สปสช.จัดเวทีรับฟังความเห็นระดับประเทศประจำปี 63 เปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ “เว็บไซต์-ไลฟ์สด” เพิ่มช่องทางการเข้าถึง หลากหลายภาคส่วนร่วมให้ข้อเสนอพัฒนา “ระบบหลักประกันสุขภาพ” เสนอขยายสิทธิยานอกบัญชี-พัฒนาระบบส่งต่อ-เพิ่มบริการฉุกเฉิน
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไประดับประเทศ ประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2563 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งมีการถ่ายทอดสดและรับฟังความเห็นผ่านช่องทางเฟสบุ๊คและเว็บไซต์
นายอนุทิน กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทย ได้ดำเนินการดูแลประชาชนผู้มีสิทธิกว่า 48 ล้านคน ได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงมาตลอดเวลากว่า 18 ปี จนได้รับการยอมรับจากนานาชาติที่ยกย่องให้เป็นต้นแบบของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งนอกจากนโยบายรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนอย่างจริงจังแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งคือการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งจากทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ ได้มีกระบวนการรับฟังความเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ตามมาตรา 18(13) ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และบริการสาธารณสุขที่ดียิ่งขึ้นทั้งในเชิงคุณภาพและมาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า จากการจัดรับฟังความคิดเห็นมาอย่างต่อเนื่องของ สปสช. ได้เกิดข้อเสนอที่นำมาสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบในด้านต่างๆ ทั้งการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น การเพิ่มสิทธิประโยชน์ ค่ารักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงการเข้าถึงยาบัญชี จ(2) รายการยาสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเฉพาะที่มีราคาแพง เป็นต้น
“ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เป็นของคนไทยทุกคนได้ดียิ่งขึ้น โดยรัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนงบประมาณเพื่อดูแลสุขภาพคนไทยทุกคน ให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะสุขภาพที่ดีของประชาชนเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศของเรา” นายอนุทิน กล่าว
นพ.เจษฎา โชคดำรุงสุข ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารและรับฟังความเห็นฯ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ได้มีการพัฒนาการประชุมในรูปแบบออนไลน์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการรับฟังและร่วมให้ความคิดเห็นที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาระบบบริการที่ดีขึ้นต่อไป
“ขั้นตอนการรับฟังความเห็น ทางอนุกรรมการฯ จะรวบรวมข้อมูลเป็นหมวดหมู่เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะมอบหมายให้อนุกรรมการแต่ละคณะที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการ โดย สปสช.จะติดตามและประเมินผลว่างานต่างๆ ก้าวหน้าไปเพียงใด และนำกลับมาเสนอต่อประชาชน” นพ.เจษฎา กล่าว
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ข้อเสนอต่างๆ ในปีนี้มีความชัดเจนซึ่งในประเด็นข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานโดยตรงนั้นสามารถดำเนินได้ทันที และหลายข้อเสนอเป็นทิศทางเดียวกับที่มีนโยบายหรือยุทธศาสตร์ไว้ เช่น การเร่งรัดให้เกิดศูนย์ประสานงานต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการบริหารจัดการในระดับท้องถิ่น
“ทิศทางของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ คือการกระจายอำนาจให้พื้นที่ต่างๆ สามารถบริหารจัดการ ร่วมกันหาข้อสรุปนำสิ่งต่างๆ ไปหารือว่ากลไกใดที่เหมาะสมกับการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนต่างๆ ที่ได้ออกแบบไว้ให้ท้องถิ่นเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนให้ชุมชนเข้มแข็ง และเป็นฐานหลักในอนาคต” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในส่วนข้อเสนอของสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ พบว่ามีข้อเสนอที่ดีในหลายเรื่อง เช่น การขยายรูปธรรมโรคของสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) ที่เพิ่มขึ้น การให้มีหน่วยร่วมบริการในระบบการดูแลระยะยาวฯ (LTC) โดยเฉพาะในวัด รวมถึงการพัฒนาระบบส่งต่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางสำนักงานฯ และผู้ให้บริการจะหารือกันเพื่อแก้ปัญหาต่อไป
“ตลอด 18 ปีที่ผ่านมาจากการมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์ เพิ่มความเป็นเจ้าของในระบบที่เป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้นในแต่ละปี เป็นการพัฒนาที่ไม่หยุด เช่นเดียวกับข้อเสนอหลายเรื่องที่ได้รับในวันนี้ จะถูกนำไปดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้นโยบายและกฎหมายต่อไป” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ดูแลคนในประเทศกว่า 48 ล้านคนเป็นระบบที่ใหญ่มาก ฉะนั้นการพัฒนาจะต้องอาศัยการรับฟังจากทุกฝ่ายและนำไปดำเนินการ ซึ่งตลอด 18 ปีที่ผ่านมาผลจากการรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ได้ถูกนำไปพัฒนาและจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมหลายประการ เช่น การเพิ่มสิทธิประโยชน์ผ่าตัดตาต้อกระจก ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี การล้างไต เป็นต้น
“ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ ซึ่งมีการพัฒนาเว็บไซต์ https://hearing.nhso.go.th/ที่ทุกคนสามารถเข้ามาร่วมเสนอความคิดเห็นใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา โดยโปรแกรมจะจัดหมวดหมู่ความเห็นเพื่อนำไปเสนอต่อผู้เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันยังสามารถติดตามความก้าวหน้าของข้อเสนอต่างๆ ว่าได้ถูกพัฒนาไปเพียงใด นับเป็นความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในปีนี้” ทพ.อรรถพร กล่าว
สำหรับข้อเสนอที่ได้รับจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ในครั้งนี้ อาทิเช่น การให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ชดเชยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าซ้ำ, สนับสนุนจัดตั้งห้องปฏิบัติการจำลองการใช้ชีวิตประจำวันอย่างอิสระ (Independent Living Room) ในกลุ่มผู้ป่วยบริบาลฟื้นฟูสมรรถภาพระยะกลาง รวมถึงการให้สิทธิในการดูแลผู้ป่วยบริบาลระยะกลางเท่าเทียมกันในทุกสิทธิการรักษา เป็นต้น
ขณะเดียวกันยังมีข้อเสนอให้ขยายสิทธิประโยชน์ยานอกบัญชีในกลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้, พัฒนาระบบการส่งต่อที่มีความสะดวกรวดเร็ว ครอบคลุมกลุ่มประชาชนและการให้บริการ, เพิ่มบริการฉุกเฉินให้มีความครอบคลุมมากขึ้น ไม่เฉพาะกรณีเจ็บป่วยเท่านั้น, ขยายการรับบริการให้สามารถเข้าโรงพยาบาลอื่นได้โดยไม่ต้องมีหนังสือส่งตัว ตลอดจนการให้ สปสช.ทำหน้าที่ผลักดันการบูรณาการระบบหลักประกันสุขภาพทุกระบบให้เป็นระบบเดียว ลดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล
ในส่วนข้อเสนอประเด็นของพระสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็น การให้ความรู้แก่พระสงฆ์ที่เข้าไม่ถึงสิทธิการรักษา, เพิ่มช่องทางพิเศษให้แก่พระสงฆ์ในทุกโรงพยาบาล, ขยายบริการการดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงเข้าไปถึงในวัด, พัฒนาศักยภาพของวัดให้สามารถรองรับการดูแลพระที่ป่วยระยะสุดท้ายได้, การสนับสนุนการทำงานระหว่างศูนย์ประสานงานวิถีพุทธ เชื่อมโยงกับกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอในการให้รวมกองทุนย่อยต่างๆ ซึ่งในบางกองทุนอาจมีการบริหารจัดการและกลุ่มเป้าหมายที่ทับซ้อนกัน, อบรมคณะกรรมการกองทุนตำบลให้มีความรู้ในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ, สนับสนุนภาคประชาชนเข้าถึงแหล่งงบประมาณได้มากขึ้น, มีการแต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด ติดตามการทำงานของตำบลให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการเสนอเพิ่มค่าดำเนินการโครงการรับยาใกล้บ้าน โมเดล 3 เป็นต้น