สิทธิประโยชน์บัตรทอง "คัดกรองโควิด-19" ครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิ 3 เดือน บริการคัดกรองแล้ว 1.71 แสนครั้ง สิทธิประกันสังคมรับการคัดกรองมากที่สุด 9 หมื่นครั้ง รองลงมาสิทธิบัตรทอง 4.9 หมื่นครั้ง และสวัสดิการข้าราชการ 2.5 หมื่นครั้ง สปสช.เดินหน้าเฝ้าระวังการแพร่ระบาดต่อเนื่องตามเกณฑ์มาตรฐาน WHO ปี 63 ตั้งเป้าคัดกรองเพิ่มเติม 1.4 ล้านครั้ง ต่อเนื่องปี 64 ตั้งเป้าคัดกรอง 3.25 ล้านครั้ง พร้อมเตรียมจัดงบซื้อวัคซีนโควิด-19 รองรับเพื่อดูแลคนไทย หลังผลการวิจัยคืบหน้า
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด -19 เป็นมาตรการสำคัญเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดตามหลักวิชาการ ในการค้นหาผู้ติดเชื้อเร็วที่สุดและนำเข้าสู่การรักษา ช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อได้อย่างมีประสิทธิผล ที่ผ่านมา สปสช. ได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2563 จากข้อมูลผลดำเนินการถึงวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาการแพทย์และร่วมขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเทคนิคการแพทย์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 148 แห่ง โดยเป็นหน่วยบริการภาครัฐ 104 แห่ง และภาคเอกชน 44 แห่ง
ทั้งนี้ช่วงระยะเวลาเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา มีประชาชนเข้ารับบริการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยัน (RT-PCR) จำนวน 171,440 ครั้ง รวมเป็นค่าบริการจ่ายชดเชยจำนวน 418.22 ล้านบาท และเมื่อแยกข้อมูลผู้รับบริการตามสิทธิหลักประกันสุขภาพ พบว่าเป็นผู้มีสิทธิประกันสังคมที่เข้ารับบริการคัดกรองโควิด-19 มากที่สุดจำนวน 90,035 ครั้ง หรือ ร้อยละ 52.31 ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จำนวน 49,533 ครั้ง หรือร้อยละ 28.86 ผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการจำนวน 25,220 ครั้ง หรือร้อยละ 14.88 และสิทธิหลักประกันสุขภาพอื่นๆ อีกจำนวน 6,652 ครั้ง หรือร้อยละ 3.95 นอกจากนี้เมื่อดูบริการตรวจคัดกรองฯ โดยจำแนกตามเขต ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ กทม. เข้าถึงบริการมากที่สุดจำนวน 63,193 คน รองลงมาเขต 4 สระบุรีจำนวน 62,139 คน และเขต 6 ระยองจำนวน 12,445 คน
จากจำนวนการตรวจคัดกรองดังกล่าวเมื่อรวมกับจำนวนการตรวจคัดกรองที่กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการก่อนหน้านี้ในช่วงที่เริ่มแพร่ระบาดและทำการเฝ้าระวัง ทำให้มีประชาชนได้รับบริการคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการ RT-PCR แล้วจำนวน 375,453 ครั้ง และเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานการเฝ้าระวังสถานการณ์แพร่ระบาดขององค์การอนามัยโลก (WHO) และมั่นใจต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของประเทศไทยได้ดำเนินการมา ว่าสามารถควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิผลหรือไม่ โดย สปสช.ได้ตั้งเป้าหมายการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ในปี 2563 อีกจำนวน 1.4 ล้านครั้ง พร้อมต่อเนื่องการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ในปี 2564 อีกจำนวน 3.25 ล้านครั้ง ซึ่ง สปสช.ได้นำเสนอภายใต้แผนการขอรับงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับปี 2563-2564 ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
“การตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 เป็นสิทธิประโยชน์ที่ สปสช.มอบให้กับคนไทยทุกคน เพื่อให้เข้าถึงการรักษาโดยเร็ว ซึ่งที่ผ่านมาไม่เพียงแต่ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองได้รับการดูแล แต่ยังมีผู้มีสิทธิประกันสังคมที่มีสัดส่วนรับการรตรวจคัดกรองมากที่สุด และผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการที่เข้ารับบริการ นอกจากนี้ยังเป็นกลไกสำคัญในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสนี้”
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ในส่วนของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เนื่องจากที่ผ่านมามีความคืบหน้าของการวิจัยและเตรียมการผลิตวัคซีนแล้ว สปสช.จึงต้องมีการจัดเตรียมงบประมาณรองรับ เบื้องต้นคาดว่าด้วยจำนวนการผลิตวัคซีนที่ยังจำกัด ในการฉีดจึงต้องเน้นที่กลุ่มเสี่ยงก่อน โดยในปี 2563 และปี 2564 สปสช.ได้ตั้งเป้าจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ปีละ 4 ล้านโด๊ส เป็นงบประมาณปีละ 1,320 ล้านบาท