“ซีอีโอ ซีพี” ปลุกพลังภาคเอกชน ตั้งเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม การบริโภค การผลิตที่คืนสมดุลสู่ธรรมชาติ พร้อมชูตัวชี้วัดใหม่ “GDS” หรือ Gross Domestic Sustainability แทน GDP เพื่อก้าวสู่วิถีใหม่ที่ยั่งยืนเพื่อลูกหลานในอนาคต
...............................................
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ประกาศความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนองค์กรแห่ง Carbon Neutral ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ซึ่งเป็นบริษัทหลักในกลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยระบุว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์มีความตระหนักในเรื่องความไม่ยั่งยืน ด้วยเพราะในวิถีของระบบเศรษฐกิจโลก วิถีของระบบการบริโภค วิถีการผลิต ได้สร้างมลพิษ สร้างภาวะเรือนกระจก หรือ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ อีกทั้งยังสร้าง Waste หรือ ขยะต่าง ๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งบนบกและในน้ำ รวมถึงในอากาศ กล่าวได้ว่านับตั้งแต่เราเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเราให้ความสำคัญกับเพิ่มผลิตภาพ หรือ Productivity ซึ่งมี GDP(Gross Domestic Product) เป็นตัวขับเคลื่อน แต่ในอนาคตอันใกล้หรือในปัจจุบันวิถีในการดำเนินเศรษฐกิจ การบริโภค และการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน จะต้องมีให้ความสำคัญกับ Gross Domestic Sustainability (GDS) หรือ ความยั่งยืนขั้นต้นในประเทศ โดยบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทุกบริษัทมีหน้าที่ที่จะต้องตระหนักรู้ วางเป้าหมาย วางตัวชี้วัด เพื่อก้าวสู่ยุคที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืน เช่น การตั้งเป้าหมาย Neutral Carbon Footprint คือการผลิตที่สร้างคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือลดก๊าซเรือนกระจกให้หายไป เพื่อกลับมารักษาสมดุลของชั้นบรรยากาศและอุณหภูมิโลก ตลอดจนรักษาสิ่งมีชีวิตบนโลกทั้งพืชพรรณ สัตว์ป่านานาชนิดเพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ ทั้งหมดก็เพื่อลูกหลานเราในอนาคต
เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ตั้งเป้าหมาย 2030 ที่จะให้การดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน มีการผลิตคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ รวมทั้งขยะของเสียให้เป็นศูนย์เช่นกัน ซึ่งในการจะทำให้สำเร็จได้นั้น ไม่ใช่เพียงแค่มีความตระหนักรู้ แต่สิ่งสำคัญต้องมีศรัทธา และมีพันธมิตรที่มีความเชื่อและมีเป้าหมายร่วมกัน ทุกภาคส่วนต้องผนึกกำลังร่วมกันทำงานด้านความยั่งยืนด้วยกัน ทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นแบบที่เรียกว่า PPP : Public Private Partnership โดยมีภาครัฐเป็นแก่นกลางและสร้างแรงบันดาลใจ เมื่อนั้นภาคเอกชนจะสามารถรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้
สำหรับเครือเจริญโภคภัณฑ์นั้น ให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านมาตรการต่าง ๆ ตามเป้าหมายความยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรปล่อยก๊าซคาร์บอนไดสุทธิเป็นศูนย์(Carbon Neutral)ภายในปี 2573 พร้อมกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในอนาคต ส่งเสริมให้ธุรกิจในเครือดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในองค์กร ลดการเกิดของเสียนำมาสู่การเพิ่มมูลค่า การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึง สนับสนุนให้พนักงานร่วมกันปลูกต้นไม้ยืนต้นเพื่อช่วยดูดซับก๊าซกระจก ตลอดจนสนับสนุนเกษตรกรเพื่อหาวิธีลดก๊าซเรือนกระจกในการเพาะปลูก
การเติบโตของเครือเจริญโภคภัณฑ์มีรากฐานมาจากการยึดมั่นในค่านิยม “สามประโยชน์” คือประโยชน์ต่อประเทศชาติประชาชนและบริษัท และมีการปรับตัวอย่างรอบด้านอยู่เสมอต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและผู้บริโภค ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นสู่ความยั่งยืนของธุรกิจและโลกใบนี้