สสส.-เครือข่ายสวนผักคนเมือง หนุนการสร้างความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤตโควิด-19 โดยสร้างนักปลูกเมือง ปลูกชีวิต ให้สามารถพึ่งพาตัวเอง รวมทั้งส่งเสริมให้คนไทยกินผักผลไม้ให้มาก เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดี
..............................
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) จัดเทศกาลสวนผักคนเมือง ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “เมือง Movement on ไม่ทิ้งความมั่นคงทางอาหารไว้ข้างหลัง” เพื่อเพิ่มพื้นที่ผลิตอาหารของเมือง เชื่อมโยงการกระจายอาหารด้วยตลาดทางเลือกในเมือง และกระตุ้นให้คนไทยกินผักผลไม้เพิ่มขึ้น
ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ (สสส.) กล่าวว่า “ผักและผลไม้เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งวิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร สารต้านอนุมูลอิรสระ ซึ่งมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยสูงถึงร้อยละ 70 แต่จากผลการสำรวจข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า มีคนไทยเพียง 4 ใน 10 คนเท่านั้น ที่ได้กินผักผลไม้ในปริมาณเพียงพอ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากอุปสรรคด้านสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อ เช่น ร้านสะดวกซื้อที่เน้นขายอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแปรรูปที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง , ร้านอาหารจานด่วนที่มีผักผลไม้เป็นส่วนประกอบน้อย เป็นต้น
“ดังนั้น สสส. จึงมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้คนไทยได้กินผักผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ข้อแนะนำ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี รวมทั้งแนะนำให้ปรับการกินอาหารทุกมื้อต้องมีผักและผลไม้เป็นส่วนประกอบ” ทพญ.จันทนา กล่าว
นางสุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า โครงการสวนผักคนเมือง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ตระหนักถึงปัญหาคนเมืองด้านอาหารมากที่สุด โดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงพยายามยกระดับการพึ่งตนเอง เริ่มจากปรับชุดความคิดคนเมือง ให้รู้จักปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมี ทำให้ทุกคนมีส่วนแสดงความคิดเห็นพัฒนาระบบอาหารยั่งยืนควบคู่กับวิถีชีวิตที่เกื้อกูลธรรมชาติ ผ่านกลไกลการตลาดที่เชื่อมโยงสู่ผู้บริโภคในรูปแบบ City Farm Market
“วิกฤตในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม ปี2554 ฝุ่น PM 2.5 และโควิด-19 ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและคุณภาพชีวิตของคนเมือง ความท้าทายนี้จะยังคงเป็นปัญหาที่ไม่มีคำตอบและไม่มีทางออก แต่เมื่อเริ่มปลูกผัก คนเมืองจะได้สัมผัสคุณค่าของพื้นดิน ทำให้พวกเขาเข้าใจวิถีเกษตรกรรมธรรมชาติ เราจึงเรียนรู้ว่า การปลูกเมืองคือการปลูกชีวิต” นางสุภา กล่าว
ผศ.ดร.สักรินทร์ แซ่ภู่ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า โจทย์สำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างระบบอาหารยั่งยืน คือ การทำให้พื้นที่ชุมชนแออัดไม่ถูกมองในแง่ลบ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “โครงการสวนแบ่งปัน” ที่ใช้วิกฤตโควิด-19 ปรับพื้นที่รกร้างหรือพื้นที่ว่างให้เป็นพื้นที่ปลูกผัก สวนแห่งนี้ไม่ได้มองแค่เรื่องความมั่นคงทางอาหาร แต่ต้องการเปลี่ยนชุดความคิดว่า ชุมชนแออัดเป็นพื้นที่สร้างอาหารปลอดภัย ควบคู่ ความมั่นคงทางอาหาร บนพื้นฐานการเกื้อกูลกันได้ โดยใช้ “ผัก” เป็นชุดเครื่องมือที่ทำให้ทุกคนในชุมชนหันมาช่วยกันดูแล ควบคู่กับการมีผังเมืองที่ทำให้เห็นความสำคัญของพื้นที่อาหาร ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว” ผศ.ดร.สักรินทร์ กล่าว