สปสช. ร่วมเร่งป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงาน สปสช. “Work Form Home” 4 ม.ค. – 1 ก.พ. 64 พร้อมปรับระบบรองรับการดำเนินงาน เดินหน้าบริหารจัดการกองทุนบัตรทอง ไม่กระทบหน่วยบริการและประชาชน
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2564 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. นพ.สินชัย ต่อวัฒนกิจกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. และผู้บริหาร สปสช. ได้ร่วมประชุมเพื่อดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ระลอกใหม่ โดยปฏิบัติงานที่บ้าน (Work From Home : WFH)
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. และตามที่ศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโควิด-19 (ศปค. สธ. EOC) เห็นควรให้ยกระดับการควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) โดยการปฏิบัติงานที่บ้านเป็นหนึ่งในมาตรการลดการเดินทางบุคคลเพื่อชะลอการแพร่ระบาดได้ ซึ่ง สปสช. ได้ดำเนินการมาตรการดังกล่าวโดยให้เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานสำนักงานฯ ส่วนกลางทุกระดับ ซึ่งมีที่ตั้งในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษาฯ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร รอยต่อจังหวัดนนทบุรี ปฏิบัติงานที่บ้าน ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2564 ยกเว้นกรณีที่มีความจำเป็นต้องเข้าสำนักงานฯ
ทั้งนี้ การปฏิบัติงานที่บ้านของ สปสช. ภาพรวมการดำเนินงานรวมถึงระบบปฏิบัติการต่างๆ เพื่อรองรับนั้น เนื่องจากการแพร่ระบาดรอบที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ในส่วนสำนักและกลุ่มภารกิจต่างๆ ของ สปสช. ได้มีการจัดทำระบบต่างๆ รองรับการปฏิบัติงานที่บ้านไว้แล้ว เพื่อให้การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กองทุนบัตรทอง) เดินหน้าได้และไม่เกิดผลกระทบ โดยมีการจัดระบบงานสนับสนุนตามคู่มือและแผนการบริหารความพร้อมต่อสถานการณ์สภาวะวิกฤต : รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับพฤษภาคม 2563 ที่เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องสำหรับความพร้อมต่อสภาวะวิกฤติ (Business Continuous Plan : BCP)
“แม้ว่าเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานภายใต้ สปสช. จะอยู่ในช่วงปฏิบัติงานที่บ้าน แต่การดำเนินงานต่างๆ ภายใต้กองทุนบัตรทองยังคงเดินอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ปรับรูปแบบดำเนินงานภายในสำนักงานและภายนอกสำนักงานตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการประชุมบอร์ด สปสช. การประชุมบอร์ดควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงการประชุมคณะกรรมการและอนุกรรมการชุดต่างๆ ที่วางระบบรองรับการประชุมผ่านระบบออนไลน์โดยไม่ติดขัด การโอนงบประมาณกองทุนฯ เพื่อจัดบริการต่างๆ ที่ยังคงต่อเนื่อง การเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการให้กับหน่วยบริการตามเป็นปกติ รวมถึงการให้บริการ Call Center หรือสายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อหน่วยบริการและประชาชน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ด้วยการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ที่ได้กระจายเป็นวงกว้าง และต้องเร่งควบคุมโดยเร็ว สปสช. ได้เตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่น การติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ การอบฆ่าทำลายเชื้อโรค การติดตั้งเครื่องจ่ายแอลกอฮอล์ การกำหนดวงรอบการทำความสะอาดพื้นผิว โต๊ะทำงาน โต๊ะประชุม ฯลฯ พร้อมกันนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงาน สปสช.บันทึกไทม์ไลน์ (Timeline) ของตนเองตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2563 เก็บเป็นข้อมูลไว้ ทั้งนี้ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินจะได้นำมาใช้ในการติดตามและป้องกันได้ทันการ พร้อมขอความร่วมมืองดเดินทางออกจากบ้านหรือออกนอกจังหวัดโดยไม่จำเป็น สำหรับกรณี สปสช.เขตที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) หรือพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด (สีเหลือง) ให้ดำเนินการในทิศทางเดียวกัน ส่วน สปสช.ที่อยู่นอกพื้นที่ดังกล่าว ให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต ต่อไป