สปสช.ระดมข้อเสนอแนะผู้แทนจาก รพ.ทุกสังกัด กทม. “ปฏิรูประบบส่งต่อผู้ป่วย” จัดแบ่ง รพ. เป็น 6 กลุ่มเขตพื้นที่” รองรับเครือข่ายบริการปฐมภูมิ เพิ่มประสิทธิภาพดูแลคน กทม. สิทธิบัตรทอง พร้อมแนวทางดึง รพ.เอกชน ร่วมบริการเพิ่ม สรุปความเห็นนำเสนอที่ประชุม อปสข. 20 ต.ค. นี้
........................................
ที่โรงแรมเซ็นทราฯ – ในการประชุมแลกเปลี่ยนและให้ข้อเสนอแนะต่อการจัดบริการใหม่ในระบบหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งขาติ เขตพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (อปสข. กทม.) เป็นประธาน
นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า การประชุมวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังข้อเสนอและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อการจัดระบบบริการรูปแบบใหม่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเพื่อแก้ไขปัญหาผู้มีสิทธิบัตรทองในกรุงเทพฯ 1.8 ล้านคน ที่ยังเป็นสิทธิว่างและยังไม่มีหน่วยบริการประจำรองรับ ที่ผ่านมา อปสข. กทม. ได้แต่งตั้งคณะทำงานฯ เพื่อออกแบบระบบบริการใน กทม.รูปแบบใหม่ นอกจากเป็นการดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองในกลุ่มดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการจัดบริการที่ส่งผลให้ผู้มีสิทธิบัตรทองในเขต กทม. เข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้นในทุกระดับ ทั้งระบบปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ
การจัดบริการใหม่นี้จะมีรูปแบบเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายบริการ โดยในส่วนบริการระดับปฐมภูมิเป็นเครือข่ายบริการภายในแต่ละเขตทั้ง 50 เขตใน กทม. มีศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เป็นหน่วยบริการแม่ข่าย มีโรงพยาบาลที่จัดบริการปฐมภูมิ คลินิกชุมชนอบอุ่น และหน่วยร่วมบริการ อาทิ คลินิกแพทย์เฉพาะทาง คลินิกพยาบาล คลินิกกายภาพบำบัด และร้านยา ขย.1 เป็นหน่วยบริการเครือข่าย ขณะที่บริการส่งต่อระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ รูปแบบจะแบ่งโรงพยาบาลรับส่งต่อตาม 6 กลุ่มเขตพื้นที่ ซึ่งรูปแบบนี้นอกจากดูแลให้ผู้มีสิทธิบัตรทอง 1.8 ล้านคน มีหน่วยบริการปฐมภูมิรองรับแล้ว ในอนาคตยังเป็นการลดการรับบริการในโรงพยาบาล กระจายผู้ป่วยนอกไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิแทน
ขณะที่ในส่วนของ สปสช.เองต้องปรับปรุงระบบต่างๆ เพื่อสนับสนุนการจัดบริการอย่างมีประสิทธิภาพ นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาระบบต่างๆ มากขึ้น อาทิ การยืนยันตัวตนในการเข้ารับบริการ เชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ เบิกจ่ายค่าบริการโดยบันทึกข้อมูลน้อยที่สุดเพื่อให้คลินิกมีเวลาดูแลคนไข้ เป็นต้น ทั้งนี้ข้อเสนอแนะที่ได้รับในวันนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุม อปสข. กทม.ในวันที่ 20 ต.ค. เพื่อพิจารณาต่อไป
“สิ่งที่ผมขอเน้นย้ำในการประชุมนี้ คือทุกคนต้องมีความเป็นเจ้าของร่วมกัน ระบบมีความโปร่งใส เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ ทุกภาคส่วนต้องอยู่ได้ รวมถึงประชาชนผู้รับบริการ โดยเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง” ประธาน อปสข. กทม. กล่าว
นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ในฐานะคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (อปสข. กทม.) กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญคือการจัดบริการปฐมภูมิใน กทม. ให้เพียงพอและมีศักยภาพ โดยดึงคลินิกเวชกรรมและหน่วยบริการร่วมในพื้นที่เข้าร่วมและจัดโรงพยาบาลให้มีความพร้อมรับส่งต่อ แต่มีข้อจำกัดเนื่องจากไม่มีโรงพยาบาลตั้งอยู่ในทุกเขต ดังนั้นจึงวางรูปแบบบริการเป็นโรงพยาบาลประจำกลุ่มเขตพื้นที่ เพื่อรับส่งต่อแทน โดยแบ่งโรงพยาบาลออกเป็น 6 กลุ่มเขต ได้แก่ กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก กลุ่มเขตกรุงธนใต้ และกลุ่มเขตกรุงธนเหนือ ซึ่งจะทำให้หน่วยบริการและผู้ป่วยมีโรงพยาบาลรับส่งต่อเพิ่มขึ้น