สปสช.ย้ำประชาชนกลุ่มเสี่ยงไปตรวจรักษาโควิด-19 ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะไปรับบริการที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน หากถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินให้ร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1330 กด 12 ทันที
.....................................
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในรายการ NBT รวมใจสู้ภัยโควิด-19@ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 7 พ.ค. 2564 โดยเน้นย้ำว่าประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือแพทย์พิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยง ไปรับบริการเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ไม่ว่าจะที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน สามารถรับบริการฟรี ไม่เสียค่าบริการ ทั้งนี้หากถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินสามารถร้องเรียนมาที่สายด่วน 1330 กด 12 รับเรื่องร้องเรียนเรียกเก็บเงินโควิด-19 ได้ทันที
นพ.จเด็จ กล่าวว่า การตรวจรักษาในโรงพยาบาลเอกชนนั้น จะมีรายการค่าใช้จ่ายที่ สปสช.จ่ายให้กว่า 3,800 รายการ เช่น ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่ายา ค่าแพทย์ ค่าพยาบาลฯ รายการเหล่านี้มีการตกลงกับโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมดตั้งแต่ปีที่แล้วเสนอ ดังนั้นถ้าอยู่ในรายการเหล่านี้สามารถเบิกได้หมด โรงพยาบาลเอกชนไม่จำเป็นต้องเก็บจากประชาชน
"ย้ำว่าคำว่าไม่เก็บจากประชาชน ไม่ได้หมายความว่าโรงพยาบาลเอกชนให้บริการฟรี ทั้งหมดนี้ สปสช.จะจ่ายให้ ถ้าอยู่ในรายการที่กำหนดสามารถเบิกได้หมด เฉลี่ยแล้วผู้ป่วยอาการน้อยค่าใช้จ่ายประมาณ 100,000 บาท/ราย ผู้ป่วยรุนแรงเราเคยจ่าย 800,000 - 1,000,000 บาทก็มีมาแล้วเพราะอยู่ในกติกาที่ตกลงกันไว้ เราจ่ายให้ โรงพยาบาลเพียงแค่ส่งรายการมา" นพ.จเด็จ กล่าว
"นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ในกรณีที่ค่าใช้จ่ายไหนที่เกิดขึ้นไม่มีในรายการที่กำหนด โรงพยาบาลเอกชนสามารถเสนอมาที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เพื่อพิจารณาเพิ่มรายการให้ เมื่อพิจารณาแล้ว สปสช.ก็จะจ่ายเงินคืนให้ ที่ผ่านมาก็ทำแบบนี้มา 3-4 ครั้งแล้ว เช่น มีผู้ป่วยโควิด-19 แล้วไตวาย จำเป็นต้องใช้เครื่องล้างไตเป็นพิเศษ แล้วไม่มีในรายการจ่ายของ สปสช. แบบนี้โรงพยาบาลเอกชนสามารถเสนอมาที่ สบส. ได้ รวมทั้งในอดีต สปสช.อาจถูกกล่าวหาว่าจ่ายเงินช้า ทำให้โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งอ้างว่าต้องเก็บจากผู้รับบริการไว้ก่อน ถ้าได้เงินจาก สปสช.แล้วถึงจะคืนให้ แต่ขณะนี้ได้ปรับระบบการจ่ายเงินให้เร็วขึ้น จากเดือนละครั้ง เป็นทุกๆ 15 วัน เพื่อเสริมสภาพคล่องของโรงพยาบาล จึงไม่จำต้องเรียกเก็บจากประชาชน
นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องร้องเรียนที่ผ่านมา ส่วนมากจะเป็นกรณีโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเกินอัตราที่กำหนดไว้ และอีกส่วนเป็นความเข้าใจผิด เช่น เป็นผู้มีความเสี่ยงมาตรวจคัดกรองแล้วถูกเก็บเงิน หรือเมื่อป่วยแล้วถูกเรียกเก็บค่ารักษาจำนวนมาก บางครั้งหลายแสนบาท หากพบเจอการกระทำลักษณะนี้ประชาชนสามารถแจ้งมาที่สายด่วน 1330 กด 12 รับเรื่องร้องเรียนเรียกเก็บเงินโควิด-19 ซึ่งจะติดต่อไปถึงเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรับเรื่องร้องเรียนโดยตรง เมื่อรับข้อมูลแล้ว สปสช.จะตรวจสอบและประสานให้โรงพยาบาลคืนเงินให้
"ย้ำว่าผู้ป่วยโควิดทุกรายต้องได้รับการรักษาฟรี ราคาตกลงกันแล้ว ถ้าไม่ครอบคลุมให้เสนอเพิ่มเติมเข้ามา กลไกนี้จะสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน ถ้าประชาชนไม่มั่นใจในระบบ ไม่เข้าไปตรวจรักษา การระบาดจะควบคุมไม่ได้ ดังนั้นต้องขอความร่วมมือโรงพยาบาลและผู้ป่วยอย่ากลัวที่จะไปรักษา ถ้าไม่มั่นใจอย่างไร สามารถสอบถามสายด่วน 1330 แล้วกด 12 จะมีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องร้องเรียนโดยตรง" นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากค่าตรวจคัดกรอง ค่ารักษาแล้ว วันที่ 3 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ สปสช. ได้มีมติจัดสรรเงินเพื่อจ่ายช่วยเหลือแก่ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วได้รับความเสียหาย สามารถยื่นเรื่องได้ที่โรงพยาบาลที่ไปฉีด ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ สปสช.เขต ก็ได้ โดยจะมีคณะอนุกรรมการพิจารณาให้เสร็จภายใน 5 วันหลังได้รับเรื่อง ถ้าเจ็บป่วยต่อเนื่องจ่ายไม่เกิน 100,000 บาท ถ้าเจ็บป่วยมากกว่านั้นจ่าย 240,000 บาท และกรณีเสียชีวิตจ่าย 400,000 บาท อย่างไรก็ดี คาดว่าผลกระทบจากการฉีดวัคซีนจะไม่รุนแรงขนาดนั้น การกำหนดอัตราเหล่านี้ไว้ก็เพียงเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่ารัฐดูแลทุกขั้นตอนนั่นเอง