บล.ไทยพาณิชย์ มอง COVID – 19 รอบใหม่ส่งผลภาพรวมตลาดหุ้นไทยช่วงไตรมาส 2-3 ไม่สดใส ภาพรวมของการลงทุนปี 64 กำลังมีความเสี่ยงด้านตลาดการเงิน (market risk) เพิ่มขึ้นมอง SET Index ปี 64 ระดับเหมาะสมบนภาพปัจจัยพื้นฐานอยู่ที่ 1,550 จุด เพิ่มน้ำหนักหุ้นเชิงรับฐานะการเงินแข็งแกร่งมีภาพฟื้นตัวของผลการดำเนินงานชัดเจน
...................................
บล.ไทยพาณิชย์ ประเมินการระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงเดือนเม.ย.64 จะส่งผลให้ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปี 2564 ไม่สดใส หากเทียบกับในช่วงไตรมาสที่ 1/64 ที่ SET Index ฟื้นตัวแรง (+9.5%) ปรับตัวขึ้นไปที่ระดับก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 สำเร็จแล้ว โดยประเมินระดับเหมาะสมของ SET Index สำหรับปี 2564 บนภาพปัจจัยพื้นฐานอยู่ที่ 1,550 จุด แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ซื้อสะสมในจังหวะที่ตลาดแกว่งตัวลง ให้เพิ่มน้ำหนักหุ้นเชิงรับมากขึ้นโดยเน้นหุ้นที่มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง มีภาพการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานที่ชัดเจนใน 12 เดือนข้างหน้า (รวมผลกระทบของ COVID-19 รอบใหม่แล้ว) รวมถึงหุ้นขนาดเล็กที่มีศักยภาพการเติบโตสูง หุ้นแนะนำ ได้แก่ BDMS MINT BEM TWPC และ DOD
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า ภาพรวมของการลงทุนในปี 2564 ในประเด็นความเสี่ยงนั้นมีความแตกต่างจากปี 2563 มองว่าความเสี่ยงทางเศรษฐกิจกำลังลดลงแต่ความเสี่ยงด้านตลาดการเงิน (market risk) กำลังเพิ่มขึ้น โดยประเมินว่า ความเสี่ยงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของปี 2564 จะไม่สูงเท่ากับปี 2563 แม้การระบาดของ COVID-19 ยังไม่จบ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว มาตรการ Lockdown ช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ดี และวัคซีนก็เป็นความหวังที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นจากการเปิดประเทศ ทั้งนี้ SCBS เคยคาดว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตได้ใกล้ระดับ 3% ในปี 2564 แต่จากการระบาดของ COVID-19 ใน 2 รอบล่าสุด ทำให้การคาดการณ์ดังกล่าวมีความเสี่ยงถูกปรับลดลง แต่ยังคงเชื่อว่าการบริโภคในประเทศและการส่งออกในปี 2564 ยังคงสามารถเติบโตได้ดีจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกแต่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวยังมีความเสี่ยงล่าช้ากว่าคาด
สำหรับสาเหตุที่ SCBS ประเมินว่า ความเสี่ยงด้านตลาดการเงินจะสูงขึ้น เนื่องจาก 1) การที่สภาพคล่องทางการเงินอยู่ในระดับสูงจากการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายได้ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวขึ้นเร็วมากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาแม้เกิดวิกฤติ COVID-19 2) ความคาดหวังของนักลงทุนต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและวัคซีนอยู่ในระดับที่สูงสะท้อนไปที่ valuation ของตลาดหุ้นในปัจจุบัน ดังนั้น หากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงินและการคลังลดระดับลง ในขณะที่ตลาดคาดว่าอัตราเงินเฟ้อและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเริ่มปรับตัวขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2/64 เป็นต้นไป ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดมีโอกาสส่งผลให้ตลาดการเงินมีความผันผวนเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป คือ สถานการณ์ของ COVID-19 หลังจากมีการฉีดวัคซีนแล้วว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ขนาดไหน เพราะจะมีผลต่อการเปิดประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นตัวอย่างจากบางประเทศเร็วๆนี้ เช่น สหรัฐฯ และ อังกฤษ
ผลกระทบจากการระบาดในช่วง 2 รอบล่าสุดของ COVID-19 ต่อกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นส่วนใหญ่จะกระทบกับอุตสาหกรรมที่พึ่งพาอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก ได้แก่ ร้านอาหาร การขนส่งทางบก (รถไฟฟ้า) การท่องเที่ยว และ ร้านค้าปลีก ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆได้รับผลกระทบรองมา เช่น การแพทย์ ที่อยู่อาศัย การเงิน เป็นต้น โดย ผลกระทบเกิดจาก 1) ประชาชนปรับตัวโดยลดกิจกรรมและอยู่บ้านมากขึ้น 2) มาตรการคุมเข้มของรัฐบาล ทั้งนี้ มาตรการใน 2 รอบที่ผ่านมา คือ รอบ ธ.ค. 63 - มี.ค. 64 และ รอบล่าสุดในเดือน เม.ษ. 64 ถือว่าส่งผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมน้อยกว่ามาตรการในรอบที่1 ในช่วง มี.ค.- เม.ษ. 63 ในขณะที่ผลกระทบของการระบาดรอบล่าสุดมีโอกาสรุนแรงกว่ารอบ ธ.ค. 63 - มี.ค. 64 ส่งผลให้ SCBS ประเมินแนวโน้มผลการดำเนินงานของไตรมาสที่ 1-2 ปี 2564 ของกลุ่มอุตสาหกรรม/ธุรกิจ ดังนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในครึ่งแรกปี 64 ยังคงมีผลขาดทุน, ธุรกิจการขนส่งทางบก (รถไฟฟ้า) จำนวนผู้โดยสารคาดว่าจะชะลอตัวในไตรมาสที่ 1/64 และต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 ปี 64 เทียบกับไตรมาสที่ 4/63 แต่ดีกว่าไตรมาสที่ 2/63, ธุรกิจร้านอาหารในไตรมาสที่ 1-2 ปี 64 ไม่แตกต่างมาก โดยยังคงมีกำไรจากการปรับตัวและควบคุมต้นทุน, ธุรกิจค้าปลีกในไตรมาสที่ 1-2 ปี 64 ใกล้เคียงกัน คือ รายได้หดตัวในอัตราที่น้อยกว่าครึ่งแรกปี 2563, ทางด้านธุรกิจการแพทย์ที่เน้นผู้ป่วยในประเทศได้รับผลกระทบไม่มาก คาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/64 สำหรับธุรกิจอื่นๆ ถือว่าผลกระทบไม่มาก ดังนั้น จึงแนะนำนักลงทุนติดตามประกาศผลการดำเนินงานของกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
ส่วนตลาดหุ้นไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากช่วงความคาดหวัง (Hope) ซึ่งสะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของราคานั้นมาจากการขยายตัวของ Valuation และ กำลังเข้าสู่ช่วงการเติบโต (Growth) ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยจะไปในทิศทางเดียวกับผลประกอบการ บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นไทยจากนี้ไปจะมีความสัมพันธ์มากขึ้นกับแนวโน้มกำไรและปัจจัยพื้นฐานของแต่ละบริษัท โดยล่าสุด ประเมินว่า EPS ของบริษัทจดทะเบียนจะเติบโต 46% และ 21% ในปี 2564 และ 65 ตามลำดับ
มองแนวโน้มตลาดหุ้นไทยจะเป็นการแกว่งตัวมากขึ้นหลังจากระดับ SET Index ฟื้นตัวมาใกล้กับช่วงก่อนวิกฤติ COVID-19 รวมถึงใกล้เคียงกับระดับ 1550 ซึ่งเป็นการประเมินมูลค่าจากปัจจัยพื้นฐาน ในขณะที่ภาพของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลการดำเนินงานยังไม่ต่อเนื่อง เพราะการระบาดของ COVID-19 ยังไม่จบ ดังนั้น การลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 2-3/64 จึงแนะนำให้หันมาเน้นหุ้นที่ปลอดภัยและมีลักษณะเชิงรับที่มีการเติบโต รวมถึงลงทุนในหุ้นขนาดเล็กที่มีศักยภาพการเติบโตสูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ ส่วนไตรมาสที่ 4/64 คาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะดีขึ้นหลังจากเริ่มมีการฉีดวัคซีนแล้ว นักลงทุนค่อยปรับพอร์ตมาเน้นหุ้นที่สามารถเติบโตได้จากความสามารถในการแข่งขันหลัง COVID-19 รวมถึง หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประเทศหากราคาไม่สูงเกินไป
สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 2/64 ถือว่าเป็นช่วงเข้าสู่ Low season ของตลาดหุ้น โดย SCBS คาดว่าจะเกิด Sell in May ซึ่งเป็นการประเมินจากสถิติของตลาดหุ้นไทยว่าเมื่อผลตอบแทนในช่วงเดือน พ.ย.ถึง เม.ย. เป็นบวก ในอดีตจะเผชิญกับการ Sell in May แต่ในการย่อตัวมองว่าเป็นจังหวะในการซื้อเพื่อให้สอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว หุ้นแนะนำประจำไตรมาสที่ 2/64 ได้แก่ BDMS MINT BEM TWPC DOD
· BDMS ปี 64 คาดกำไรฟื้นตัว 17%YoY โดย 2Q64 จะเป็นไตรมาสแรกที่กำไรกลับมาโต YoY จากฐานต่ำ ส่วนระยะสั้นราคาหุ้นคาดได้อานิสงส์จากการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ และมีโอกาสที่รัฐอนุญาตให้โรงพยาบาลเอกชนนำเข้าวัคซีนเองได้เร็วขึ้น ขณะที่ราคาหุ้นจัดเป็น Laggard Play กลุ่มโรงพยาบาล
· BEM แม้ระยะสั้น (เม.ย. 64) โควิด-19 ระลอก 3 จะกดดันให้ปริมาณผู้ใช้ MRT และทางด่วนมีโอกาสแย่กว่าระลอก 2 แต่คาดไม่หนักเท่าระลอก 1 เพราะไม่มีล็อกดาวน์ โดยมองผลการดำเนินงานผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และปี 64 ผลดำเนินงานจะยังฟื้นตัว YoY จากผลกระทบที่น้อยกว่าปีก่อน
· MINT ระยะสั้นได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลับมาระบาดในไทยและธุรกิจในยุโรปชะลอตัวจากการล็อกดาวน์ แต่ระยะกลางมองว่าธุรกิจในยุโรปและไทยจะทยอยฟื้นตัวได้หลังประชาชนมีการเข้าถึงวัคซีนได้เพิ่มขึ้น หนุนให้ปี 64 ผลการดำเนินงานประสบภาวะขาดทุนที่น้อยลงและจะพลิกกำไรได้ในปี 65
· TWPC ปี 64 คาดพลิกมีกำไรจากดีมานด์แป้งมันที่ฟื้นตัวโดยเฉพาะตลาดจีน ไต้หวัน อีกทั้งราคาขายยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น สูงสุดรอบ 2 ปี 3 เดือน ซึ่งเป็นสัญญาณดีและคาดหนุนมาร์จิ้นให้ปรับตัวดีขึ้นมาก
· DOD ได้ประโยชน์จากกระแสกัญชงเพราะมีแผนดำเนินธุรกิจชัดเจนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (ยกเว้นปลูก) โดยปัจจุบันได้ทำบันทึกข้อตกลงกับ JKN, CHAYO, KISS, BEAUTY เพื่อรับจ้าง R&D ผลิตสินค้าเสริมอาหารและสกินแคร์ที่มีส่วนผสมของ กัญชง ซึ่งคาดเริ่มออกสินค้าได้เร็วสุด 4Q64