เมื่อไม่นานมานี้ทาง “กระทรวงพลังงาน” โดยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ได้แถลงผลการดำเนินงานปี 2563 และทิศทางการขับเคลื่อนพลังงานในปี 2564 โดยภาพรวมในปี 2563 ผลการดำเนินงานหลักๆ ของกระทรวงพลังงานส่วนใหญ่นั้น ด้านหนึ่งจะมุ่งเน้นมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ส่วนอีกด้านก็ขับเคลื่อนการสร้างสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยมาตรการลดรายจ่ายประชาชนในช่วงโควิด ประกอบด้วย การลดค่าไฟฟ้า LPG NGV ฯลฯ รวมมูลค่า 49,836 ล้านบาท ส่วนการสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศนั้น สามารถจัดเก็บรายได้จากการประกอบกิจการปิโตรเลียมเข้าภาครัฐ 129,932 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานท้องถิ่น ทั้งยังกำหนดให้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดมาตรฐานครั้งแรกของประเทศช่วยยกระดับชีวิตเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ขับเคลื่อนพลังงานชุมชน สร้างชุมชนต้นแบบลดใช้พลังงาน ซึ่งทั้งมาตรการช่วยเหลือและสร้างรายได้ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.79 แสนล้านบาท
สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนโยบายพลังงาน ปี 2564 รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า เนื่องจากทั่วโลกยังประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจจากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น นโยบายต่างๆ จึงมุ่งเน้นด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ฝ่าฟันไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในประเทศต่อเนื่องจากปี 2563 โดยกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนพลังงานไทยใน 3 ด้านหลักสำคัญ คือ ด้านการสร้างพลังงานเข้มแข็ง จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนพลังงานแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาของภาครัฐและเป็นกรอบการลงทุนที่ชัดเจนของภาคเอกชน ผลักดันความชัดเจนเรื่องลดสำรองไฟฟ้า เดินหน้าส่งเสริมแข่งขันเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า กำหนดเป้าหมายขับเคลื่อน EV เพื่อกระตุ้นการลงทุน รวมถึงเตรียมความพร้อมการเปิดประมูลสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 23 การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา (OCA) และกำหนดการส่งเสริมการลงทุนปิโตรเลียมระยะที่ 4 ในพื้นที่ EEC
ด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก จะกระตุ้นยอดขาย B10 กำหนดให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันเบนซินหลัก โดยผลักดันให้โรงกลั่นผลิต G-base ได้ตามมาตรฐานภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 และร่วมขับเคลื่อนโครงการชุมชนทั่วประเทศร่วมกับกระทรวงมหาดไทย
ด้านการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสะอาด โดยจะเร่งรัดการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 150 เมกะวัตต์ ส่งเสริมกระตุ้นการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ ส่งเสริมการใช้โซลาร์รูฟท็อปให้เติบโต 100 เมกะวัตต์ ริเริ่ม ESCO ภาครัฐเพื่อลดใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้เกิดการลงทุน ทั้งนี้ คาดว่าในภาพรวมของการขับเคลื่อนนโยบายในปี 2564 ดังกล่าว จะสามารถสร้างเม็ดเงินลงทุนให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศประมาณ 127,932 ล้านบาท