เครือซีพีร่วมภาคภูมิใจความสำเร็จ 2 ชุมชนเครือข่ายร่วมอนุรักษ์ทะเลไทย คว้ารางวัลชนะเลิศและรางวัลรองชนะเลิศ สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2563 เดินหน้าฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลเชิงบูรณาการและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน
.............................
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2563 - กรมประมง จัดงานวันสถาปนากรมประมงครบรอบปีที่ 94 และวันประมงแห่งชาติ ประจำปี 2563 โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัลแก่เกษตรกรดีเด่น ซึ่งในปีนี้ชุมชนเครือข่ายที่บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ได้แก่ “ชมรมประมงพื้นบ้านตำบลปะนาเระ” อ.ปะเนเระ จ.ปัตตานี ได้รับรางวัลชนะเลิศ สถาบันเกษตรกรดีเด่น กลุ่มเกษตรกรทำการประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประจำปี 2563 และ “สมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร” อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 สถาบันเกษตรกรดีเด่นฯ ในงานวันครบรอบวันสถาปนากรมประมง ปีที่ 94 ประจำปี 2563 ซึ่งจัดขึ้นที่กรมประมง โดยมี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบรางวัลให้แก่ นายสุไลมาน ดาราโอะ ประธานชมรมประมงพื้นบ้าน ต.ปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี นายวิรชัช เจะเหล็ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ในการนี้ นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมงและ ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้บริหาร สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ร่วมแสดงความยินดี
นายสุไลมาน ดาราโอะ ประธานชมรมประมงพื้นบ้าน ต.ปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ต้องขอยกความดีให้ชาวประมงในชุมชนทุกคน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สิ่งหนึ่งที่เราตระหนักมากที่สุดคือการป้องกันทรัพยากรธรรมชาติและการฟื้นฟูที่เราสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำธนาคารสัตว์น้ำ การสร้างเขตอนุรักษ์ตามแนวประมงชายฝั่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ กรมประมง และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่เข้ามาช่วยส่งเสริมด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูประมงชายฝั่ง รวมถึงองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการร้านอวนชาวเล ซึ่งเป็นร้านขายเครื่องมือประมงโดยชาวประมงเพื่อชาวประมง ที่มีโครงสร้างหน้าที่ชัดเจนและเป็นระบบ ทั้งการเช็คสต๊อกสินค้า การทำบัญชีรายรับรายจ่าย ทำให้เกิดการดำเนินงานที่โปร่งใส จนสามารถขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ได้สำเร็จ ถือเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วนและทำให้ชุมชนประมงเล็กๆ ที่ทำการประมงแบบยั่งยืน เติบโตและก้าวต่อไปอย่างมั่นคงได้เช่นทุกวันนี้
นายวิรชัช เจะเหล็ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า หัวใจของความสำเร็จที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ เกิดจากแรงบันดาลใจของชุมชนที่เกิดปัญหา การต่อสู้ของชุมชนและหลายหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือให้ชุมชนพัฒนาและมีแรงสู้ต่อ ซึ่งจุดประกายขึ้นมาจากทั้งกรมประมงที่เข้ามารับรู้ปัญหาที่แท้จริงของชาวบ้านและทีมชุมชนสัมพันธ์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ลงพื้นที่สอบถามความต้องการของชาวบ้าน และ ร่วมส่งเสริมโดยการนำนวัตกรรมธนาคารสัตว์น้ำมาใช้ในชุมชน ทั้งยังนำเทคโนโลยีพลังงานทดแทน (โซล่าเซลล์ และกังหันลม) เข้ามาผสมผสานจนเกิดเป็นระบบอนุรักษ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงถอดบทเรียนงานอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรจนเกิดแนวคิดการบริหารจัดการซั้ง (บ้านปลา) ในรูปแบบหมุนเวียน เพราะการวางซั้งบ้านปลาในแต่ละครั้ง บริเวณตามแนวเชือกซั้งจะมีหอยแมลงภู่มาเกาะ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นผลพลอยได้จากการอนุรักษ์ ชาวประมงสามารถนำหอยแมลงภู่ไปบริโภคหรือสร้างรายได้ และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และเพิ่มทรัพยากรสัตว์น้ำ ยังทำให้งานอนุรักษ์ดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังร่วมกันต่อยอดการเพิ่มมูลค่า การเพิ่มผลิตภาพให้กับทรัพยากรสัตว์น้ำที่จับมาได้ ภายใต้ชื่อ “รอยยิ้มชาวเล” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ถือเป็นการต่อยอดงานอนุรักษ์ไปสู่การสร้างรายได้ ตามแนวคิด “อนุรักษ์เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ อนุรักษ์กินได้ อนุรักษ์มีรายได้”
ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้บริหาร สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ ขอแสดงความยินดีกับชุมชนประมงเครือข่าย ทั้ง 2 พื้นที่ทั้ง “ชมรมประมงพื้นบ้านตำบลปะนาเระ” และ“สมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร” ที่ได้รับรางวัลสถาบันเกษตรกรดีเด่นในครั้งนี้ ซึ่งเครือซีพีให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล และการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน ตามกรอบการทำงานอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลเชิงบรูณาการร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเริ่มส่งเสริมงานอนุรักษ์ในพื้นที่ตำบลปะนาเระด้วยการวางปะการังเทียมร่วมกับกรมประมงเมื่อปี 2560 และนำนวัตกรรมธนาคารสัตว์น้ำมาใช้ในพื้นที่ แบ่งปันองค์ความรู้ โดยคำนึงถึงวัฒนธรรม ภาษาท้องถิ่นเป็นหลัก ทำให้สมาชิกทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูล ความรู้ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงส่งเสริมการบริหารจัดการ ร้านอวนชาวเล ซึ่งเป็นร้านขายเครื่องมือประมงโดยชาวประมงที่สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกชุมชนชาวประมง นอกจากนี้ยังได้ร่วมดำเนินการอนุรักษ์สัตว์น้ำกับสมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร และร่วมพัฒนารูปแบบการอนุรักษ์ ซั้งหมุนเวียน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนทรัพยากรร่วมกับเครือข่ายการทำงานด้านการอนุรักษ์ท้องทะเลไทย อีกทั้งยังพัฒนาต่อยอดงานอนุรักษ์ไปสู่การสร้างรายได้ โดยการเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป ภายใต้ชื่อ รอยยิ้มชาวเล เกิดเป็นรายได้ที่ยั่งยืนสู่ชุมชน ทั้งนี้ เครือซีพีมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงที่จะต่อยอดการดำเนินงานอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลร่วมกับชุมชนในเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง พร้อมร่วมจับมือกันพัฒนาทะเลไทยอย่างยั่งยืนต่อไป