แอมเนสตี้ ประเทศไทยเปิดตัวโครงการ “Write For Rights” แคมเปญเพื่อการ “เขียน เปลี่ยน โลก”
..................................
ถ้อยคำหรือข้อความจากคุณสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนคนหนึ่งได้ นี่คือจุดเริ่มต้น ของ “Write For Rights” แคมเปญเพื่อการ “เขียน เปลี่ยน โลก” ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในประเทศต่างๆ ปัจจุบันทั่วโลกยังมีคนที่กำลังถูกคุกคามเสรีภาพ การลิดรอนเสรีภาพ ไม่ได้หมายถึงแค่การถูกคุมขังเสมอไป แต่อาจหมายถึงการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เพราะว่ารัฐบาลไม่ต้องการให้ประชาชนออกมาพูดพาดพิงถึงความ อยุติธรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจหมายถึงการที่ชุมชนถูกบังคับให้ออกจากถิ่นฐานของบรรพบุรุษ การเลือกปฏิบัติในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศสภาพ ศาสนา และเพศวิถี และเพราะว่าโลกใบนี้มีความอยุติธรรมเกิดขึ้นมากมาย ที่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แคมเปญ “เขียน เปลี่ยน โลก” สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง
“Write for Rights” คือแคมเปญจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชิญชวนผู้สนับสนุนจากทั่วโลกเขียนจดหมายหลายล้านฉบับให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือครอบครัวโดยตรง เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่าไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง นอกจากการส่งข้อความเพื่อให้กำลังใจผู้ถูกละเมิดสิทธิแล้ว ผู้คนยังเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ได้รับผลกระทบ การรณรงค์ของแอมเนสตี้เป็นการสื่อข้อความไปทั่วโลกว่า ประชาชนพร้อมจะยืนหยัดต่อสู้กับการใช้อำนาจอย่างมิชอบไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดก็ตาม
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดรายการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊ก “ห้องเรียนสิทธิมนุษยชนออนไลน์: Write for Rights - เขียน เปลี่ยน โลก” วิทยากรโดย จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ดำเนินรายการโดย พชร สูงเด่น รองบรรณาธิการ a day BULLETIN
ให้กำลังใจผู้ถูกกระทำและกดดันผู้มีอำนาจ
เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เล่าถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ “Write for Rights - เขียน เปลี่ยน โลก” ว่าต้องการให้คนจากทุกที่ทั่วโลกได้รับรู้ว่าในพื้นที่อื่นประเทศอื่นที่ไม่ใช่ที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่นั้นเกิดความไม่ยุติธรรม และเชิญชวนให้พวกเข้าร่วมส่งกำลังใจด้วยการเขียนข้อความลงในจดหมายหรือโปสการ์ดเพื่อส่งไปให้กับบุคคลที่ถูกควบคุมตัวจากการออกมาเรียกร้องหรือเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ให้พวกเขาได้รับรู้ว่าเขาไม่ได้ถูกลืมและมีคนจำนวนมากจากทั่วโลก ต้องการให้กำลังใจและสนับสนุนพวกเขา
“เราต้องการทำให้คนที่ต้องติดคุกจากความไม่ยุติธรรมรับรู้ว่าเขายังไม่ถูกลืม เป็นโครงการที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่เราเห็นว่าความไม่ยุติธรรมไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสังคมใดสังคมหนึ่งเท่านั้น แต่กลับเป็นอะไรที่เกิดขึ้นทั่วโลก เราอยากทำให้สังคมเห็นว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ด้วยการจัดทำรายงานวิจัย รณรงค์ให้มีการเขียนจดหมาย และ Write for Rights ก็เป็นหนึ่งในแคมเปญที่ใหญ่ที่สุดของแอมเนสตี้” เพชรรัตน์กล่าว
นอกจากนี้ เพชรรัตน์ ยังกล่าวเสริมอีกว่า โครงการ Write for Rights ไม่ได้เชิญชวนผู้คนให้เขียนจดหมายถึงแต่เฉพาะผู้ถูกกระทำเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนให้มีการเขียนจดหมายถึงผู้กระทำหรือผู้ก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมไปพร้อมกันด้วย เพื่อเป็นกดกันให้ผู้มีอำนาจออกมาปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเหมาะสม และบอกให้เขารับรู้ว่ามีคนทั่วโลกจับตามองกับการกระทำที่ไม่ถูกต้องของพวกเขา เรียกร้องให้เขาปล่อยคนที่คิดต่างออกมาจากการคุมขัง และปรับเปลี่ยนกฎหมายให้มีความยุติธรรมมากขึ้น
“เราเชื่อว่าการเขียนมีพลังและถ้อยคำของคนก็มีพลังมาก ซึ่งแอมเนสตี้ก็เริ่มมาจากตรงนี้ เห็นคนที่โดนจับ มีความไม่ยุติธรรมในสังคม ออกมาเขียนออกมาพูดเกี่ยวกับความไม่ยุติธรรมต่าง ๆ กดดันรัฐบาล กดดันผู้ที่ถืออำนาจให้เขาได้รู้ตัวว่ามีคนจับตามองเขาอยู่นะ ขอให้ผู้มีอำนาจปล่อยเพื่อนเรา ขอให้ปล่อยบุคคลธรรมดาที่ถูกจับในเรื่องที่ไม่ยุติธรรม ขอให้รัฐบาลหรือตำรวจปกป้องรักษาประชาชน”
โครงการ Write for Rights เป็นหนึ่งในวิธีการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และของไทย เกิดขึ้นมาแล้วกว่า 18 ปี ดำเนินงานใน 170 ประเทศทั่วโลก มีผู้ให้การสนับสนุนกว่า 10 ล้านคน มีจุดเริ่มต้นจากการเห็นความไม่ยุติธรรมที่ไม่ใช่แค่ในสังคมใดสังคมหนึ่ง แต่เป็นความยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับสังคมโลก
ผู้มีอำนาจกับการธำรงความยุติธรรม
นับตั้งแต่โครงการนี้ก่อตัวขึ้น หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าการส่งจดหมายเพื่อกดดันรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้นประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด เพชรรัตน์ กล่าวว่า การส่งจดหมายไปยังผู้ถูกคุมขังในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกนั้น จะต้องมีการเลือกกรณีบุคคลที่พอจะทำให้คนในสังคมมีความรู้สึกว่าแม้ไม่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่หากไม่ช่วยกันแสงดความไม่เห็นด้วย ความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนอื่นอาจเกิดขึ้นกับตัวเอง
“จดหมายจะสามารถเปลี่ยนทุกอย่างได้จริงเหรอ แน่นอนว่าไม่ใช่เขาคนเดียวที่โดนจับ มีคนอีกมากมายที่ถูกจับ บุคคลที่เราเลือกเพื่อเชิญชวนให้ผู้คนส่งจดหมายไปนั้น เพราะเห็นจะช่วยสร้างโดนิโนเอฟเฟกต์ (domino effect) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปยังผู้ถูกกระทำคนอื่น ๆ ต่อไปได้”
ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มีแนวทางในการจัดการรณรงค์หลากหลายแบบ ทั้งจากข้างล่างขึ้นข้างบน และข้างบนลงข้างล่าง สำหรับวิธีการจากข้างล่างคือ การพยายามทำให้สังคมเห็นว่าทำไมเรื่องราวที่เกิดขึ้นจึงไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ การรณรงค์ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ต้องเข้าถึงบุคคลที่มีอำนาจในการตัดสินใจ และที่สำคัญที่สุดคือ “ทุกอย่างมีกระบวนการ ไม่สามารถทำงานวันเดียวจบได้ แต่ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ” เพชรรัตน์ กล่าว
ความที่แอมเนสตี้มีสำนักงานอยู่ทั่วโลก มีผู้ติดตามบุคคลที่ถูกกระทำจากความไม่ยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีของอัลเฟรด วูดฟอร์ด ถูกจับขังเดี่ยวไปเมื่อ 40 ปีก่อน ข้อหาฆาตกรรม แอมเนสตี้ในสหรัฐฯ ตั้งโครงการให้คนช่วยกันเขียนจดหมายจากทั่วโลก โดยมีจดหมายจำนวน 2 แสน 4 หมื่นฉบับจากทั่วโลกส่งไปที่เรือนจำ กระทั่งเขาได้รับการปล่อยตัวในปี 2559 อัลเฟรดบอกว่ารู้สึกดีมากที่คนทั่วโลกยังอยู่กับเขา เขาไม่ได้เดียวดายหรืออยู่คนดียวบนโลกใบนี้ จากนั้นก็มีนักข่าว มีนักเคลื่อนไหวทางสังคมติดตามคดี จนนำไปสู่การกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายต่อไป
หรือกรณีของเพียว เพียว อ่อง นักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวเมียนมา ออกมาเรียกร้องสิทธิด้านการศึกษา ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปีด้วยข้อหาชุมนุมยุยงปลุกปั่น แอมเนสตี้จึงออกมารณรงค์ว่าการกระทำของเขาเป็นเสรีภาพในการแสดงออกขั้นพื้นฐาน และการออกมาเคลื่อนไหวด้านการศึกษาควรได้รับการยอมรับ กระทั่งรัฐบาลเมียนตัดสินใจปล่อยตัว
นอกจากนี้ ยังมีคำถามที่ว่าการดำเนินการกดดันระหว่างประเทศมีคุณประโยชน์อย่างไร เพชรรัตน์ อธิบายว่า
“ถ้ามองในภาพรัฐบาลต่อรัฐบาล ความเป็นจริงแล้วไม่มีรัฐบาลใดอยู่เพียงลำพังได้ มีการติดต่อกันเรื่องเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มีเรื่องความมั่นคงต่าง ๆ การทำงานของรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องประสานความสัมพันธ์กันอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลหนึ่งที่ส่งข้าวไปขายได้ตลอด แต่มาวันหนึ่งบอกว่าจะไม่รับซื้อข้าวด้วยอีก ถ้าไม่ทำเรื่องนี้ให้ดีขึ้น ก็เป็นการกดดันในภาพใหญ่ เพราะสังคมยังต้องการการค้าขายระหว่างกันอยู่ มีการเมืองระหว่างประเทศที่ยังใช้อยู่”
ความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งสากล ความยุติธรรมก็เช่นกัน
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) นักปกป้องสิทธิมนุษยชน บอกเล่าถึงความรู้สึกหลังจากได้รับจดหมายส่งกำลังใจถึงผู้ถูกกระทำจากความไม่ยุติธรรมในโครงการ Write for Rights ขณะที่เขาถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลาสองปีกว่าจากข้อหาแชร์ข่าวพระราชประวัติของรัชกาลที่ 10 ของสำนักข่าวบีบีไทยเมื่อปี 2560 ว่าเป็นกำลังใจเป็นอย่างมาก ทำให้รู้สึกมีกำลังใจเมื่อรู้ว่ามีคนจำนวนมากมองเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาปราศจากความยุติธรรม ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในคุกเขาได้รับจดหมายเป็นจำนวนมาก จนถึงขณะนี้ก็ยังคงเก็บจดหมายเหล่านั้นไว้อยู่
“ได้รับจดหมายจากหลายที่ จากฝรั่งเศสทำแคมเปญมีรูปเราด้วย บางที่ก็เขียนมาเล่าสถานการณ์ที่นั้นให้ฟัง ทำให้เราคิด ณ ตอนนั้นได้ว่าความเป็นมนุษย์มีความเป็นสากล เราไม่รู้จักกัน แต่ในเมื่อเกิดความอยุติธรรมขึ้นกับมนุษย์คนหนึ่ง มนุษย์คนอื่น ๆ ในพื้นที่อื่นก็พร้อมที่จะสนับสนุน ให้กำลังใจ พร้อมที่จะปกป้อง ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้เดียวดายบนโลกใบนี้”
“ตอนอยู่ในคุก บางครั้งก็รู้สึกสูญเสียความมั่นใจ สูญเสียความเป็นมนุษย์ไปอยู่บ้าง เพราะเราถูกกระทำจนเป็นเรื่องปกติทั้งที่ไม่ปกติ ถ้ารู้สึกด้านชาก็เป็นอะไรที่ไม่ควรจะเป็น แต่พอได้รับจดหมายก็ทำให้หัวใจชุ่มชื้นขึ้น จากที่หมดหวังก็มีหวังมากขึ้น ที่มนุษย์ในซีกโลกอื่นก็ยังเห็นด้วยกับเรา ยังสนับสนุนให้กำลังใจเรา เข้าใจเรา เพราะตอนนั้นสิ่งที่เราทำถูกมองว่าผิด คนที่เข้าไปอยู่ในคุกทุกคนถูกมองว่าผิด โดยที่ไม่มีใครมาชี้แจงว่าผิดเพราะอะไร ซึ่งไม่ยุติธรรม”
“ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ ความอยุติธรรมเกิดขึ้นกับเพื่อนมนุษย์ เราก็ควรจะออกมาทำอะไรสักอย่าง การเขียนก็เป็นการแสดงออกอีกช่องทางหนึ่ง อย่างน้อยการมีจิตใจเผื่อแพร่ เห็นความไม่ยุติธรรม อยากให้เพื่อนมนุษย์ได้รับความยุติธรรม การกระทำเป็นตัวช่วยการแสดงออกว่าเราคิดอย่างไร การเขียนก็เป็นการแสดงออกแบบหนึ่ง แสดงและยืนยันความเป็นมนุษย์อีกแบบหนึ่ง” จตุภัทร์ กล่าวทิ้งท้าย
สอดคล้องกับเพชรรัตน์ ที่อธิบายว่าทุกคนต่างมีสัญชาตญาณความเป็นคนอยู่ และกับเรื่องความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น ควรออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยด้วยการกดดันผู้มีอำนาจ หากใช้วิธีการหนึ่งไม่ได้ผลก็ลองเปลี่ยนวิธีการแสดงออกไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้แนวทางที่เหมาะสม และเชื่อมั่นว่าในท้ายที่สุดแล้วผู้มีอำนาจจะต้องฟัง เพราะเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งในสังคมเช่นเดียวกับเราทุกคน
นอกจากนี้ เพชรรัตน์ยังมองว่าการเขียนเป็นการกระทำที่มีประโยชน์ เป็นวิธีการสื่อสารที่มีส่วนช่วยให้คนที่ต้องการสื่อสารได้เรียนรู้ทำความเข้าใจข้อมูล เรียบเรียงความคิด และตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวก่อนจึงลงมือเขียนเพื่อสื่อสารสิ่งที่ตนต้องการเห็น อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต
“การเขียนเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราในฐานะคนเขียนได้เรียนรู้ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้น เรียนรู้ประวัติศาสตร์ว่าทำไมคนแบบไผ่ถึงถูกจับ และตั้งคำถามว่าสมควรไหม เพราะก่อนที่จะเขียนจะต้องคิดก่อน แล้วก็วิเคราะห์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ถูกต้อง แล้วเราสามารถทำอะไรได้บ้าง เราสามารถช่วยเหลือเขาได้ในทางจิตใจ และช่วยเหลือเขาได้ด้วยการไปกดดันกับคนที่กำลังทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นการเรียนรู้เชิงความคิด เป็นการตั้งคำถามกับตัวเองว่าตอนนี้เราทำอะไรอยู่ แล้วเราอยากให้สังคมเป็นแบบไหนต่อไป”
ปฏิบัติการณ์ด่วนทั้งในไทยและทั่วโลกเพื่อยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน
เพชรรัตน์ กล่าวอีกว่า ความสำเร็จของกิจกรรม Write for Rights- เขียน เปลี่ยน โลก และปฏิบัติการณ์ด่วนทั้งในไทยและทั่วโลกการเลือกเคส แน่นอนว่าปีหนึ่งไม่ใช่ว่ามี 10 คน ปีหนึ่งที่โดนละเมิด แต่มันมีคนถูกละเมิดมากมาย ทั้งปีเราไม่ได้ทำแคมเปญเดียว แต่มีคนถูกละเมิดมากมาย เราทำหลายแคมเปญมาก ทั้งเสรีภาพในการเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม การปกป้องสิทธิ เสรีภาพผู้หญิง ผู้ลี้ภัย เคสแต่ละเคสก็จะมีไฮไลท์ขึ้นมา
นอกจากนั้นก็จะมีสิ่งที่เรียกว่าปฏิบัติการณ์ด่วน (urgent action) เช่น เราเห็นว่าคนโดนจับและถูกลิดลอนสิทธิเสรีภาพ การแสดงออก เราก็จะออกเป็นจดหมายที่ออกมาแบบเร็วๆ ไปถึงสมาชิกทั่วโลกว่าตอนนี้คนนี้โดนจับ ช่วยกันเขียนจดหมายไปกดดัน จะมีเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ ถ้าหลัง 6 สัปดาห์แล้วปัญหายังอยู่ก็จะกลายเป็น “ผู้เผชิญความเสี่ยง” ( individual at risk) แล้วถ้าต้องการความเข้มข้นขึ้นมา เราก็จะดึงออกมาเป็น Write for Rights เราจะเลือกให้ตามประเด็นที่มีความหลากหลายมากขึ้น แล้วเราก็พยายามทุกปีที่จะทำให้เคสเป็นที่รู้จัก ทั้งในแอฟริกา เอเชีย ตะวันออกกลาง เพื่อทำให้เห็นว่ามีเรื่องพวกนี้เกิดขึ้นจริงๆ แต่สุดท้ายแล้ว ปัญหาของแต่ละประเด็นนั้นคล้ายกันมาก ถ้าเคสไหนที่มีลักษณะเดียวกันกับคนที่ถูกปล่อย เคสอื่นก็ควรจะต้องได้รับการปล่อยตัวด้วย เหมือนเป็นการส่งข้อความไปยังเคสอื่นๆ ในแต่ละประเทศไทยด้วย
3 เคสไฮไลท์สำหรับประเทศไทยในปี 2563
ในปีนี้ แอมเนสตี้ ประเทศไทยขอชวนคนไทยเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อส่งกำลังใจให้ผู้ที่ติดอยู่ในวงจรของความอยุติธรรม เสียงเล็กๆ ของพวกเรามีพลังที่ยิ่งใหญ่ เพราะหากไม่มีความช่วยเหลือจากเราแล้ว ความยุติธรรมที่พวกเขาควรได้รับอาจล่าช้าออกไปอีก ดังนั้นจึงเชิญชวนร่วมลงชื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับทั้ง 3 เคสนี้
1.นัซซีมา อัล-ซาดา หนึ่งในแกนนำผู้เรียกร้องสิทธิสตรีเพื่อที่จะได้ขับรถและสิทธิที่จะได้ออกไปทำธุระประจำวันโดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากผู้ปกครองที่เป็นผู้ชาย นับแต่ถูกจับกุมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 เธอถูกควบคุมตัวไว้ตลอด เธอได้รับการปฏิบัติที่โหดร้ายและย่ำยีศักดิ์ศรีและถูกขังเดี่ยว เพียงเพราะการทำงานเพื่อปกป้องสิทธิสตรีของเธอ
2.ฆาลิด ดราเรนี ฆาลิด เป็นผู้สื่อข่าวอิสระคนแรก ๆที่รายงานข่าวการประท้วงที่เกิดขึ้นทุกสัปดาห์ในขบวนการฮีรัคถือกำเนิดขึ้นในครั้งแรก และบันทึกข้อมูลการใช้ความรุนแรงของตำรวจทุกครั้ง แต่เขาถูกทำให้เป็นฝ่ายตรงข้ามกับทางการ มีการควบคุมตัวเขาหลายครั้งในวันที่ 27 มีนาคม 2563 ฆาเหล็ดถูกจับระหว่างทำข่าวการเดินขบวน เขาถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นให้มีการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ แม้ว่าเขาเพียงแต่ทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว เขาได้รับโทษจำคุกเพียงเพราะทำหน้าที่ของตนเอง
3.กลุ่มนักศึกษา METU กลุ่มเพื่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศก่อตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัย METU เมื่อปี 2539 พวกเขาจัดกิจกรรมเดินขบวนเพื่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทุกปีในบริเวณมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2554 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในปี 2562 ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยแจ้งว่าจะไม่อนุญาตให้เดินขบวนบริเวณมหาวิทยาลัยในวันที่ 10 พฤษภาคม โดยทางกลุ่มไม่ยอมรับคำสั่งนี้ และได้นั่งชุมนุมประท้วงอย่างสงบแทนการเดินขบวน ทางมหาวิทยาลัยจึงเรียกตำรวจมา และมีการใช้กำลังจนเกินกว่าเหตุ รวมทั้งการยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม ตำรวจจับนักศึกษาไปอย่างน้อย 23 คน รวมทั้งเมลิกีและเอิร์ซกูร และนักวิชาการอีกหนึ่งคน
จะเห็นได้ว่า เคสเหล่านี้มีความคล้ายกับที่นักศึกษาพยายามออกมาเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมให้กับตัวเอง แต่กลับถูกละเมิดโดยครู อาจารย์ รัฐบาล โดย 3 เคยนี้ที่ประเทศไทยเลือกมา คือมีความคล้ายกับประเทศเราบ้าง เพื่อแสดงให้เห็นว่าการลิดลอนสิทธิเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก
โลก “ความยุติธรรม” ไร้พรมแดน
มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ให้ความสำคัญกับการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน "ความอยุติธรรมไม่ว่าเกิดขึ้นที่ใด ก็เป็นภัยคุกคามความยุติธรรมทุกหนทุกแห่ง" (Injustice anywhere is a threat to justice everywhere.)
จตุภัทร์กล่าวถึงแนวคิดนี้ว่า ถ้าเราไม่รู้สึกว่ามีความอยุติธรรมอยู่ในประเทศ ความอยุติธรรมที่ว่านี้ก็จะถูกใช้ต่อไป เพราะกลายเป็นว่าใช้แบบนี้แล้วคนเงียบ ใช้แบบนี้แล้วสามารถจัดการกับคนที่คิดต่างได้ ดังนั้นเราต้องทำให้โลกเห็นว่านี่คือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แล้วก็ไม่ควรจะมีเคสแบบนี้เกิดขึ้นอีก
ไผ่ย้ำอีกว่า “สิทธิมนุษยชนไม่มีอาณาเขตรัฐ ไม่สามารถระบุว่าสิทธิมนุษยชนมีจำกัดแค่ในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่มันคือความเป็นคน ถ้าเราเชื่อว่าความเป็นคนมีความสำคัญ ไม่ว่าจะสีผิวไหน ชาติใด ต่างก็สำคัญทั้งนั้น”
ร่วมลงชื่อถึงผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ที่นี่ https://www.amnesty.or.th/get-involved/take-action/w4r20/