สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โอนงบบัตรทองรอบแรกสู่หน่วยบริการแล้ว 2.19 หมื่นล้านบาท
“อนุทิน” ลงนามประกาศหลักเกณฑ์จัดสรรงบกองทุนบัตรทอง ปีงบประมาณ 2564 แล้ว พร้อมกำชับ สปสช. เร่งโอนงบสู่หน่วยบริการ ดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องไม่ให้เกิดผลกระทบ ระบุรอบแรกกระจายงบสู่โรงพยาบาลแล้ว 2.19 หมื่นล้านบาท เตรียมโอนเพิ่มเติม 5.4 พันล้านบาท เผยหลักเกณฑ์จัดสรรงบ เน้นเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างเป็นธรรม เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริการประชาชน
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ลงนามในประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขหน่วยบริการ พ.ศ. 2563 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 สปสช. ได้เร่งโอนงบประมาณงวดที่ 1 ให้กับหน่วยบริการทั่วประเทศแล้ว จำนวน 21,885,372,379.42 บาท เพื่อเป็นค่าบริการผู้ป่วยนอก (OP), บริการผู้ป่วยใน (IP), บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) และงบค่าใช้จ่ายสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอยู่ระหว่างดำเนินการโอนเงินอีกจำนวน 5,407,701,226.93 บาท
“ในทุกปี สปสช. จะโอนงบประมาณบัตรทองลงไปที่หน่วยบริการทั่วประเทศโดยเร็ว เพื่อให้นำงบไปบริหารจัดการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้เกิดช่องว่างช่วงรอยต่อปีงบประมาณ แม้ว่าปีนี้จะล่าช้าไปบ้างจากข้อติดขัดทางกฎหมาย แต่ประธานบอร์ด สปสช. ได้กำชับ สปสช. ให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชน ซึ่ง สปสช. ดำเนินการทันทีหลังประกาศมีผลบังคับใช้ โดยหน่วยบริการทั่วประเทศได้รับโอนงบประมาณเหมาจ่ายในรอบแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การจัดสรรงงบประมาณสู่หน่วยบริการปี 2564 มีหลักการสำคัญ นอกจากปรับสอดคล้อง National guideline สาธารณสุข แนวทางการจ่ายที่ไม่ซับซ้อนแล้ว ยังเน้นการสร้างความเป็นธรรมต่อประชาชนและผู้ป่วยที่จะได้รับบริการสาธารณสุข เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพผลงานบริการสาธารณสุข การสร้างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน การจัดบริการที่สอดคล้องกับนโยบายการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ลดความแออัดในหน่วยบริการภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารเงินกองทุนในด้านต่างๆ ทั้งการจ่ายค่าบริการสาธารณสุข การสนับสนุนการจัดบริการ ค่าจ่ายกรณีค่ายา วัคซีน เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ สนับสนุนการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ไทยและจีโนมิกส์ไทย เป็นต้น