แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคือขบวนการของคนธรรมดามากกว่า 8 ล้านคนทั่วโลก ที่ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรมสำหรับทุกคน
"แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล" ยืนหยัดทำงานรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนมายาวนานก้าวเข้าสู่ปีที่60 แม้ว่าโลกของเราทุกวันนี้มีความรุนแรง ความอยุติธรรม และการเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน แต่แอมเนสตี้ยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคนที่ต้องการเห็นสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรมสำหรับทุกคน โดยยึดหลักการตาม "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน" (Universal Declaration of Human Rights-UDHR) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สหประชาชาติได้กำหนดขึ้นเพื่อให้ประเทศสมาชิกได้ใช้เป็นแนวทางในการคุ้มครองดูแลสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองประเทศของตน โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ย้อนกลับไปเกือบ 60 ปีที่แล้ว ปีเตอร์ เบเนสัน ทนายความชาวอังกฤษ อ่านหนังสือพิมพ์พบเรื่องเกี่ยวกับนักศึกษาชาวโปรตุเกสสองคนถูกจับเข้าคุกเนื่องจากชูแก้วฉลองเสรีภาพในบาร์ เรื่องนี้ได้สร้างความสะเทือนใจให้กับเขาเป็นอย่างมาก จึงเขียนจดหมายถึงหนังสือพิมพ์ The Observer เพื่อเรียกร้องให้ผู้อ่านสนใจความอยุติธรรมนี้ หนังสือพิมพ์ได้ตีพิมพ์บทความชื่อ “นักโทษที่ถูกลืม” และได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม ภายในหนึ่งเดือนผู้อ่านนับพันได้เขียนจดหมายสนับสนุนการรณรงค์ของปีเตอร์ เบเนสัน
หลังจากนั้นจึงค่อยๆ กลายเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนธรรมดาหลากหลายสาขาอาชีพ ที่ไม่สามารถนิ่งเฉยต่อความอยุติธรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นไม่ว่าในที่ใดของโลก และลุกขึ้นมาปฏิบัติการในแนวทางที่แต่ละคนถนัดในการรณรงค์ เพื่อส่งเสริมการเคารพ ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กลายเป็นขบวนการด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในนาม “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” มาจนถึงทุกวันนี้
‘ช่วยเหยื่อ-คนถูกละเมิด’ เส้นทางสิทธิมนุษยชน เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ
28 พฤษภาคม 2563 ครบรอบ 59 ปี การยืนหยัดทำงานข้างเคียงสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ทั่วโลก โดยองค์กรเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อ พ.ศ. 2520 จากการรณรงค์ต่อต้านการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ปัจจุบันมีสมาชิกและผู้สนับสนุนกว่า 8 ล้านคน ใน 150 ประเทศทั่วโลกและดินแดน
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เล่าว่า แอมเนสตี้เป็นที่รู้จักในเมืองไทย หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จากการรณรงค์ปลดปล่อย “นักโทษทางความคิด” มีจดหมายนับแสนฉบับจากคนทั่วโลกส่งมาถึงรัฐบาลไทยและสำนักราชเลขาธิการเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์ดังกล่าว ปัจจุบันในประเทศไทยมีสมาชิกกว่า 1,000 คน โดยได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และการรณรงค์เพื่อปกป้อง คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยืนหยัดทำงานก้าวเข้าสู่ปีที่ 60 แล้ว เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งหวังให้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชาติพันธุ์ ได้รับความเสมอภาค มีสิทธิเสรีภาพ และดำรงชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน ภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพื่อมุ่งหวังให้คนทุกคนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข”
ปิยนุชเล่าต่อว่า เราเน้นการทำงานปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิมนุษยชนศึกษา ต่อต้านการทรมาน และเรื่องผู้ลี้ภัย ส่วนเรื่องโทษประหารชีวิตทำมานานแล้ว แต่ส่วนใหญ่ทำงานร่วมกับภาครัฐ นอกจากนั้นยังรณรงค์เพื่อช่วยปลดปล่อยนักโทษทางความคิดหรือผู้เผชิญความเสี่ยงจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ที่ผ่านมาเราได้รับการสนับสนุนกิจกรรมด้วยดีจากสมาชิก นักกิจกรรม และอาสาสมัครเพื่อช่วยกันสร้างสังคมที่มีวัฒนธรรมในการเคารพสิทธิซึ่งกันและกันให้เกิดขึ้นจริงในสังคมของเรา
แอมเนสตี้เป็นองค์กรที่อยู่ได้ด้วยสมาชิกและผู้บริจาค เราไม่รับเงินจากรัฐบาลหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดในการทำงานรณรงค์ต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระในการทำงาน โดยมีกรรมการจากสมาชิกซึ่งเป็นคนทั่วไปมากำกับดูแลทิศทางองค์กรและกำหนดยุทธศาสตร์แต่ละปีที่เปลี่ยนตามเทรนด์สถานการณ์สิทธิมนุษยชน โดยมีงานวิจัยและรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเป็นฐานหลักในการทำงานรณรงค์ โดยระยะหลังมีการปรับยุทธศาสตร์หันมาทำเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษาในไทยมากขึ้น เพื่อให้คนเรียนรู้การเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน
“สำหรับปีนี้แอมเนสตี้ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุุม เราทำงานและทำกิจกรรมทั่วโลก เพื่อให้มั่นใจว่า เสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในการชุมนุมโดยสงบของประชาชนจะได้รับการคุ้มครอง เรารณรงค์เพื่อเรียกร้องให้ปลดปล่อยนักโทษทางความคิดทั่วโลก ที่ถูกจำคุกเพียงเพราะแสดงออกอย่างสงบในสิ่งที่พวกเขาเชื่อหรือเพื่อปกป้องสิทธินั้น พวกเราทำงานกับนักข่าว อาจารย์ ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐบาล นักศึกษา และนักกิจกรรมทั่วโลก เพื่อให้มั่นใจว่า พวกเขาจะสามารถพูด คิด และเขียน เพื่อธำรงความถูกต้อง ความยุติธรรม เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน” ปิยนุชกล่าวทิ้งท้าย