สสส. ส่งมอบหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะ พชอ. ขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ยะลา ปัตตานี นราธิวาส “ป้องกัน-ตั้งครรภ์คุณภาพ-ไม่ท้องซ้ำ” ลดท้องวัยรุ่น ด้าน “พญ.เพชรดาว” ชื่นชม สสส. ไม่ทิ้งพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หวังลดตั้งครรภ์วัยรุ่นได้จริงทั่วเขตสุขภาพที่ 12
...........................
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2563 ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขอำเภอบาเจาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนการดำเนินงานโครงการพัฒนาหลักสูตรการเสริมสร้างสมรรถนะคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ต่อการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เพื่อติดตามการออกแบบหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะ พชอ. ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในพื้นที่นำร่อง
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของประเทศไทยพบว่า แม้อัตราการคลอดของวัยรุ่นหญิงจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังน่าเป็นห่วง โดยอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ในปี 2562 จ.ยะลาอยู่ที่ 28.5 จ.นราธิวาส 28.4 จ.ปัตตานี 23.5 ตามลำดับ แต่เมื่อคำนึงถึงเป้าของยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569 ที่มีเป้าหมายในการลดอัตราการคลอดในวัยรุ่นให้เหลือไม่เกิน 25 คน ต่อวัยรุ่นหญิง 1,000 คน ในปี 2569 จะมีเพียง จ.ปัตตานี เท่านั้นที่มีอัตราการคลอดลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ของประเทศแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เพราะการลดอัตราการคลอดของแม่วัยรุ่น ควรลดลงครึ่งหนึ่งของอัตราที่เคยเป็น baseline ของจังหวัดนั้นๆ
นายชาติวุฒิ กล่าวต่อว่า จากการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของ สสส. ที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี 2555 พบว่าศักยภาพทางวิชาการ การประสานงาน และการบริหารจัดการของบุคลากรที่ทำงานเป็นกลไกในระดับพื้นที่มีความสำคัญไปสู่ความสำเร็จ ดังนั้น สสส. จึงมีแนวคิดพัฒนาศักยภาพบุคลากรของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ให้พร้อมเป็นกลไกที่เข้มแข็งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จึงให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ใช้กลไกระดับอำเภอในการขับเคลื่อนร่วมกับทีมระดับตำบล นำร่องใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองปัตตานี อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส และ อ.รามัน จ.ยะลา
ดร.ซอฟียะห์ นิมะ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า สสส. ได้สนับสนุนการออกแบบหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะ พชอ. ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น บนพื้นฐานของบริบทพื้นที่ สถานการณ์ปัญหาในอำเภอนำร่อง เป้าหมายเพื่อต้องการให้เกิดรูปแบบการดำเนินงานของ พชอ. ในการจัดการและควบคุมปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่นในพื้นที่ และเกิดความยั่งยืนต่อการทำงานในอนาคต ทั้งนี้ ได้เริ่มดำเนินการออกแบบหลักสูตรมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ล่าสุดอยู่ในระหว่างการทดลองใช้ในพื้นที่นำร่อง และจะประเมินผลการทดลองใช้ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 เพื่อเป้าหมายในการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ
ดร.ซอฟียะห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื้อหาของหลักสูตรประกอบไปด้วย 3 ระยะ ระยะที่ 1 การป้องกันและเฝ้าระวังการเกิดรายใหม่ การสร้างให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดความตระหนัก และหาแนวทางในการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ระยะที่ 2 การตั้งครรภ์คุณภาพ คือการดูแลสุขภาพครรภ์ของมารดาและทารกที่เกิด รวมทั้งการสนับสนุนการศึกษาต่อของมารดา และการสร้างอาชีพให้เกิดรายได้ และระยะที่ 3 การป้องกันให้ไม่เกิดการตั้งครรภ์ซ้ำ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของแม่และเด็ก รวมทั้งสภาพแวดล้อมครอบครัว และการสร้างทักษะให้เกิดการจัดการตนเองได้
ด้าน พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา เลขานุการคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร กล่าวชื่นชม สสส. และภาคีเครือข่าย ที่สามารถขยายพื้นที่การขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพมายังสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยคาดหวังว่าเมื่อหลักสูตรดังกล่าวผ่านการทดลองในพื้นที่นำร่อง จนกระทั่งเห็นผลลัพธ์ที่เปลี่ยนแปลงในเชิงสถิติหรืออัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นที่ลดลงแล้ว จะสามารถนำไปสู่การต่อยอดการแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัด และในระดับเขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งประกอบไปด้วย จังหวัดสงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ทั้งนี้การจะแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรคำนึงหลาย ๆ มิติ ทั้งมิติของศาสนา และสภาพความเป็นจริงของวัยรุ่นยุคใหม่ ดังนั้นคนที่ทำงานเรื่องนี้จึงต้องคิดหาเทคนิคและกลยุทธ์การสื่อสารต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงการเปลี่ยนด้านความคิดและพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนได้