สปสช.ชวนท้องถิ่นจัดทำโครงการกองทุนสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ให้สอดคล้องกับ New Normal ยุคหลังโควิด-19 พร้อมเตรียมแผนงานโครงการให้ดูเป็นตัวอย่างในเว็บไซต์ แนะพื้นที่ไหนยังมีเงินเหลือควรทบทวนผลการดำเนินงานและเปิดรับโครงการใหม่แบบ new normal ในช่วง ก.ค.-ก.ย.นี้ ส่วนที่ไหนใช้งบหมดแล้วก็เตรียมโครงการใหม่ปี 2564 ได้เลย
นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) หลังโควิด-19 ตามแนวทางมาตรการแบบวิถีชีวิตปกติใหม่ (New Normal) ว่า หลักการ กปท.คือให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการสาธารณสุขในพื้นที่ โดยช่วง 2-3 ปีนี้ ได้วางทิศทางให้ กปท. เป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้างมากขึ้นในบทบาทการดูแลสุขภาพชุมชน ทั้งโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การดูแลสุขภาพเด็ก ผู้สูงอายุและการแก้ปัญหาสุขภาพในพื้นที่ โดยส่วนกลางวางกรอบทิศทางการดำเนินงาน ขณะที่ในระดับพื้นที่จะเป็นผู้วางรูปแบบบริการ ซึ่งตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้นก็ได้เห็นความเข้มแข็งของชุมชนที่มีบทบาทเสริมในเรื่องการป้องกันโรค ขณะที่ สปสช.เองก็ได้แก้ไขหลักเกณฑ์เพื่อให้การแก้ปัญหาทันต่อสถานการณ์ โดยให้อำนาจประธานกองทุนในการวินิจฉัยว่าโครงการไหนเร่งด่วน ไม่ต้องอนุมัติหลายขั้นตอน ทำให้เกิดความคล่องตัวและตอบสนองคนในพื้นที่ได้จริง ซึ่งผลงานช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา กองทุนในพื้นที่ตำบลต่างๆ ใช้งบประมาณกับเรื่องนี้ไปเกือบ 1,000 ล้านบาท
ด้าน นายวีระชัย ก้อนมณี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการชุมชน สปสช. กล่าวว่า เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น สปสช.ได้ดำเนินการหลักๆ 2 ส่วน คือ 1.เตรียมการจัดหางบประมาณสนับสนุนการคัดกรองกลุ่มเสี่ยง โดยสนับสนุนไปที่หน่วยบริการ และ 2.ปรับระเบียบให้เอื้อต่อการใช้เงินในภาวะโควิด-19 โดยให้ประธาน กปท. ใช้อำนาจแทนคณะกรรมการอนุมัติโครงการในช่วงนั้นได้ไม่เกิน 1 แสนบาท ทำให้เงินกองทุนถูกอนุมัติไปใช้ป้องกันโควิด-19 รวมทั้งหมด 970 ล้านบาท
นายวีระชัย กล่าวว่า หลังจากนี้วิถีการดำเนินงานด้านสุขภาพชุมชนควรเป็นอย่างไรนั้น อาจยกตัวอย่างคร่าวๆ ให้เห็นภาพ เช่น การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิต ในช่วงโควิด-91 ผู้ป่วยไม่สามารถมารับยาที่โรงพยาบาลได้ หลังจากนี้อยากชวนให้ท้องถิ่นคิดโครงการเกี่ยวกับการติดตามอาการ การไปส่งยาให้ผู้ป่วยที่บ้านซึ่งจะดีกว่าส่งยาทางไปรษณีย์ เพราะถ้าให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ไปส่ง ก็สามารถวัดความดัน สอบถามอาการและให้คำแนะนำต่างๆได้ด้วย งบ กปท.อาจนำไปเสริมในเรื่องค่าเดินทางของผู้ที่นำยาไปส่ง หรือจัดหาอุปกรณ์วัดความดัน เป็นต้น
หรือในด้านการส่งเสริมการเข้าถึงบริการของเด็ก ช่วงนี้เปิดเรียนแล้วแต่ศูนย์เด็กไม่ได้เตรียมงบประมาณในเรื่องการคัดกรอง และช่วงโควิด-19 ก็ทำให้เด็กไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้นการดำเนินการหลังจากนี้ กปท. อาจหนุนเสริมในเรื่องระบบการคัดกรองก่อนเข้าเรียน การติดตามภาวะโภชนาการเด็ก ถ้าเด็กคนไหนขาดสารอาหารในช่วงนี้ก็อาจใช้งบประมาณไปเสริมให้เด็กได้รับอาหารที่ดีขึ้น ตลอดจนการติดตามการฉีดวัคซีนเชิงรุก โดย รพ.สต. อาจนัดไปฉีดให้ที่บ้านเพื่อลดการรวมตัวของเด็กจำนวนมาก เป็นต้น
ส่วนด้านการสนับสนุนการเข้าถึงบริการของผู้สูงอายุ จากที่คุยกับกระทรวงสาธารณสุขพบว่าในช่วงนี้การเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุลดลง ในอนาคตอาจเกิดระบบใหม่ เช่น ให้เบอร์โทรเจ้าหน้าที่ไว้เพื่อให้โทรมาขอคำปรึกษา แม้แต่เรื่องสุขภาพจิตก็น่าจะเปิดให้โทรมาขอรับคำปรึกษาได้ ตลอดจนการทำสื่อกระจายข้อมูลสุขภาพในพื้นที่เพื่อให้เข้าถึงผู้สูงอายุ หรือในส่วนการแก้ไขปัญหาสุขภาพตามความจำเป็นในพื้นที่ ตัวอย่างชัดๆ คือ การป้องกันโควิด ช่วง 2-3 วันก่อน ที่ระยองประชาชนเกิดความตระหนกมากกว่าตระหนัก ดังนั้นทำอย่างไรถึงจะให้ อสม.และ รพ.สต. มีสื่อในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นต้น
"ในอนาคตอยากชวนให้ทำโครงการในลักษณะนี้มากขึ้น แต่ที่กล่าวมาเป็นแค่แนวทางตัวอย่างเท่านั้น ผมเสนอว่าช่วงนี้แต่ละพื้นที่อาจจะประชุมทบทวนผลการดำเนินงานและงบประมาณว่าเงินเหลือหรือไม่ ผลงานเป็นอย่างไร ถ้ามีงบประมาณคงเหลือควรประชาสัมพันธ์เปิดรับโครงการแบบที่ยกตัวอย่างไปจากภาคีเครือข่าย โดย สปสช.จะจัดทำตัวอย่างโครงการไว้ในเว็บไซต์ แล้วประธาน กปท.สามารถใช้อำนาจพิจารณาอนุมัติในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.นี้ ขณะเดียวกันควรเร่งรัดโครงการที่ยังดำเนินการไม่เสร็จเนื่องจากติดสถานการณ์โควิด-19 อาจปรึกษาเจ้าของโครงการว่ายังทำได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จะเปลี่ยนเป็นโครงการแบบที่เสนอไปข้างต้นแทนหรือไม่ แล้วบางแห่งที่ใช้งบประมาณหมดแล้วก็เตรียมแผนงานสำหรับปีงบประมาณ 2564 ได้เลย" นายวีระชัย กล่าว
นายวุฒิชัย วงศ์อินทร์ นายกเทศมนตรีตำบลพิกุลออก อ.บ้านนา จ.นครนายก กล่าวว่า ตำบลพิกุลออกเป็นตำบลขนาดเล็ก ประชากรประมาณ 5,000 คน ส่วนใหญ่อาชีพเกษตรกรรมและค้าขาย โดยมีประชากรสูงอายุถึง 22.6% ดังนั้นนโยบายของเทศบาลจึงให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมาก ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ก็มีจุดเด่นที่ภาคีเครือข่ายชมรมผู้สูงอายุ 12 ชมรมที่มีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เมื่อเกิดสถานการณ์ในช่วงโควิด-19 ทางเทศบาลก็ได้จัดทำหน้ากากผ้า 2 ชิ้น/คน โดยได้ผู้สูงอายุช่วยกันเย็บ มีการออกเยี่ยมบ้าน ตรวจคัดกรองของ อสม. โดยเทศบาลสนับสนุนงบประมาณจัดหาอุปกรณ์ เครื่องวัดอุณหภูมิ เจล ให้ทุกหมู่บ้าน รวมทั้งยังได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากโควิด มีการแจกเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้สูงอายุและผู้ได้รับความเดือดร้อนทุกครัวเรือน
นายวุฒิชัย กล่าวว่า ในส่วนแนวทางการดำเนินงานแบบ new normal ขณะนี้ได้วางแผนแล้วโดยจะทำงานกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้ง อสม. ผู้สูงอายุและหน่วยบริการ ขับเคลื่อนการดูแลเด็ก ผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มเปราะบาง โดยสร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันตัวและวิถีชีวิตแบบ new normal เพราะการสร้างความตระหนักรู้เป็นเรื่องสำคัญเพราะจะนำไปสู่การปฏิบัติของประชาชนจนเป็นนิสัย
ขณะที่ นางมีนา ดวงราษี ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน จ.สุรินทร์ กล่าวว่า จากการสำรวจของสวนดุสิตโพลล์พบว่าคนตกใจกับ new normal ทำให้หันมาใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น ออกกำลังกายมากขึ้น และมีการซื้อวิตามิน/อาหารเสริมเพิ่มมากขึ้น new normal ของผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมไป คือมีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ทำอาหารกินเองหรือใช้บริการส่งสินค้า delivery การทำธุรกรรมบนมือถือมากขึ้น กิจกรรมกลางแจ้งเปลี่ยนไป มีการจำกัดจำนวนผู้เข้าชม ฯลฯ ซึ่งในส่วนของภาคประชาชนเองก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับ กปท. ในหลายๆ โครงการ เช่น โครงการเฝ้าระวังคัดกรองโครงการส่งเสริมสุขภาพดี สร้างภูมิคุ้มกัน โครงการสร้างความรู้การดูแลสุขภาพจิตช่วงโควิด-19 โครงการอาหารปลอดภัย ทำกินเองที่บ้าน ลดเสี่ยงโควิด เป็นต้น