สู้วิกฤตน้ำท่วม น้ำแล้ง ด้วยการจัดการน้ำ ชุมชนทุ่งสง เรียนรู้ก้าวสู่ต้นแบบ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ”
เอสซีจี ร่วมกับ มูลนิธิอุทกพัฒน์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) สนับสนุนชุมชนทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช จัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เรียนรู้แก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำหลากรุนแรง และน้ำแล้งซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซากในภาคใต้ให้แก้ไขได้ด้วยตนเอง เกิดความมั่นคงด้านน้ำอุปโภค บริโภค และเกษตร เปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ถ่ายทอดองค์ความรู้มุ่งหวังขยายผลแก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน
ชุมชนทุ่งสงเป็นแหล่งกำเนิดแหล่งน้ำธรรมชาติหลายสายหล่อเลี้ยงจังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้ชาวชุมชนได้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำดังกล่าวในการอุปโภคและการเกษตร โดยก่อนหน้านี้มักประสบปัญหาเรื่องน้ำมาโดยตลอด ทั้งเรื่องปัญหาภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน และปัญหาน้ำท่วมฉับพลันจากน้ำป่าไหลหลากในปีที่มีปริมาณฝนมากกว่าปกติเนื่องจากไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ ส่งผลให้เกิดปัญหาดินโคลนถล่มที่สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัย เมื่อคนในชุมชนและเยาวชนในพื้นที่เริ่มเรียนรู้และร่วมใจกันจัดการแก้ปัญหาด้วยแนวทางการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีทันสมัยและภูมิปัญญาท้องถิ่น ควบคู่กับการจัดการน้ำด้วยระบบน้ำหมุนเวียนตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มีการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้ชุมชนสามารถรอดพ้นภัยแล้งและน้ำท่วม ทั้งยังมีน้ำสำรองเพื่อการเกษตรและมีน้ำสะอาดสำหรับใช้และดื่มอย่างต่อเนื่อง
ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ กล่าวว่า “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ลำดับที่ 24 แห่งนี้นับว่ามีความสำคัญและจะเป็นประโยชน์กับชุมชนอย่างมาก เพราะมุ่งหวังให้เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชนที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาเป็นหลักคิดและประยุกต์ใช้ในพื้นที่ โดยมูลนิธิอุทกพัฒน์ เข้ามาถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำ และ สสน. ได้นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาถ่ายทอดเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนทุ่งสง ครอบคลุมพื้นที่ 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลถ้ำใหญ่ และตำบลนาหลวงเสน โดยมุ่งหวังให้ชาวชุมชนนำองค์ความรู้จากบทเรียนความสำเร็จมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตน เกิดการทำงานร่วมกันในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พร้อมส่งเสริมสนับสนุนเยาวชนในพื้นที่สานต่อเครือข่ายจัดการน้ำชุมชนกลุ่มเยาวชนพนาดร สืบสานพัฒนางานเครือข่ายทุ่งสง เพื่อร่วมสร้างเครือข่ายจัดการน้ำชุมชนที่เข้มแข็ง”
นายชนะ ภูมี Vice President - Cement and Construction Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า “ชุมชนทุ่งสงเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำตรังที่มักประสบปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม ในปี 2559 เอสซีจี ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ สนับสนุนงานจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ของชุมชนทุ่งสง ตำบลถ้ำใหญ่และตำบลนาหลวงเสน ด้วยการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อเพิ่มน้ำต้นทุนจากพื้นที่ป่า และพัฒนาเป็นระบบน้ำดื่มชุมชนที่สะอาด พร้อมส่งเสริมการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ช่วยให้ชุมชนรอดพ้นจากภัยแล้งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในวันนี้ เอสซีจี ยังคงสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมขยายผลการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริต่อไป”
ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนทุ่งสง ได้มีการแบ่งจุดศึกษาดูงานออกเป็น 4 จุดสำคัญ ได้แก่
จุดที่ 1 : ฟื้นฟู-กักเก็บ-สำรอง พื้นที่ฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านวังไทรโดยความร่วมมือของชาวชุมชนและเยาวชนด้วยการปลูกไม้ท้องถิ่นและสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น สามารถช่วยชะลอน้ำ ดักตะกอน และป้องกันดินถล่ม รวมถึงสร้างระบบกักเก็บน้ำด้วยฝายกึ่งถาวรและสระน้ำแก้มลิงเพื่อสำรองน้ำ รวมทั้งสระประจำไร่นาเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำสำหรับการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ทำให้ชาวบ้านอำเภอทุ่งสงมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค สามารถรอดพ้นวิกฤตภัยแล้งได้ในปี 2562
จุดที่ 2 : ป่าต้นน้ำ ผลิตน้ำมาใช้และดื่ม จากความร่วมมือของชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำทำให้มีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น เกิดการพัฒนาเป็นระบบน้ำดื่มชุมชนด้วยการวางระบบท่อส่งน้ำภูเขาด้วยเครื่องระบุพิกัด (GPS) และส่งน้ำผ่านเข้าเก็บยังถังพักสำรองน้ำชุมชนเพื่อเข้าสู่ระบบกรองน้ำดื่มสะอาด โดยโรงกรองน้ำดื่มสะอาดชุมชนตำบลนาหลวงเสนมีอัตราการผลิต 6,000 ลิตรต่อวัน และชุมชนหมู่ 8 บ้านไสเหนือมีน้ำดื่มสะอาดเพียงพอทั้งหมู่บ้าน ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่มได้ 3,000 บาทต่อเดือน
จุดที่ 3 : มั่นคงเครือข่าย รู้เท่าทันสถานการณ์น้ำ ร่วมแก้ปัญหาการเกิดอุทกภัยและดินโคลนถล่มในชุมชนทุ่งสงจากการเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำตรัง โดยคนในชุมชนร่วมเป็นเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ตำบลถ้ำใหญ่ ตำบลถ้ำวัง มีศูนย์กลางระบบการจัดการภัยพิบัติที่ตำบลถ้ำใหญ่ พร้อมขยายเครือข่ายร่วมกับเทศบาลเมืองทุ่งสง ตำบลที่วังตอนล่าง เพื่อเฝ้าระวังตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ครอบคลุมตำบลถ้ำใหญ่และตำบลที่วัง 2 ตำบล 6 หมู่บ้าน ปัจจุบันมีสถานีโทรมาตรตรวจวัดปริมาณฝน และวิทยุสื่อสารเพื่อแจ้งเตือนภัยเมื่อพบปริมาณฝนตกหนัก ช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
จุดที่ 4 : เกษตรครัวเรือน พอเพียง สุขใจ เปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ด้วยการแบ่งพื้นที่ให้มีสระน้ำประจำสวน และเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภค มีปฏิทินการเพาะปลูกให้มีผลผลิตตลอดปีตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการบริโภคเองและแบ่งปันเมื่อเหลือ ตลอดจนการรวมกลุ่มเพื่อขายสินค้าทางการเกษตรจนเกิดการขยายผลอย่างต่อเนื่องจาก 2 รายเป็น 11 ราย และขยายผลเอง 5 ราย ปัจจุบันมีผู้ทำแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่รวม 16 ราย สามารถเพิ่มรายได้ 343,403 บาทต่อปี
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนทุ่งสง คืออีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดจากการร่วมคิดร่วมทำของคนในชุมชนและเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อดูแลและสร้างแนวทางจัดการน้ำอันเป็นแหล่งต้นทุนสำคัญของชีวิต และสร้างบทเรียนแห่งความสำเร็จที่พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจไปสู่ชุมชนอื่นเพื่อนำไปปรับใช้ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความมั่นคงทางอาชีพอย่างยั่งยืน