สปคม.เผยกลไกการเงินของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไทย เป็นปัจจัยสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี รวมถึงและการใช้เครื่องมือนโยบาย UCEP หรือ "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" ทำให้รองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ
นพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กลไกทางการเงินของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทย กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 และการใช้เครื่องมือนโยบาย Universal Coverage for Emergency Patients (UCEP) หรือ "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" ทำให้รองรับกับผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอ
นพ.เอนก อธิบายว่า แม้ในช่วงแรกกลไกของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เดิมจะไม่มีการวางเรื่องของเคสโควิด-19 เอาไว้ เพราะเป็นเคสที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงแรกทางสถาบันบำราศนราดูร รวมถึงกรมการแพทย์ยังสามารถแบกรับภาระได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น จำนวนเตียงของทางภาครัฐที่มีไม่เพียงพอทำให้ผู้ป่วยต้องรอเตียงนาน 4-14 วัน
"เมื่อ สปสช.ผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่กลไก UCEP มีค่าใช้จ่ายเข้ามาสมทบ จากเตียงที่เคยหายากหรือหาไม่ได้ กลายเป็นมีอีกกว่า 1-2 พันเตียงที่เพิ่มเข้ามาจากภาคเอกชน เตียงที่เคยมีจำกัดกลายเป็นมีเหลืออย่างเพียงพอ และยังสามารถรองรับการระบาดระลอกสองที่อาจเกิดขึ้นได้" นพ.เอนก อธิบาย
เช่นเดียวกับในส่วนของการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาเชื้อโรค ซึ่งในช่วงแรกที่จำนวนห้องปฏิบัติการมีปริมาณจำกัด ทำให้คนเข้าถึงการตรวจได้น้อย แต่เมื่อมีการใช้กลไกการเงินเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาแล็บ ได้ช่วยกระตุ้นให้มีห้องปฏิบัติการเกิดขึ้นเพิ่มมากมาย ซึ่งแม้จะดูเหมือนการสูญเสียในช่วงแรก แต่ผลจากการลงทุนนั้นก็ช่วยให้บรรลุเป้าประสงค์ที่เพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก
นพ.เอนก กล่าวว่า ตัวอย่างเหล่านี้คือสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนของนโยบายทางการเงินที่มีอิทธิพลต่อโรคระบาด โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีความแยกส่วนของการจัดการ ทำให้ไม่สามารถสั่งการอะไรได้ แต่ด้วยกลไกทางการเงินที่สามารถจัดสรรได้ตามช่องทางเดิมที่มีอยู่ ทำให้ช่วยจัดการกับภาวะวิกฤตในครั้งนี้ได้