สปสช.แจง กรณีพระสงฆ์ ร้องเรียนใช้สิทธิบัตรทอง ใบส่งตัวหมดอายุช่วงโควิด-19 ทำเข้าไม่ถึงการรักษาต่อเนื่อง ระบุ ช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด กองทุนบัตรทองเปิดช่องผู้ป่วยรักษาต่อเนื่องได้ ไม่ต้องมีใบส่งตัว มีผลถึง 30 ก.ย. 2563 ช่วยอำนวยความสะดวก ชี้อาจเกิดความคลาดเคลื่อนการปรับบริการช่วงโควิด-19 เตรียมชี้แจงทำความเข้าใจต่อไป
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโฆษก สปสช. กล่าวถึงกรณีที่มีพระสงฆ์ร้องเรียนผู้สื่อข่าวจากปัญหาความไม่สะดวกในการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในช่วงกรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จากปัญหาใบส่งตัวหมดอายุในขณะที่ต้องรับการรักษาต่อเนื่องกรณีผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลรับส่งต่อว่า ในการส่งต่อรักษาต่อเนื่องกรณีผู้ป่วยนอก ตามประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเข้ารับบริการ โดยกรณีผู้ป่วยที่ต้องส่งต่อรักษายังหน่วยบริการระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ หน่วยบริการประจำจะออกใบส่งตัว โดยกรณีผู้ป่วยนอกใบส่งตัวจะมีอายุ 90 วัน และกรณีผู้ป่วยในใบส่งตัวจะมีอายุ 60 วัน การที่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการระบบบริการและการจัดการด้านงบประมาณ
อย่างไรก็ตามในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายต่อประชาชน ลดการเดินทางโดยไม่จำเป็นของประชาชน สปสช.ได้มีหนังสือแจ้งการดำเนินการและการให้บริการสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่องที่มีความจำเป็นต้องรับยาในหน่วยบริการที่ไม่ใช่หน่วยบริการประจำของตนเอง หรือมีความจำเป็นที่ต้องเข้ารับบริการในเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็น ให้ถือว่าเป็นกรณีฉุกเฉินตามมิติของประชาชนภายใต้สถานการณ์ในช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หน่วยบริการอื่นสามารถให้บริการผู้ป่วยได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม และเบิกค่าใช้จ่ายค่าเพื่อบริการสาธารณสุขกรณีผู้ป่วยนอกได้ตามแต่ละกรณี โดยไม่จำเป็นต้องมีใบส่งตัว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยที่อาจประสบปัญหาและมีข้อจำกัดในการเดินทางช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยมีผลถึงวันที่ 30 ก.ย. 2563
“ทั้งนี้กรณีที่เกิดขึ้นนี้ คาดว่าน่าจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการบริการช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดย สปสช.จะมีการชี้แจงทำความเข้าใจต่อไป” ทพ.อรรถพร กล่าว