ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 ดินแดงเพิ่มแพทย์-เภสัชกร รองรับผู้ป่วยหลังมีผู้มารับบริการเพิ่มขึ้นกว่า 50% ชี้จะพยายามตรวจรักษาให้ได้ทุกคนเพราะไม่อยากให้คนไข้ผิดหวังกลับบ้าน
...........................
พญ.ณัฐินี อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข 4 ดินแดง เปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ยกเลิกสัญญากับคลินิกชุมชนอบอุ่นไปเมื่อเร็วๆ นี้และขณะนี้อยู่ระหว่างการเชิญชวนคลินิกเอกชนให้มาเข้าร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพนั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ได้มาประชาชนมารับบริการที่ศูนย์ฯมากขึ้น 50% จากเดิม 156 ราย/วัน เพิ่มเป็น 240 ราย/วัน
ทั้งนี้ โดยปกติแล้วศูนย์บริการสาธารณสุข 4 ดินแดง เป็นศูนย์ที่มีผู้ป่วยมารับบริการมากเป็นอันดับ 1 ของศูนย์ฯทั้งหมดของ กทม. และเปิดตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม จันทร์-ศุกร์ อยู่แล้ว โดยให้บริการตรวจรักษาโรคระหว่าง 8.00-12.00 น. และ 16.00-20.00 น. ส่วนช่วงบ่ายจะให้บริการส่งเสริมสุขภาพสำหรับคนปกติที่ไม่ป่วย ประกอบด้วยวันจันทร์ให้บริการฝากครรภ์ อังคาร/พฤหัสบดีคลินิกเด็กสุขภาพดี พุธเป็นคลินิกส่งเสริมสุขภาพสตรี แต่เมื่อมีปริมาณผู้รับบริการมากขึ้น ทางศูนย์ได้เชิญแพทย์ที่เกษียณแล้วและเภสัชกรพาร์ทไทม์มาให้บริการเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทุกคน
"ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาจะเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง จากเขตดินแดงและเขตใกล้เคียง ซึ่งเราก็ไม่อยากให้คนไข้ผิดหวังกลับบ้านจึงพยายามตรวจรักษาทุกคนที่เข้ามา โดยจากปกติเรามีห้องตรวจ 5 ห้อง มีแพทย์ออกตรวจ 3 คน/วัน แต่ตั้งแต่มีคนไข้เยอะขึ้นก็เพิ่มจำนวนแพทย์เป็น 4-5 คน/วัน รวมทั้งเพิ่มเภสัชกรอีกจำนวนหนึ่งในช่วงครึ่งวันเช้าเพื่อให้สามารถให้บริการได้รวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังมีน้องๆ นักศึกษาเภสัชฯที่มาฝึกงานอีก ซึ่งก็ช่วยได้เยอะ อย่างไรก็ดี ถ้าคนไข้มีแนวโน้มเยอะขึ้นไปอีก เราจะเปิดบริการตรวจรักษาโรคเพิ่มในช่วงบ่ายวันพุธหรือศุกร์ แต่ขณะนี้ยังสามารถรองรับได้อยู่ คนไข้ยังไม่ต้องผิดหวังกลับบ้าน" พญ.ณัฐินี กล่าว
ขณะเดียวกัน นอกจากเพิ่มจำนวนบุคลกรในการให้บริการแล้ว ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 ดินแดง ยังมี Refill คลินิก สำหรับคนไข้ที่ควบคุมระดับความดันโลหิตหรือระดับน้ำตาลในเลือดได้ก็สามารถเติมยาได้เลย โดยผู้ป่วยมาพบแพทย์เพียง 3-4 เดือน/ครั้ง และในการให้บริการทางศูนย์ฯก็ได้จัดที่นั่งระหว่างรอตรวจให้มีการรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันโควิด-19 ด้วย
สำหรับการเตรียมพร้อมการปฏิรูประบบให้บริการแบบใหม่ "30 บาทรักษาทุกที่ในเครือข่ายหน่วยบริการชุมชนอบอุ่น" ซึ่ง สปสช.จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 เป็นต้นไปนั้น พญ.ณัฐินี กล่าวว่าขณะนี้ สปสช. ได้ประกาศเชิญชวนคลินิกเอกชนในแต่ละเขตให้มาร่วมเป็นเครือข่าย ซึ่งถ้ามีโมเดลที่ดีเป็นทางเลือกให้คลินิกเหล่านี้ คิดว่าคลินิกเหล่านี้อาจจะหันมามองและเข้าร่วมเป็นเครือข่าย ส่วนบทบาทของศูนย์บริการสุขภาพก็จะเป็นแม่ข่ายดูแลเรื่องคุณภาพหรือกายภาพของคลินิก เช่น ห้องตรวจมีกี่ห้อง มีเจ้าหน้าที่ครบตามจำนวนที่ต้องการหรือไม่ ไอเท็มยาที่ควรมีในการให้บริการปฐมภูมิมีครบถ้วนหรือไม่ ลักษณะมาตรฐานทางคลินิกต่างๆ ซึ่งเป็นลักษณะที่กองประกอบโรคศิลปะมีมาตรฐานรองรับไว้อยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็จะมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ซึ่งนั่งประจำตามศูนย์สุขภาพชุมชนต่างๆ และพยาบาลที่ออกหน่วยลงไปเยี่ยมบ้านก็จะได้พูดคุยทำความเข้าใจกับชุมชนถึงรูปแบบการให้บริการแบบใหม่อีกทางหนึ่งด้วย