู่มือ ‘แนวปฏิบัติชุมชน’ สู้ภัยโควิด-19‘
E-book https://infocenter.nationalhealth.or.th/.../Com.../book.html
PDF https://kbphpp.nationalhealth.or.th/handle/123456789/21877