ผู้บริหารเครือซีพี ขึ้นเวทีแชร์มุมมองด้านความยั่งยืน ร่วมกับผู้บริหารองค์กรระดับโลก ชู 3 โครงการสำคัญด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ชี้วิกฤตโควิด-19 สะท้อน “ความคิดเชิงบวก” ด้านความยั่งยืน
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2563 นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ร่วมแสดงความคิดเห็นด้านความยั่งยืนของเครือซีพี ในงานเสวนาออนไลน์ Bright Lights of ASEAN-Sustainability Insights & Ideas from Leading Companies in the Region ซึ่งจัดโดย Global Reporting Initiative (GRI) องค์กรที่จัดทำมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ร่วมกับ Global Initiatives องค์กรภาคประชาสังคมที่ส่งเสริมความยั่งยืนผ่านการร่วมงานกับภาคธุรกิจ
ทั้งนี้ บนเวทีเดียวกันนี้ มีผู้บริหารองค์กรระดับโลกร่วมแบ่งปันแนวคิด ประกอบด้วย นางมิเคล ลาร์เซ่น ผู้บริหารด้านความยั่งยืน ธนาคารดีบีเอส สิงคโปร์ ที่สะท้อนเรื่องความสำคัญของความรับผิดชอบของธนาคารเพื่อสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน นายโรชิท ราจาน ผู้อำนวยการด้านความรับผิดชอบองค์กร ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท โซเด็กซ์โซ่ จำกัด สิงคโปร์ กล่าวถึงการลดอาหารเหลือทิ้ง (Food Waste) และนายสตีเฟ่น โบว์ฮิลล์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รี-แพล จำกัด อินโดนีเซีย นำเสนอการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการลดขยะพลาสติก
ในโอกาสนี้ นายนพปฎล กล่าวในหัวข้อ Sharing our Sustainability Journey: A Story of C.P. Group’s Water Stewardship ว่าด้วยการทำงานตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเครือฯ ซึ่งมีแผนงานและกลยุทธ์ที่ชัดเจน รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามมาตรฐาน GRI ดังที่ปรากฎในรายงานความยั่งยืนประจำปีของเครือฯ และได้ยกตัวอย่างเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นกรณีศึกษา ซึ่งเน้นการลดปริมาณการใช้น้ำ ลดการปล่อยน้ำกลับสู่สิ่งแวดล้อม ตามหลักการจัดการน้ำแบบหมุนเวียนผ่าน 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.การจัดการน้ำแบบหมุนเวียนในฟาร์มเลี้ยงกุ้ง 2. การผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียในฟาร์มสุกรมาเป็นพลังงานทดแทน 3. การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งน้ำของชุมชนในอินเดีย โดยโครงการเหล่านี้อยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือฯ ด้านเกษตรและอาหาร ผ่านการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และแบ่งปันองค์ความรู้ในระบบการผลิต เพื่อช่วยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดมีส่วนร่วม เป็นตัวอย่างของการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
ทั้งนี้ กรณีศึกษาดังกล่าวเชื่อมโยงกับพื้นฐานธุรกิจของเครือฯ ที่เติบโตจากอุตสาหกรรมการเกษตรมายาวนานเกือบหนึ่งศตวรรษ และการขับเคลื่อนธุรกิจของเครือฯ มีผลสำคัญต่อการสร้างความยั่งยืนในโลก เครือฯ จึงให้ความสำคัญกับการปฏิบัติการให้สอดคล้องกับเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) และการทำงานที่เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน
“วันนี้เครือฯ ยังต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ และเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนองค์กรสู่ความเป็นดิจิทัล ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาบุคลากร จะต้องได้รับการพัฒนาทักษะ มีกรอบความคิดที่สนใจสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจด้านความยั่งยืนขององค์กร ทั้งนี้ เพื่อสร้างประสิทธิภาพให้องค์กรที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่สองต่อไปในปีหน้า” นายนพปฎลกล่าว
ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือซีพี กล่าวทิ้งท้ายว่า ช่วงเวลาที่โลกเผชิญวิกฤตโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของความคิดเชิงบวก ที่ช่วยผนึกกำลังของทุกคนให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ดี เราไม่ควรละทิ้งความพยายามเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน