นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ย้ำจุดยืนการเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้และระดมสรรพกำลังของภาคธุรกิจในประเทศไทยขับเคลื่อนความยั่งยืน เน้นการสร้าง “ความตระหนักรู้ของผู้นำ” และใช้ ”ความร่วมมือ” เป็นพลังสำคัญในการผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมไปกับการร่วมฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ
นโอกาสครบรอบ 20 ปี โกลบอลคอมแพ็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact – UNGC) และครบรอบ 75 ปี สหประชาชาติ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยจัดสัมมนาเพื่อระดมพลังความยั่งยืนของผู้นำภาคธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม ตามหลักสากล 10 ประการของ UNGC เพื่อเดินหน้าสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs ภายในปี 2573 โดยในช่วงเช้าเป็นการประกาศเจตนารมณ์ขององค์กรสมาชิกในการลงทุนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และต่อด้วยเวทีเสวนาใน 4 หัวข้อ ได้แก่ การเคารพสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิทธิของแรงงาน การส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต เปิดวงสนทนาแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์การทำงานด้านความยั่งยืนของภาคธุรกิจ ภาครัฐ สหประชาชาติ และภาคประชาสังคม โดยมีผู้นำความยั่งยืนกว่า 200 คนเข้าร่วมงาน และอีกกว่า 200 คนรับชมทางออนไลน์ ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้บริหารระดับสูงขององค์กรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพนักงานของแต่ละองค์กรด้วย เพื่อแสดงความเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่จะขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง เพื่อช่วยให้ไทยและโลกบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้ง 17 ข้อ ภายใต้วิถีใหม่ หรือ The New Normal ทั้งในประเทศไทย และระดับสากล
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะนายกสมาคมโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เราตั้งเป้าหมายให้ GCNT FORUM นี้เป็นกิจกรรมประจำปีของสมาคมฯ เพื่อเชื่อมโยงภาคธุรกิจภาครัฐ และภาคประชาสังคม ให้เข้ามามาร่วมมือกัน ซึ่งจะเป็นรากฐานในการแก้ปัญหาของประเทศไทยเราให้ดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ เรายังจะเป็นส่วนสำคัญในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ที่จะแบ่งปันวิธีการ ตลอดจนองค์ความรู้ของไทยสู่สากล พร้อมรับวิธีการและองค์ความรู้ของนานาประเทศกลับมาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความตระหนักรู้ของผู้นำในภาคเอกชน ตลอดจนระบบห่วงโซ่อุปทาน และความตระหนักรู้ของผู้นำรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นผู้ที่ช่วยขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงในอนาคต”
“สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางเพื่อระดมสรรพกำลัง พลังสมอง ความรู้และหลักการด้านความยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ สู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อรักษาความมั่นคงทางชีวิต ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบสังคมของเรา เป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องผนึกกำลังกัน เพื่อให้เราสร้างการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการรักษาการจ้างงาน เพื่อกลับมาได้ดีกว่าเดิม กลับมาได้แข็งแกร่งกว่าเดิม โดยที่ทุกอย่างเริ่มต้นจากการตระหนักรู้ การวางเป้าหมาย มีการสอดประสานการดำเนินงานของภาคธุรกิจ ซึ่งจะทำให้มีศูนย์รวมเป้าหมายที่เป็นปึกแผ่น และเชื่อมโยงกับเป้าหมายของภาครัฐ เพื่อทำให้เกิดการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น”
ทั้งนี้ งาน “GCNT FORUM 2020: Thailand Business Leadership for SDGs” จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ตามรูปแบบการประชุมอย่างยั่งยืน (Sustainable Event) โดยสอดคล้องกับแนวทางของสานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (Thailand Convention & Exhibition Bureau หรือ TCEB) และสหประชาชาติ โดยภายในงานประกอบด้วยเวทีเสวนาใน 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิมนุษยชนและแรงงาน ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการส่งเสริมบรรษัทภิบาลและการต่อต้านทุจริต โดยเวทีแรกเป็นเวทีเสวนา “ผู้นำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนตามวิถีใหม่” ได้หยิบยกประเด็นการดำเนินชีวิตท่ามกลาง COVID-19 ที่จำเป็นต้องมีการปรับตัวในหลายมิติ ทั้งบุคคลและองค์กร ธุรกิจเองก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจภายใต้สภาพแวดล้อมและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งองค์กรชั้นนำ ได้แก่ อินโดรามาเวนเจอร์ส บางจาก กลุ่มมิตรผล และสหประชาชาติ ได้แบ่งปันมุมมองในฐานะผู้นำองค์กร ที่ต้องสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กรพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยย้ำว่าการผลักดันของผู้นำองค์กร คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญ โดยเฉพาะการสื่อสารไปยังพนักงานทุกระดับอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึง ส่วนการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ยังมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรและชุมชนในพื้นที่ที่องค์กรเข้าไปดำเนินธุรกิจ การใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการด้านความยั่งยืนที่สำคัญของแต่ละองค์กร อาทิ การผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการรีไซเคิลในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและพลังงานสะอาดมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มทักษะออนไลน์ อย่างไรก็ตาม วิถีผู้นำเพื่อความยั่งยืน จำเป็นต้องสร้างพันธมิตร และในขณะที่องค์กรและประเทศพัฒนาไปข้างหน้า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ การผนึกกำลังของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และฟันฝ่าผลกระทบจากวิกฤติการณ์ต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันนั้น มี 3 ปัจจัยที่สำคัญ คือ การสร้างความเท่าเทียม การปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อม และการสร้างโอกาสให้คนในสังคมได้มีส่วนร่วม
สำหรับเวทีการเสวนาด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงาน ได้กล่าวถึงวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ทุกภาคธุรกิจได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและรายได้ เป็นลูกโซ่ต่อเนื่องจากพนักงานสู่ครอบครัวและชุมชน และสุดท้ายส่งผลในระดับประเทศ โดยสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า การปรับตัวต้อง
ดูจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน ให้มีรายได้ต่อเนื่อง ได้รับการดูแลทั้งในแง่การดำรงชีวิตและการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยควรมีคู่มือการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งครอบคลุม ภาคเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว เกษตรกรรม ทั้งนี้ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย มีแผนที่จะร่วมมือกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดตั้ง Business & Human Rights Academy และขยายการส่งเสริมเรื่องนี้ไปยังธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อไป
สิ่งแวดล้อมยังเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีการหารือในเวทีนี้ โดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด รีคอฟ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (RECOFTC) เอ็นไวรอนแมน (Enviroman) และ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ร่วมพูดคุย และเห็นตรงกันว่าองค์กรต่างๆ ต้องหันมาร่วมมือกันรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เนื่องจากธรรมชาติพูดเองไม่ได้ เราจึงต้องเป็นตัวแทนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนไปสู่ Green Society และปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายภายใต้ข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จำกัดไว้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทุกฝ่ายควรพลิกวิกฤต COVID นี้ให้เป็นโอกาสของธรรมชาติในการฟื้นตัวแบบสีเขียว (Green Recovery) โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ต้องคำนึงถึงความสมดุล ระหว่างการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจกับการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เดินไปคู่กัน
ปิดท้ายด้วยเวทีด้านการส่งเสริมบรรษัทภิบาลและการต่อต้านทุจริตโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เสนอแนะว่า ทุกอย่างต้องเริ่มที่คนก่อน จึงจะมีประสิทธิผล โดยภาคธุรกิจต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครอบคลุมทุกมิติ และควรตั้งเป้าหมายให้เป็นองค์กร Zero Non Compliance และ Zero Corruption โดยขยายแนวคิดนี้ให้กับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานด้วย ปัจจุบันหลายองค์กรได้ใช้ดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนช่วยในการสร้างความโปร่งใส และการกำกับดูแล เพื่อสร้างความแม่นยำในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยรักษาความน่าเชื่อถือของธุรกิจและระดับการลงทุนของบริษัท ในภาวะที่ทรัพยากรมีจำกัด