สายเลิกบุหรี่ 1600 จับมือ อสม. สสส. เปิดตัว “โครงการรวมพลังตามหาคนอยากเลิกบุหรี่” ชวน อสม. ลงชุมชนค้นหาคนอยากเลิกสูบบุหรี่ ส่งต่อให้สายเลิกบุหรี่ 1600 ดูแล ประคับประคอง ให้คำปรึกษาจนเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ด้าน รมช.สธ. ชี้ โครงการน้ำดีช่วยหนุนเสริมนโยบายรัฐ แคมเปญ #เลิกสูบลดเสี่ยง ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สู่สาธารณะ
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (ศบช.) หรือ สายเลิกบุหรี่ 1600 ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการรวมพลังตามหาคนอยากเลิกบุหรี่” เพื่อสร้างความตระหนักและชวนประชาชนให้ลดหรือเลิกสูบบุหรี่ทุกชนิดได้สำเร็จในช่วงวิกฤตโควิด-19 ระบาด
โดย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แม้วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสก่อโรค COVID-19 จะลดระดับลงแล้ว แต่เพื่อความไม่ประมาทและเพื่อการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จึงมีแนวคิดให้ อสม. ทั่วประเทศลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน เพื่อเก็บข้อมูลสุขภาพของประชาชนอย่างละเอียด ดังนั้นเพื่อให้การลงพื้นที่ของ อสม. ทั่วประเทศในครั้งนี้ได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น สธ. จึงได้ร่วมกับศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ และ สสส. เดินหน้าโครงการรวมพลังตามหาคนอยากเลิกบุหรี่โดยผนึกกำลังกับ อสม. ในการค้นหาและเชิญชวนให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่ในช่วงไวรัสระบาด ซึ่ง ร่วมกันสร้างความตระหนัก ค้นหา และชวนประชาชนให้ลดหรือเลิกสูบบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกชนิดได้สำเร็จในช่วงภาวะวิกฤต เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสี่ยงติด อาการป่วยทรุดหนัก และแพร่กระจายไวรัสก่อโรคโควิด-19 สู่สาธารณะได้
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ทำโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน จึงได้ต่อยอดพัฒนาประเด็นการเลิกบุหรี่เชิงคุณภาพ โดยมีสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 และ สสส. เข้ามาช่วยหนุนเสริม ดูแลให้คำปรึกษาคนที่อยากเลิกบุหรี่ให้สามารถเลิกบุหรี่สำเร็จมากขึ้น และยังเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับวิถีความปกติใหม่ หรือ New Normal ที่ยังคงรักษาระยะห่าง หรือ Social Distance เนื่องจากเป็นการทำงานผ่านระบบ Application SMART อสม. และ Application U-Refer ของสายเลิกบุหรี่ 1600 และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ถือเป็นการผนึกจุดแข็ง และบูรณาการทั้งทรัพยากร เทคโนโลยี กำลังคน ความสามารถ ที่มีอยู่ของแต่ละหน่วยงานมาต่อยอดเสริมการทำงานซึ่งกัน ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ อสม.ทั่วประเทศ จะช่วยให้คนในชุมชนเข้าสู่กระบวนการเลิกบุหรี่ที่มีคุณภาพ เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว และชุมชนที่จะปลอดภัยจากควันบุหรี่
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. โดยแผนควบคุมยาสูบ มีแนวทางการดำเนินงานให้บรรลุยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ โดยทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 20 หน่วยงาน รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นเจ้าภาพหลัก สสส. ได้เชื่อมโยงและขยายภาคียุทธศาสตร์ต่างๆ หนุนเสริม และผลักดันการออกมาตรการป้องกันและควบคุมต่างๆ เพื่อปกป้องสุขภาพคนไทยจากภัยของบุหรี่ ขณะนี้ถึงเวลาที่คนไทยควรหันหลังให้บุหรี่ได้แล้ว โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ปี 2560 พบว่า คนไทยเสียชีวิตเพราะบุหรี่ถึง 72,656 คน โดยผู้เสียชีวิตแต่ละคนเสียชีวิตเร็วขึ้น 18 ปี โดยเฉลี่ยต้องทุพพลภาพก่อนเสียชีวิต 3 ปี ขณะที่จากการวิเคราะห์ข้อมูลค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ในปี 2560 พบว่า บุหรี่เป็นสาเหตุให้คนไทยเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลถึง 580,794 ครั้งต่อปี
“การสูบบุหรี่ยังส่งผลเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 ไทยสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงปีละ 87,250 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.56 ของ GDP และคิดเป็นร้อยละ 15 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ แบ่งเป็นต้นทุนจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 77,173 ล้านบาท ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ 8,891 ล้านบาท” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (ศบช.) หรือ สายเลิกบุหรี่ 1600 กล่าวว่า ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 มีความจำเป็นต้องหยุดและเลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง สายเลิกบุหรี่ 1600 จึงเตรียมพร้อมทั้งจำนวนบุคลากร คู่มือ และเทคโนโลยี ที่จะช่วยให้ อสม.สามารถช่วยให้ผู้สูบได้รับการบำบัดเลิกบุหรี่อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการเลิกบุหรี่นั้นต้องเริ่มที่ใจ จากประสบการณ์การทำงานกว่า 10 ปี พบว่า การเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ โอกาสเลิกได้สำเร็จเพียงแค่ร้อยละ 5 แต่ถ้าเลิกกับสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 สามารถช่วยให้เลิกบุหรี่สำเร็จต่อเนื่องไม่น้อยกว่าร้อยละ 32 เพราะนวัตกรรมบริการให้คำปรึกษา ชุดข้อความสร้างเสริมกำลังใจ องค์ความรู้ในการเลิกบุหรี่ใหม่ๆ รวมถึงระบบการส่งต่อผู้อยากเลิกบุหรี่ และการทำงานแบบ Real time ที่กลายเป็นต้นแบบให้กับสายด่วนเลิกบุรี่ในหลายประเทศ ซึ่งในเวทีวิชาการนานาชาติ ยืนยันตรงกันว่า การให้บริการเลิกบุหรี่จะประสบความสำเร็จ หากสามารถทำงานร่วมกับภาคีในระดับชุมชน โดยบุคลากรสุขภาพและผู้นำชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการช่วยให้คนเลิกบุหรี่ ซึ่งการทำงานร่วมกับภาคีระดับปฐมภูมิเป็นกลวิธีสำคัญหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 2