‘ปูนซิเมนต์ไทย’ เผยไตรมาส 2/63 กำไร 9,384 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% จากไตรมาสก่อน จากธุรกิจเคมิคอลส์ที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ครึ่งปีแรกกำไร 16,355 ล้านบาท ลดลง 13% เตรียมจ่ายปันผลระหว่างกาลหุ้นละ 5.5 บาท 28 ส.ค.นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ค. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 เอสซีจี มีกำไรสำหรับงวด เท่ากับ 9,384 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% จากไตรมาสก่อน จากผลการดำเนินงานของธุรกิจเคมิคอลส์ที่ดีขึ้น เอสซีจีมี EBITDA from Operations เท่ากับ 17,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากไตรมาสก่อน และ EBITDA เท่ากับ 21,964 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม
ขณะที่มีรายได้จากการขายเท่ากับ 96,010 ล้านบาท ลดลง 9% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากรายได้ของธุรกิจหลักลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรสำหรับงวดเพิ่มขึ้น 33% จากผลการดำเนินงานของธุรกิจหลักที่ดีขึ้น จากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และการจัดการการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ เอสซีจีมี EBITDA from Operationsและ EBITDA เพิ่มขึ้น 23% และ 11% ตามลำดับ ส่วนรายได้จากการขายลดลง 12% สาเหตุหลักจากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลง
สำหรับผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2563 เอสซีจีมีกำไรสำหรับงวด 16,355 ล้านบาท ลดลง 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลงในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 โดยมี EBITDA เท่ากับ 37,388 ล้านบาท ลดลง 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รายได้จากการขายเท่ากับ 201,751 ล้านบาท ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลง
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 เอสซีจีมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม เท่ากับ 2,950 ล้านบาท ลดลง 3,815 ล้านบาท หรือ 56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนมาจากบริษัทร่วมในธุรกิจเคมิคอลส์คิดเป็น 39% ของทั้งหมด หรือเท่ากับ 1,160 ล้านบาท ลดลง 73% ขณะที่มีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมจากธุรกิจอื่นคิดเป็น 61%ของทั้งหมด หรือเท่ากับ 1,790 ล้านบาท ลดลง 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
เอสซีจีมีเงินปันผลรับในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563เท่ากับ 4,921 ล้านบาท ลดลง 2,688 ล้านบาท หรือ 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเอสซีจีมีเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม (เอสซีจีถือหุ้น 20-50%) เท่ากับ 4,363 ล้านบาท และจากบริษัทอื่น (เอสซีจีถือหุ้นต่ำกว่า 20%) เท่ากับ 558 ล้านบาท
ทั้งนี้ เอสซีจียังคงมีโครงสร้างทางการเงินที่มั่นคงโดยมีเงินสดและเงินสดภายใต้การบริหาร ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2563 เท่ากับ 88,628 ล้านบาท ขณะที่ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2563 อยู่ที่ 84,333 ล้านบาท เอสซีจีมีเงินทุนหมุนเวียนสุทธิ 68,595 ล้านบาท ลดลง 2,303 ล้านบาท หรือ 3% จากไตรมาสก่อน โดยมีอัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือต่อยอดขายเท่ากับ48วัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ไตรมาสที่ 1 ปี 2563) ซึ่งอยู่ที่ 46 วัน
คณะกรรมการบริษัทอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2563ในอัตรา 5.5 บาทต่อหุ้น เป็นเงินทั้งสิ้น 6,600 ล้านบาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันที่ 28 สิงหาคม 2563 กำหนดวันที่ XD ในวันที่ 13 สิงหาคม 2563 กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล (Record date) วันที่14 สิงหาคม 2563
@เอสซีจีเน้นปรับตัว-บริหารความต่อเนื่องของธุรกิจรับมือโควิด
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) หรือเอสซีจี กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนทั่วไปและภาคเศรษฐกิจโลก แต่เอสซีจีถือว่าโชคดีที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างไรก็ตาม เอสซีจีได้ประเมินสถานการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิด และมีการปรับตัวเพื่อรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก
“เอสซีจีให้ความสำคัญในการปรับตัว โดยเน้นการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ การเตรียมรับมือสถานการณ์ที่แย่ที่สุด ทั้งด้านการเตรียมการขาย การให้บริการ และการขนส่ง ในกรณีที่มีการปิดเมืองหรือล็อกดาวน์ในแต่ละเมือง และเราเองได้ดูด้วยว่าในกรณีที่สถานการณ์คลี่คลาย เราจะปรับกำลังการผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า มีการใช้อีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น และนำเทคโนโลยีมาใช้ประยุกต์เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและคุ้มค่ามากที่สุด” นายรุ่งโรจน์ระบุ
สำหรับผลประกอบการของเอสซีจีไตรมาส 2/63 และครึ่งปีแรกของปี 63 ถือว่าไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากภาวะเศรษฐกิจ และสถานการณ์โควิด-19 โดยไตรมาส 2/62 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 9.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุจากราคาขายสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม เอสซีจีมีกำไรอยู่ที่ 9,384 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 เนื่องจากมีการปรับปรุงประสิทธิภาพที่ดีขึ้น มีการจัดการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ ตลอดจนมีการบริหารจัดการเรื่องต้นทุนอย่างดี โดยเฉพาะการดำเนินงานของธุรกิจเคมิคอลส์มีการปรับดีขึ้น
สำหรับผลประกอบการช่วงครึ่งปีแรกของปี 63 บริษัทฯมีรายได้จากการขาย 201,750 ล้านบาท ลดลง 9% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 62 โดยมีสาเหตุจากการลดลงของราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ค่อนข้างมาก ส่วนกำไรอยู่ที่ 16,355 ล้านบาท ลดลง 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากมาร์จิ้นของธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่ลดลงในช่วงไตรมาส 1/63
นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาแยกเป็นรายธุรกิจ พบว่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร หรือธุรกิจแพคเกจจิ้ง ยังคงมีศักยภาพและมีความแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นผลจากการควบรวมกิจการ เช่น บริษัท Fajar ผู้นำธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์ในอินโดนีเซีย และธุรกิจแพคเกจจิ้งในเมืองไทย รวมถึงมีการวางแผนการลงทุนในเวียดนาม ซึ่งเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจแพคเกจจิ้งของเอสซีจีให้เจริญเติบโตครอบคลุมทั้งภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้ เอสซีจีเตรียมเสนอขายหุ้นไอพีโอ (IPO) ของบริษัท บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต.เมื่อปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา โดยขณะนี้เอสซีจี อยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์ทั้งภาวะเศรษฐกิจ และตลาดทุน และความเชื่อมั่นของนักลงทุน ก่อนจะพิจารณาเปิดขายหุ้นไอพีโอต่อไป ส่วนจะขายหุ้นไอพีโอได้ทันภายในปีนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะต้องขอรอดูสถานการณ์ต่างๆก่อน
ส่วนธุรกิจเคมิคอลส์นั้น ต้องยอมรับว่าได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เอสซีจีได้มีมาตรการที่ทำให้การผลิตดำเนินไปได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ธุรกิจเคมิคอลส์จะเน้นไปที่การผลิตสินค้าและบริหารที่มีมูลค่าเพิ่มในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น ขณะที่โครงการปิโตรเคมีครบวงจรที่เวียดนามมีความคืบหน้าไปตามแผน โดยก่อสร้างไปแล้วเกินกว่า 45% ของแผน
ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์และก่อสร้าง ยังมีความท้าทาย เนื่องจากความต้องการในตลาดลดลง จากมาตรการปิดเมือง การท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง และการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง
@มองสถานการณ์โควิดอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปี
นายรุ่งโรจน์ กล่าวถึงแนวโน้มภาพรวมธุรกิจของกลุ่มเอสซีจีในช่วงครึ่งปีหลัง ว่า สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่จบ และมีผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ว่าไทยและหลายประเทศจะผ่านพ้นการระบาดระลอกที่ 1 ได้ดี แต่ยังมีความกังวลว่าผลกระทบจากการระบาดระลอกที่ 2 จะรุนแรงมากน้อยเพียงใด
“หลายๆประเทศเปิดไปแล้ว แต่ต้องกลับมาปิด หรือกลับมาใช้มาตรการที่เข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการระบาดเวฟที่ 2 ซึ่งถ้าดูเป็นรายธุรกิจ ธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากความต้องการสินค้าส่วนหนึ่ง เป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนของต่างชาติ หรือลงทุนเพื่อรองรับตลาดการท่องเที่ยว ซึ่งตรงนี้ดูแล้วโอกาสฟื้นตัวคงยัง แต่ก็หวังว่าเซ็กเตอร์ภาครัฐ โครงการของภาครัฐจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ส่วนธุรกิจแพคเกจจิ้งยังไปได้ เพราะการอุปโภคบริโภคยังไปได้ดีอยู่ แต่ต้อดูด้วยความตลาดส่งออกจะเป็นอย่างไร ขณะที่ธุรกิจธุรกิจเคมิคอลส์ ความท้าทายจะเป็นเรื่องสถานการณ์ตลาดโลก ซึ่งต้องดูว่าต้นทุนสินค้าเป็นอย่างไร และความต้องการของตลาดเป็นอย่างไร และผมเห็นว่ามีความไม่แน่นอนสูงมากในธุรกิจนี้” นายรุ่งโรจน์กล่าว
เมื่อถามว่า การฟื้นของเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 จะเป็นอย่างไร นายรุ่งโรจน์ ระบุว่า เนื่องจากเซ็กเมนต์ใหญ่ของเศรษฐกิจไทยเป็นเรื่องการท่องเที่ยว และการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งโอกาสที่ไทยจะเปิดให้มีการท่องเที่ยวใหม่คงใช้เวลา เพราะประเทศรอบบ้านเรายังมีปัญหา แม้กระทั่งประเทศไทยเองก็มีความกังวลการระบาดระลอก 2 อยู่ ดังนั้น เมื่อโควิดยังต้องอยู่กับเราไปอีกอย่างน้อย 1 ปี ทุกฝ่ายต้องปรับตัว และยอมรับกับสถานการณ์แบบนี้ให้ได้
@เงินสดล้น 8.8 หมื่นล้าน หลังทบทวนแผนลงทุน
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงปลายปี 62 ถึงต้นปี 63 ที่ผ่านมา เอสซีจีมีแผนลงทุนในโครงการต่างๆ 7.5 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 มีผลกระทบค่อนข้างมาก ทำให้ก่อนหน้านี้ บริษัทฯปรับลดวงเงินลงทุนลงมาเหลือ 5.5-6.5 หมื่นล้านบาท และ ณ วันนี้เอง เอสซีจียังคงยืนระดับการลงทุนในปีนี้ที่ระดับ 5.5-6.5 หมื่นล้านบาท
“โครงการลงทุนชะลอออกไป จะเป็นโครงการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ชะลอตัวลง และบางธุรกิจต้องใช้เวลาในการพลิกฟื้น โดยเราจะจัดเงินลงทุนไปยังธุรกิจใหม่หรือโอกาสใหม่ๆที่เข้ามาเร็วมากกว่า ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจที่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค และธุรกิจที่เกี่ยวกับการแพทย์ ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ก็จะชะลอไปบ้าง” นายธรรมศักดิ์กล่าว
นายธรรมศักดิ์ ยังระบุด้วยว่า ณ ปลายไตรมาส 2/63 เอสซีจีมีเงินสด 8.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทฯใช้เงินลงทุนไปเพียง 2.2 หมื่นล้านบาท แต่ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น สำหรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนนั้น บริษัทฯมีแผนออกหุ้นกู้ใหม่ทดแทน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage