สปสช.ร่วมยกคุณภาพชีวิต “ชาวโอรังอัสลี” ชนพื้นเมืองดั้งเดิม ลงทะเบียน “สิทธิบัตรทอง” หลังได้รับบัตรประชาชน ดูแลเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็น รุกคืบขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของกลุ่มเปราะบาง
..........................................
ดร.ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 12 สงขลา กล่าวว่า การดูแลกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงสิทธิและบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ สปสช. และถูกกำหนดในแผนปฏิบัติราชการของ สปสช. ระยะ 5 ปี พ.ศ.2561 – 2565 โดยในพื้นที่เขต 12 ประกอบด้วยจังหวัดตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ยังมีกลุ่มเปราะบางที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ในพื้นที่ และมีปัญหาการเข้าถึงสวัสดิการของภาครัฐ รวมถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ผ่านมา สปสช. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลกลุ่มคนไทยเหล่านี้
ทั้งนี้ กลุ่มชาติพันธุ์โอรังอัสลี เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในพื้นที่ป่าลึกทางภาคใต้ ข้อมูลจากการสำรวจโดย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พบว่า มีจำนวน 8 กลุ่ม ได้แก่ จังหวัดยะลา 6 กลุ่ม และนราธิวาส 2 กลุ่ม รวมจำนวนทั้งหมด 348 คน โอรังอัสลี เป็นภาษามาลายู “โอรัง” แปลว่าคน “อัสลี” แปลว่าดั้งเดิม ด้วยความเชื่อที่ว่าป่าคือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ พระผู้เป็นเจ้าจึงมีบัญชาให้ชาวโอรังอัสลีอาศัยอยู่ในผืนป่าตามพระประสงค์ วิถีชีวิตของชาวโอรังอัสลีจึงมีความผูกพันกับผืนป่าอย่างแน่นแฟ้น
ปัญหาหลักของชาวโอรังอัสลี ได้แก่ ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ ขาดที่ดินทำกิน และขาดแคลนปัจจัยสี่ เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2560 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้พบกับกลุ่มโอรังอัสลี ในเขตพื้นที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ทรงมีพระราชดำรัสเป็นห่วงในด้านชีวิตของชาวโอรังอัสลี จึงมีพระกระแสรับสั่ง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล โดย ศอ.บต.ทำหน้าที่สนับสนุนและประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการรับรองสถานะบุคคลเพื่อทำบัตรประชาชน จัดสรรที่ดินทำกิน การศึกษา และบริการสาธารณสุข เพื่อดูแลกลุ่มชาติพันธุ์โอรังอัสลีให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป โดย สปสช. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้ร่วมดูแลในส่วนของการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้ “โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์โอรังอัสลี”
ดร.ทพ.วิรัตน์ กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยการประสานงานของ ศอ.บต. ทำให้ชาวโอรังอัสลี ในพื้นที่ จ.ยะลา กลุ่มแรก จำนวน 58 คน นอกจากได้รับบัตรประชาชนที่ยืนยันความเป็นคนไทยซึ่งเป็นของขวัญปีใหม่ 2564 แล้ว ยังได้รับสิทธิสวัสดิการภาครัฐต่างๆ รวมถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เป็นของคนไทยทุกคนด้วย โดยชาวโอรังอัสลีสามารถใช้สิทธิเข้ารับบริการที่หน่วยบริการของรัฐได้ทุกแห่ง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตการเคลื่อนย้ายถิ่น
“เดิมทีคนเหล่านี้เมื่อเจ็บป่วย เบื้องต้นจะดูแลและรักษากันเองตามภูมิปัญญาชาติพันธุ์ แต่เมื่อมีอาการหนักก็จะนำส่งไปที่ รพ.สต. หรือโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่พักอาศัย แม้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะไม่มีรายได้ แต่หน่วยบริการให้การดูแลตามหลักมนุษยธรรมด้วยดี ซึ่งการที่ชาวโอรังอัสลีได้รับบัตรประชาชน ได้รับสิทธิบัตรทอง จะทำให้หน่วยบริการสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาและบริการสาธารณสุขเพื่อดูแลตามสิทธิประโยชน์บัตรทองได้อย่างเต็มที่ ทั้งหมดนี้เป็นผลจากความร่วมมือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลการเข้าถึงสิทธิและยกคุณภาพชีวิตที่ดีให้ชาวโอรังอัสลี ชนพื้นเมืองดั้งเดิมในประเทศไทย” ผอ.สปสช. เขต 12 สงขลา กล่าว
ดร.ทพ.วิรัตน์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในปี 2561 สปสช. ได้ทำการลงทะเบียนสิทธิบัตรทองให้กับกลุ่มชาติพันธุ์มานิเทือกเขาบรรทัดมาแล้วจำนวน 376 คน และการลงทะเบียนสิทธิบัตรทองกลุ่มชาวโอรังอัสลีในครั้งนี้ นับเป็นอีกครั้งหนึ่งของการขับเคลื่อนการดูแลกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงสิทธิหลักประประกันสุขภาพแห่งชาติ และให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในการดูแลให้คนไทยทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยมีหลักประกันสุขภาพรองรับ