เกษตรกรยิ้มได้ บพข. หนุนเพิ่มมูลค่าส่วนเหลือทิ้งของมันสำปะหลัง สู่สารเคมีชีวภาพมูลค่าสูง
...................................
รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวถึงบทบาทของ บพข. ว่า ประเทศไทยต้องการการวิจัยและนวัตกรรมที่ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้สูงขึ้น บพข. จึงเกิดขึ้นมา เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และองค์กรด้านการวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการมาต่อยอดด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี เป็นการลดความเสี่ยงในการลงทุนของภาคเอกชนในการที่จะนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มที่ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเข้มแข็งขึ้น ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง
“บพข. มุ่งเน้นสนับสนุน 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ตอบโจทย์การแข่งขันอันท้าทายในระดับโลก เราสามารถสนับสนุนงานวิจัยที่มีผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจสูง หรือมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน เช่น ชุดตรวจซาร์ส CoV2 ด้วยวิธี RT-PCR ที่ผลิตให้กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, ชุดตรวจโควิด-19 RT-LAMP เปลี่ยนสี ของบริษัทเซโนสติกส์, การสร้างโรงงานต้นแบบเพื่อแปรรูปอาหารฟังก์ชั่นและเพื่อให้ได้สารสกัดจากธรรมชาติจากทุกภูมิภาคของประเทศ บพข. มุ่งพัฒนาการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยและภาคเอกชนในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง รวบรวมข้อมูลจากการดำเนินการวิจัยแบ่งปันข้อมูลให้กับเครือข่ายนักวิจัยในอนาคต” ดร.สิรี กล่าว
ตัวอย่างโครงการที่ บพข. สนับสนุนในรอบปีที่ผ่านมา ได้แก่ความร่วมมือ ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กับภาคเอกชนเพื่อผลักดันให้เกิดนวัตกรรมมูลค่าสูง โดย รศ.ดร.อภิชาติ บุญทาวัน หัวหน้าสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า โจทย์ของมหาวิทยาลัยที่ได้รับมาคือ ทำอย่างไรให้ผลผลิตการเกษตร คือ มันสำปะหลังไทยมีราคาสูงขึ้น จึงได้ทำการศึกษา พบว่า วัตถุดิบ คือหัวมันสดนั้น ส่วนหลัก ๆ ที่ผู้ประกอบการเอาไปใช้งานจากต้นมันสำปะหลัง 1 ต้น ก็จะอยู่ในรูปของแป้งมัน ส่วนที่เหลือทิ้ง คือ เหง้า และต้น เราสามารถจะเอามาประยุกต์โดยใช้หลักการของ biorefinery ให้ผลิตเป็นสารเคมีชีวภาพซึ่งมีมูลค่าสูงที่มีราคาแพงกว่าแป้งมัน
“Biorefinery จะเป็นขบวนการทางชีวภาพในการเปลี่ยนสารตั้งต้นที่เป็นวัสดุจำพวกเซลลูโลสให้กลายเป็นเคมีชีวภาพ ที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร หรืออุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ที่มาแรงก็จะเป็นอุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งเป็นพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ หลังจากที่เราใช้แล้วทิ้ง ประเทศไทยเราเป็นเขตร้อน มีความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าหลายประเทศในโลก เพราะฉะนั้นเราจึงสามารถคัดเลือกจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ เอามาผลิตสารเคมีที่เราต้องการได้” ดร.อภิชาติ กล่าว
ดร.อภิชาติ กล่าวว่า ผลงานเทคโนโลยี Biorefinery ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ถ่ายทอดให้กับ บริษัท ซูเทคเอนจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งทำธุรกิจด้านน้ำตาล ที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากการผลิตน้ำตาลธรรมดาไปเป็นการผลิตสารประกอบมูลค่าสูง โดยบริษัทได้ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยในการพัฒนาโรงงานแปรรูปต้นแบบ เครื่องจักรที่ใช้ก็ผลิตในประเทศไทยถึง 80% ซึ่ง บพข. สนับสนุนให้ทุกภาคส่วน มาทำงานวิจัยร่วมกัน โดยใช้โรงงานต้นแบบแห่งนี้