สปสช.จัดทีมลงชุมชนชี้แจงกรณียกเลิกสัญญาคลินิก ย้ำไปรักษาได้ทุกที่ ตอนนี้ไปรับบริการแล้วกว่า 3 พันราย
........................
สปสช.ย้ำผู้ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญาหน่วยบริการเอกชนสามารถเข้ารับการรักษาในหน่วยบริการเครือข่าย สปสช.ได้ทุกแห่ง โดยขณะนี้มีผู้มารับบริการแล้วกว่า 3,000 ราย พร้อมระดมเจ้าหน้าที่ลงทำงานเชิงรุกชี้แจงข้อมูลในชุมชนทุกวัน และจัดทีมผู้บริหารลงประจำสำนักงานเขต กทม. 1 สัปดาห์ คอยรับมือให้คำแนะนำแก่ผู้ที่มาติดต่อสอบถามปัญหา
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้มีการยกเลิกสัญญากับ โรงพยาบาลเอกชน คลินิกชุมชนอบอุ่น จำนวน 189 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 5 แห่ง ในพื้นที่ กทม.ที่ทำการทุจริตการเบิกเงินในรายการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจาก สปสช. ไปจำนวนมากแล้ว สปสช.ได้กำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชนผู้ใช้สิทธิที่หน่วยบริการประจำถูกยกเลิกสัญญา โดยกำหนดผู้ใช้สิทธิเหล่านี้เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพ หมายถึงสามารถเข้ารับการรักษาเมื่อเจ็บป่วยในหน่วยบริการที่เข้าร่วมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือเข้าร่วมกับ สปสช. ได้ทุกแห่งโดยไม่ต้องมีหน่วยบริการประจำ ไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่จำกัดจำนวนครั้ง ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ไปรับบริการแล้ว 3,034 ราย แบ่งเป็นไปรับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 1,888 ราย และหน่วยบริการทั่วไปอีก 1,146 ราย
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากข้อมูลนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนผู้ใช้สิทธิว่าการยกเลิกสัญญากับหน่วยบริการดังกล่าวจะไม่กระทบกับสิทธิในการได้รับบริการ เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมายังสามารถไปรับการรักษาได้ตามปกติ เห็นได้จากตัวอย่างของผู้มีสถานะสิทธิหลักประกันสุขภาพที่ไปรับบริการมาแล้วกว่า 3,000 รายนั่นเอง
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า นอกจากการจัดระบบบริการรองรับแล้ว สปสช.ยังได้เน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการเชิญผู้นำชุมชนทั่วทุกพื้นที่ กทม.มาประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับสถานการณ์ แนวทางการปฏิบัติทั้งในปัจจุบันและและอนาคต
ขณะเดียวกัน สปสช.ยังได้จัดทีมงานลงพื้นที่ชุมชนทุกวัน เพื่อให้ข้อมูล รับฟังปัญหาและติดต่อประสานงานในกรณีที่จำเป็น เช่น ทีมที่ลงพื้นที่ชุมชนย่านร่มเกล้า-ลาดกระบัง ได้ประสานงานให้แก่ผู้ป่วยตาต้อกระจกที่มีนัดผ่าตัดตายังหน่วยบริการรับส่งต่อ แต่หน่วยบริการประจำถูกยกเลิกสัญญาและไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป ซึ่งกรณีนี้ผู้ป่วยสามารถไปรักษาได้ตามนัดที่หน่วยบริการรับส่งต่อได้เลย
นอกจากนี้แล้ว สปสช.ยังได้จัดทีมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ไปประจำยังสำนักงานเขตของ กทม. เพื่อคอยต้อนรับให้คำแนะนำแก่ประชาชนบางส่วนที่อาจยังไม่ทราบข้อมูล จึงเดินทางมาที่สำนักงานเขตเพื่อทำเรื่องขอย้ายหน่วยบริการประจำหรือติดต่อสอบถามปัญหาต่างๆ ซึ่งกรณีนี้ สปสช.ยืนยันว่าไม่ต้องมาทำเรื่องย้ายสถานพยาบาล ท่านสามารถเข้ารักษาได้ที่สถานพยาบาลที่เข้าร่วมกับ สปสช. ที่ยังเหลืออยู่ ตามรายชื่อที่ สปสช.ประกาศในเว็บไซต์และแจกจ่ายเอกสารให้กับประชาชนได้เลย
"จากภาพรวมในตอนนี้ พบว่าจำนวนผู้ที่มาติดต่อที่สำนักงานเขตไม่ได้เยอะจนล้นเหมือนสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งในชุมชนเองก็มีเจ้าหน้าที่และผู้นำชุมชนออกประชาสัมพันธ์ บางชุมชนมีการชี้แจงผ่านเสียงตามสาย รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยรับเรื่อง 50(5) และเครือข่ายแรงนอกระบบที่ทำงานร่วมกับ สปสช. ลงพื้นที่ทำความเข้าใจอีกทางหนึ่งด้วย ทำให้ประชาชนรับทราบข้อมูลมากขึ้น" นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
ด้านนายสมศักดิ์ สรณวรรณ์ ประธานอาสาสมัครสาธารณสุข ศูนย์บริการสาธารณสุข 29 ช่วง นุชเนตร เขตจอมทอง กล่าวว่า ตนได้ประชุมรับฟังการชี้แจงจาก สปสช. ซึ่งทาง สปสช.ได้อธิบายว่าทำไมต้องยกเลิกสัญญากับโรงพยาบาลเอกชน-คลินิกชุมชนอบอุ่น เกิดการทุจริตในขั้นตอนไหน ตรวจสอบเจอหน่วยบริการไหนบ้าง และชี้แจงว่าสิทธิการรักษายังคงอยู่เหมือนเดิม มีมาตรการรองรับให้ผู้ใช้สิทธิที่ได้รับผลกระทบไปใช้บริการหน่วยบริการไหนก็ได้ และให้รออีกสักระยะจะเปิดให้ลงทะเบียนเลือกสถานพยาบาลหรือหน่วยบริการประจำใหม่
"ความเสียหายกับรัฐเกิดขึ้นชัดเจน ถือว่า สปสช.รักษาสิทธิให้ประชาชนไม่ให้ถูกแอบอ้างใช้สิทธิโดยไม่รู้ตัว เมื่อวานมี อสส.ท่านหนึ่งพูดในห้องประชุมว่า ขอบคุณ สปสช.ที่ไม่พายเรือให้โจรนั่ง อีกทั้ง สปสช.ยังมีความตื่นตัวต่อความเดือดร้อนของประชาชน ทำงานไว ตอนนี้มีเจ้าหน้าที่และคนจากหน่วยรับเรื่องร้องเรียน 50(5) ลงพื้นที่จำนวนมาก ซึ่งในส่วนของเขตจอมทองเองมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 42,000 ราย ผมได้รับเอกสารชี้แจงจาก สปสช.มาจำนวนมากและได้นำกลับมากระจายให้คณะกรรมการ อสส. ไปเผยแพร่ทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อให้เข้าใจสิทธิประโยชน์และขั้นตอนทั้งหมดแล้ว คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร" นายสมศักดิ์ กล่าว