สสส. เร่งสร้างความเข้าใจฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนเสริมความรู้ที่ถูกต้องให้นักสื่อเสียงสุขภาวะ ‘หัวใจฟูสู้โควิด'
.............................
สสส. เร่งสร้างความเข้าใจฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชน เสริมความรู้ที่ถูกต้องให้นักสื่อเสียงสุขภาวะ ‘หัวใจฟูสู้โควิด’ 100 สถานีวิทยุทั่วประเทศ ดึงกูรูวัคซีนให้ข้อมูลแม่นยำ-สร้างความมั่นใจ-ลดกังวล หวังขยายผลส่งต่อความรู้ที่ถูกต้องแก่ชุมชนทั่วไทย หลังพบคนไทยกังวลผลข้างเคียงสูงถึง 54.7%
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครั้งที่ 31 ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2564 ของกรมควบคุมโรค โดยมีกลุ่มตัวอย่างอายุ 15-65 ปีขึ้นไป จำนวน 103,692 คนทั่วประเทศ พบว่า มีความกังวลเรื่องผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนเมื่อช่วงเดือนมกราคม คนไทยกังวลอยู่ที่ 39.4% เดือนเมษายนกังวลเพิ่มขึ้นเป็น 44.2% และต้นเดือนพฤษภาคมกังวลสูงถึง 54.7% ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งสำคัญคือ การสื่อสารที่เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง เพื่อส่งเสริมความรู้ สร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเรื่องวัคซีนโควิด-19
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า สสส. จัดกิจกรรม “ส่งเสริมความรู้เรื่องวัคซีนโควิด-19 ให้กับเครือข่ายสถานีวิทยุคนไทยหัวใจฟู” ภายใต้โครงการพลังเครือข่ายนักสื่อเสียงเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ เพื่อยกระดับนักจัดรายการวิทยุชุมชน สู่การเป็น “นักสื่อเสียงสุขภาวะ” เพื่อสร้างเครือข่ายที่จะรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ชื่อว่า “หัวใจฟูสู้โควิด” โดยใช้วิทยุเป็นช่องทางส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ถูกต้อง ลดความกังวลให้แก่คนไทย โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นวิทยากร เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 แก่ผู้จัดรายการสถานีวิทยุ เพื่อให้สามารถไปสื่อสารต่อในรายการวิทยุของตัวเองได้อย่างถูกต้อง
นายวันชัย บุญประชา ที่ปรึกษาโครงการพลังเครือข่ายนักสื่อเสียงเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ กล่าวว่า ที่ผ่านมา โครงการพลังเครือข่ายนักสื่อเสียงเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ ได้จัดกิจกรรม “หัวใจฟูสู้โควิด” ให้ภาคีเครือข่ายสถานีวิทยุสื่อสารรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี ชัยนาท ระยอง กระบี่ และหนองบัวลำภู พร้อมเร่งเชื่อมประสานกับเครือข่ายสถานีวิทยุกว่า 100 สถานีทั่วประเทศ เพื่อส่งต่อสื่อสุขภาวะ สำหรับกิจกรรมส่งเสริมความรู้เรื่องวัคซีนโควิด-19 ให้กับเครือข่ายสถานีวิทยุคนไทยหัวใจฟู ถือเป็นกิจกรรมที่จะทำให้นักสื่อเสียงสุขภาวะมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องวัคซีนโควิด-19 ถูกต้องและชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้นักสื่อเสียงสุขภาวะนำความรู้ที่ถูกต้องไปสื่อสารต่อในชุมชนเพื่อให้เกิดความตระหนักในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต่อไป
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า แม้ว่าการฉีดวัคซีนจะเป็นเรื่องของความสมัครใจ แต่หากทุกคนร่วมใจกันจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยยุติการระบาดของโควิด-19 ช่วยให้กลับไปใช้ชีวิตปกติได้ในเร็ววัน อย่างไรก็ตามประเด็นที่ประชาชนมีความกังวลไม่กล้าฉีดวัคซีนนั้น ขออธิบายว่า ประเทศไทยมีวัคซีนที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่นำมาฉีดให้กับประชาชนอยู่ 2 ยี่ห้อ คือ ซิโนแวค และแอสตราเซเนกา ซึ่งเป็นวัคซีนที่รัฐบาลเล็งเห็นว่าเหมาะสมที่จะฉีดให้กับประชาชนไทย โดยทุกยี่ห้อล้วนแล้วแต่มีประสิทธิภาพโดยรวมไม่ต่างกัน และในไตรมาส 3 และ 4 ไทยจะมีวัคซีนที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อใช้ในหลายกลุ่มอายุ เช่น นำเข้าไฟเซอร์เพื่อฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป หรือการขยายการฉีดซิโนแวคในผู้สูงอายุ เพื่อจะได้มีเพียงพอต่อการเข้าถึงวัคซีน ให้ครอบคลุมกับจำนวนประชากรมากที่สุด ตามนโยบายว่า “ประชาชนทุกคนบนแผ่นดินไทยจะต้องได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง
“สิ่งที่เป็นคำถามที่หลายคนยังคงให้ความสำคัญคือ ผลข้างเคียงจากวัคซีน มี 2 ลักษณะ คือ 1.อาการข้างเคียงทั่วไป ปวด บวมแดง มีไข้ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อาการเหล่านี้จะหายไปใน 24-72 ชม. เกิดได้ประมาณ 30% 2.อาการข้างเคียงชนิดรุนแรง เช่น กรณีมีผู้ฉีดวัคซีนซิโนแวค มีอาการแขน ขาอ่อนแรง พบ 5 คนต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งประมาณ 50% สามารถหายเองได้ และเมื่อทำการเอกซเรย์สมองก็ไม่พบรอยโรคที่ทำให้แขนขาอ่อนแรงหรืออัมพฤกษ์อัมพาต องค์การอนามัยโลกเรียกว่า เป็นปฏิกิริยาของร่างกายหลังจากการรับวัคซีน ข้อแนะนำคือ ให้สังเกตอาการ หากไม่ดีขึ้นให้รักษาตามอาการ ซึ่งการกลายพันธุ์เป็นธรรมชาติของไวรัส และจะเป็นปัญหาเมื่อวัคซีนไม่สามารถครอบคลุมได้ ดังนั้น ฉีดวัคซีนยังต้องควบคู่กับการป้องกันโรคส่วนบุคคล ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ รักษาระยะห่าง” นพ.นคร กล่าว