เครือซีพีผนึกกำลัง 4 ประสาน “ภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคมและเกษตรกร”สร้างเครือข่ายเข้มแข็ง ขับเคลื่อนจากนโยบายสู่การเปลี่ยนแปลง บ้านกองกาย อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นไม่ทำร้ายธรรมชาติ
.................................
หลังจากที่หลายภาคส่วนในพื้นที่ร่วมกันรณรงค์ป้องกัน และหยุดการเผาป่าในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ภายใต้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ "แม่แจ่มโมเดลพลัส" ด้วยเป้าหมายสำคัญ คือ ลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มพื้นที่ป่าที่จะนำไปสู่การหยุด "หมอกควัน" จากไฟไหม้ป่าได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนการส่งเสริมอาชีพ เพื่อจะลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดและพืชเชิงเดี่ยว โดยหันไปปลูกพืชไม้ชนิดอื่นทดแทน อาทิ การปลูกไผ่ และกาแฟ พืชที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ รวมทั้งสนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของชุมชน เพื่อยกระดับและปรับเปลี่ยน เศรษฐกิจท้องถิ่นที่ไม่ทำร้ายธรรมชาติ ตลอดจนยกระดับชุมชนไปสู่การทำ Social Enterprise (SE)
จากความร่วมมือของภาคส่วนชุมชนและประชาสังคม 6 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิฮักเมืองแจ๋ม มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ มูลนิธิไทยรักษ์ป่า สถาบันอ้อผะหญา (องค์กรสาธารณประโยชน์) ศูนย์สารสนเทศเพื่อการจัดการทรัพยากรโดยการมีส่วนร่วมอำเภอแม่แจ่ม องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านทับ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในการดำเนินการร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า และการพัฒนาอาชีพเกษตรกรอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
นายเฉลิมเกียรติ พิทาคำ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านทับ กล่าวว่า หากพื้นที่เกิดปัญหาเราต้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหาเพื่อให้ราษฎรในพื้นที่ทำกินอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เรื่องของป่าคือสิ่งที่เราทุกคนต้องช่วยกัน ซึ่งภาครัฐได้ผสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน วางกฎและแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า และต้องอาศัยความรู้เฉพาะทางจากหลายภาคส่วนในการแก้ปัญหา โดยเฉพะภาคเอกชน อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่เข้ามาร่วมให้การสนับสนุน และบริหารจัดการทุกกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ รวมถึงการตลาด เพื่อสร้างความมั่นใจให้ชุมชนบ้านกองกายมีความเข้มแข็ง และมั่นใจว่าหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ จะถือเป็นต้นแบบให้ประชาชนทุกคนเดินตามได้อย่างแน่นอน
ด้าน นายสมเกียรติ มีธรรม เลขานุการมูลนิธิฮักเมืองแจ่มกล่าวว่า มูลนิธิฮักเมืองแจ่มได้เข้ามามีบทบาทดูแลสภาพแวดล้อมและสังคมมาอย่างยาวนาน และยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแนวคิดขับเคลื่อนชุมชน เพื่อช่วยเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเพิ่มมิติขององค์ความรู้ สนับสนุนการสร้างอาชีพเพื่อเกิดความยั่งยืนที่ฟื้นฟูธรรมชาติ ซึ่งที่ผ่านมาต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย แต่นำไปเป็นแรงผลักดันในการทำหน้าที่ให้ประสบความสำเร็จ
นายเคอะ รัตนพงไพรรักษา คณะกรรมการกลุ่มวิสากิจชุมชนเกษตรกรบ้านกองกาย ผู้เข้าร่วมโครงการกล่าวว่า เหตุที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เพราะอยากให้ชุมชนบ้านทับเกิดการเปลี่ยนแปลง และสร้างแรงบันดาลใจให้คนรอบข้าง ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ทำกินคือ การดำเนินการเกษตรรูปแบบใหม่ในวิถีเดิมที่จะสามารถช่วยลดการบุกรุกพื้นที่ป่าและเพิ่มการฟื้นคืนธรรมชาติให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อคนรุ่นหลัง
ขณะที่ นายพัฒฐพงศ์ วุฒิสาร ผู้จัดการแผนก หน่วยงานพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร สนับสนุนการขับเคลื่อนชุมชน เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพในเขตพื้นที่บ้านกองกาย ต.บ้านทับ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยช่วงแรกมีอุปสรรคมากมาย ทำให้ท้อบ้างแต่ไม่ถอย เพราะทุกสิ่งล้วนเป็นสิ่งใหม่ที่เข้ามา สร้างความท้าทายในการทำงานอย่างเต็มรูปแบบให้อยู่เสมอ นับเป็นโจทย์ที่ต้องทำให้สำเร็จ และสร้างความเชื่อมั่นสู่เป้าหมายความสำเร็จร่วมกัน
ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ มุ่งมั่นการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างคุณค่าประโยชน์ร่วมกันทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เครือฯ จึงมีการขับเคลื่อนควบคู่การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพตลอดโซ่อุปทานเพื่อให้ตอบโจทย์อาชีพรายได้ของเกษตรกรที่หาทางเลือกใหม่ ออกไปจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว สามารถบ่มเพาะผู้นำ นำความรู้มาปฏิบัติ ถ่ายทอดองค์ความรู้ เเละสร้างความตระหนักเเก้ไขปัญหาเรื่องหมอกควันไฟป่า ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการจัดการป่าอเนกประโยชน์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชา ปรับเปลี่ยนพื้นที่ด้วยการปลูกพืชแบบผสมผสานและมีจำนวนต้นไม้ที่ดูแลตลอดทั้งโครงการจำนวน 40,102 ต้น ในพื้นที่ 93 ไร่ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนา ปรับเปลี่ยนที่ดินทำกินยั่งยืนสืบไป