สำนักงานศาลยุติธรรมร่วมมือกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ยกระดับการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลย และผู้เสียหายในคดีอาญา พร้อมสนับสนุนผู้กำกับดูแลผู้ได้รับการปล่อยชั่วคราวและมาตรการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ
..............................
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2564 เวลา 09.30 น. สำนักงานศาลยุติธรรมและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการประสานงานด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้เสียหายในคดีอาญา โดยมี นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ณ ห้องประชุม ชั้น 10 อาคารศาลอาญา กรุงเทพมหานคร
นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ประธานศาลฎีกา มีนโยบายในการสร้างดุลยภาพแห่งสิทธิ ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นในทุกขั้นตอน เพื่อยกระดับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลยระหว่างการต่อสู้คดีในศาลและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะผู้เสียหายในคดีอาญา สำนักงานศาลยุติธรรมได้เล็งเห็นว่าภารกิจของศาลยุติธรรมและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต่างมีความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้เสียหายในคดีอาญา จึงได้ตกลงความร่วมมือระหว่างกันในการดูแลผู้เสียหายในคดีอาญาที่อยู่ในกระบวนการศาลและการกำกับดูแลผู้ได้รับการปล่อยชั่วคราว โดยการให้ผู้ต้องโทษปรับทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับในกรณีผู้นั้นไม่มีเงินชำระค่าปรับ ซึ่งการกำหนดประเภทและลักษณะการทำงานนั้นจะคำนึงถึงเพศสภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนสหวิชาชีพในสังกัดมาดูแลให้คำปรึกษาแก่ผู้เสียหายในคดีอาญาที่อยู่ในกระบวนการศาล รวมถึงการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียหายและเสนอความเห็นต่อศาล และการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์การเป็น “ผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว” ตามพระราชบัญญัติมาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาล พ.ศ. 2560 ให้อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทราบ ตลอดจนสนับสนุนให้หน่วยงานในสังกัดรวบรวมรายชื่อผู้ที่สนใจเป็น “ผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว” ให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม โดยสำนักงานศาลยุติธรรมจะดำเนินการอบรมการให้คำปรึกษาทางจิตสังคมต่อไป
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมกล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเยียวยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้เสียหาย ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม สร้างจิตสำนึกที่ดีให้แก่ผู้ต้องโทษปรับ และให้โอกาสผู้กระทำความผิดกลับคืนสู่ชุมชนและสังคม
ได้อย่างปกติสุข และจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายประธานศาลฎีกาให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้