สกสว. พร้อมหนุนการสร้างคน ปั้น ‘RDI Manager’ ผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ฟันเฟืองสำคัญพัฒนาระบบวิจัยใหม่ของประเทศ จัดเวิร์คช็อปสร้างแผนงานวิจัยอย่างไรให้ตอบโจทย์และสัมฤทธิ์ผล
--------------------
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยภารกิจเสริมสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “Shaping the Research Plan : สร้างแผนงานวิจัยอย่างไรให้ตอบโจทย์และสัมฤทธิ์ผล” ณ โรงแรมพูลแมน คิง พาวเวอร์ กรุงเทพฯ เพื่อให้ผู้บริหาร หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย ผู้ปฏิบัติงานวิจัยพัฒนานวัตกรรม ในสถาบันวิจัยหรือหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานที่รับผิดชอบการจัดทำแผนวิจัยของหน่วยรับงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กว่า 250 คน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) แนวทางการทำงานของผู้จัดการงานวิจัย ตลอดจนสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ เครื่องมือการออกแบบและเขียนแผนงานวิจัย ตลอดจนสามารถเขียนข้อเสนอแผนงานวิจัยที่สอดคล้องกับแผน ววน. ของประเทศได้
รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผอ.กลุ่มภารกิจพัฒนาระบบและเครือข่ายวิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สกสว. กล่าวถึง ทิศทางการทำงานของ สกสว. ในการส่งเสริมความเข้มแข็งของหน่วยงานในระบบ ววน. ว่า นับแต่มีการก่อตั้ง สกสว. เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานสำคัญในการออกแบบแผนและจัดสรรงบประมาณวิจัย ไปยังหน่วยงานในระบบ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 นั้น การพัฒนาระบบและเครือข่ายวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถือเป็นอีกหนึ่งพันธกิจสำคัญของ สกสว. ด้วยเช่นกัน ที่ผ่านมา สกสว. ได้ริเริ่ม ออกแบบและพัฒนางานใน 4 ด้านคือ การพัฒนาระบบ ววน. และระบบบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานในระบบ การติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานในระบบ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานในระบบ ววน. ทั้งในและต่างประเทศ
เป้าหมายของ สกสว. มุ่งเน้นการออกแบบ และพัฒนาระบบ ววน. ระบบบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม ระบบการติดตามประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศที่สร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นการทำงานอย่างมีส่วนร่วมจากภาคีที่เกี่ยวข้อง ผ่านกลไกต่างๆ อาทิ การสร้างระบบนิเวศและกฎระเบียบต่างๆ ที่เอื้อต่อการบริหารจัดงานวิจัยและนวัตกรรม การออกแบบและพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลเพื่อให้ความเชื่อมั่นแก่ภาคสาธารณะว่า งบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการจัดสรร สร้างผลลัพธ์ที่เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุนและสร้างความเปลี่ยนแปลงอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการทำยุทธศาสตร์ ววน. ด้านการต่างประเทศ สร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ในการพัฒนาประเทศ
ตัวอย่างของงานริเริ่มสำคัญในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ พรบ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญา (Thai Bayh - Dole Act) ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม การติดตามและประเมินผล ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่หน่วยงานในระบบ ววน. การจัดทำคู่มือสำหรับหน่วยรับงบประมาณ การศึกษาเชิงลึกรวบรวมความรู้ด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม การศึกษา ออกแบบและพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจากกรณีศึกษาของประเทศต่างๆ อาทิ ประเทศอังกฤษ และสิงคโปร์ เป็นต้น เพื่อรวบรวม วิเคราะห์และประมวลผล ผลผลิต ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนเพื่อนำเสนอต่อภาคนโยบายและผู้ที่เกี่ยวข้อง
ด้าน รศ.ดร.ชลิตา ศรีนวล รอง ผอ. ภารกิจการเสริมสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานในระบบ ววน. กล่าวว่า สกสว. มีเป้าหมายที่ต้องการให้หน่วยงานในระบบ ววน. มีระบบและบุคลากรด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมที่เข้มแข็ง และสามารถส่งมอบผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ ตามที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เกิดขึ้นจาก สกสว. เล็งเห็นว่า “ผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม” หรือ RDI managers ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทในการสนับสนุนให้หน่วยงานในระบบ ววน. สามารถบริหารแผนงานวิจัย งบประมาณ รวมทั้งสื่อสารกับนักวิจัยและกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการขับเคลื่อนการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการผลิตความรู้หรือนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ด้าน ตามเป้าหมายความสำเร็จที่ตั้งไว้ แต่ปัจจุบัน RDI managers ยังมีจำนวนไม่มากนักและเป็นที่ต้องการของหน่วยงานในระบบ ววน. ด้วยเหตุนี้ สกสว. จึงจัดทำหลักสูตรและพัฒนาโปรแกรม เพื่อสร้างและพัฒนา RDI managers ที่มีความรู้และทักษะที่สำคัญสำหรับการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมให้สัมฤทธิ์ผล ซึ่งหลักสูตรประกอบด้วย การกำหนดและออกแบบแผนงาน ววน. การบริหารจัดการโครงการและแผนงาน ววน. การผลักดันงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization) การติดตามและประเมินผลโครงการและแผนงานวิจัย (Project monitoring & Evaluation) เป็นต้น โดย สกสว. ยินดีที่จะเป็นกลไกสนับสนุนที่สำคัญให้กับหน่วยงานในระบบ ววน. มีบุคลากรด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมที่เข้มแข็ง เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบ ววน. ของประเทศ
ต่อมาในช่วงเสวนา สกสว. ได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช อดีตผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาร่วมพูดคุยในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิสะท้อนคิดบนเวทีเสวนา “ความสำคัญของ “ผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม” โดย ศ.นพ.วิจารณ์ ได้ร่วมสะท้อนคิดว่า ถ้าเป็นแวดวงวิจัยสมัยก่อน เรามักให้ความสำคัญกับคำว่าวิจัยและพัฒนา แต่คำว่า ผู้จัดการงานวิจัย หรือ Research Development and Innovation Managers มีคำว่า “นวัตกรรม” หรือ “Innovation (I)” เข้ามา แสดงให้เห็นว่านวัตกรรมเริ่มเข้ามีบทบาทสำคัญเพราะแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่จับได้เป็นรูปธรรม มีชิ้นงานคือผลลัพธ์ความสำเร็จของงานวิจัย สิ่งหนึ่งที่คิดว่า RDI Manager ต้องทำหน้าที่คือมีการ “ส่งมอบ” หรือ เดลิวเวอร์ แนวทางอย่างเป็นรูปธรรมของงานวิจัยนั้นๆ กลับคืนสู่สังคม RDI Manager ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ทั้งในมุมกว้างและมุมลึก ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในตัวอย่างแน่นขนัด แต่เตรียมพร้อมที่จะมองหาหรือเติมเต็มความรู้รอบตัว 360 องศา ได้ตลอดเวลา นำตัวเองเข้าสู่กระบวนการของการปรึกษาหารือ รู้ปัญหาที่แท้จริงในพื้นที่หน้างานอาทิ ถ้าเป็นนักวิจัยเชิงพื้นที่ต้องรู้จักและเข้าใจปัญหาในบริบทพื้นที่นั้นๆอย่างถ่องแท้มากกว่าการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลจากห้องแลป ที่ต้องมีชุดความคิด หรือ Mind Set ที่ตั้งมั่นและมีเป้าหมายชัดในการทำหน้าที่นี้ และต้องศึกษาข้อมูลเรื่อง Developmental Evaluation ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะส่งเสริมการทำหน้าที่ RDI ได้ดียิ่งขึ้น โดยผมมีข้อเสนอแนะต่อ สกสว.คือให้หาคนทำวิจัยเรื่อง RDI เพื่อจะได้ได้ข้อมูลและดีไซน์การทำงานในการพัฒนาทรัพยากรณ์มนุษย์ RDI ได้ดียิ่งขึ้น พร้อมกันนั้น เราต้องสร้างสังคม (Community) ของคนทำงาน RDI ออกแบบแพลตฟอร์ม กิจกรรมที่ผลักให้คน RDI ดึงศักยภาพในตัวพวกเขาออกมา เพื่อให้นำศักยภาพนั้นไปใช้ในกระบวนการบริหารจัดการงานวิจัยจนเกิดผล
ด้าน ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ให้คำแนะนำว่าหัวใจสำคัญของคน RDI คือการสร้างความเปลี่ยนแปลง เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่วิจัย เข้าใจงานวิจัย เข้าใจผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย (User) นอกจากนี้ RDI ยังควรเชื่อมต่อกับ User ได้เป็นอย่างดี วิเคราะห์ มองเห็นปัญหา มองเห็นเป้าหมาย มองเห็นแนวทางในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ออกแบบการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายเป็น ถ้าเป็นในเชิงธุรกิจมองให้ออกว่าตรงไหนคือหนทางได้กำไร เราเรียกการออกแบบแบนี้ว่า Backward Design และทักษะพื้นฐานที่มีคือ “การฟัง การทำตัวเป็นสัตว์ที่มีหู” หมายความว่า เป็นผู้ฟังที่ดีเก็บรวมรวมข้อมูลได้ดีเพื่อนำมาใช้ในการออกแบบงาน RDI ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ เป็นผู้จัดการที่สร้างสิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้
นอกจากนี้ ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รักษาการผู้ช่วย ผู้อำนวยการ สวทช. ยังได้ให้ข้อเสนอะแนะสำคัญว่า ทางด้านชุดความคิด (Mindset) RDI ควรเป็นบุคคลที่มีลักษณะ Growth Mindset เติมเต็มความรู้ตลอดเวลา เชื่อในการพัฒนาตัวเอง มีความคิดในเชิงออกแบบ (Design Thinking) และมองภาพอนาคตออก ในขณะที่นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) กล่าวให้ข้อคิดเห็นจากตัวแทนของภาคเอกชน ที่มีประสบการณ์ในการทำงานในระบบวิจัยกับชุมชนว่า อยากให้ภาควิจัยเดินทางออกจากห้องแลปไปเล่นใน “สนามจริง” หรือในพื้นที่จริงเพื่อจะได้ทำควาเข้าใจกับลูกค้า หรือ User ที่ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย RDI ควรเป็นผู้ที่ต้องมองภาพอนาคต มีทักษะการวิเคราะห์สังเคราะห์ ตลอดจนกล้าแสดงความคิดเห็น กล้าพูด (Dare to speak) บอกเล่าปัญหาไปยังระดับผู้บังคับบัญชา เพื่อคนทั้งตลอดระบบต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ หรือในระดับนโยบายของการทำวิจัย จะได้เคลื่อนงานไปพร้อมๆกันด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนเดียวกัน
ทั้งนี้จากวงเสวนาวันนี้ทำให้ ทางกลุ่มภารกิจภารกิจเสริมสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สกสว. ได้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ ได้ชุดความคิดสำคัญ ที่ในการนำไปออกแบบการทำงาน พัฒนาการสร้างคน RDI ได้ดียิ่งขึ้น