สปสช. จับมือ พอช. และ คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล ร่วมคัดกรองโควิด -19 “เครือข่ายองค์กรชุมชน” สร้างความมั่นใจ ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในการลงพื้นที่ทำงานในชุมชน
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2563 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมจัดบริการคัดกรองสุขภาพสำหรับผู้ปฏิบัติงานสถาบันและขบวนองค์กรชุมชนในสถานการณ์โรคระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมีผู้เข้าร่วมรับการตรวจคัดกรองจำนวน 200 คน
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ผู้ปฏิบัติงานสถาบันและขบวนองค์กรชุมชนภายใต้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เป็นบุคลากรที่ทำงานเชิงรุกในชุมชนซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย สร้างความเข้มแข็งและร่วมแก้ไขปัญหาต่างๆ ในด้านความเป็นอยู่และที่อยู่อาศัยให้กับชุมชน และจากที่ต้องทำงานในชุมชนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการคลุกคลีทำงานกับกลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มคนเร่ร่อน ซึ่งมีอยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง จึงเป็นกลุ่มบุคลากรที่มีความเสี่ยงในการรับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ดังนั้น การดูแลให้ผู้ปฏิบัติงานสถาบันและขบวนองค์กรชุมชนเข้าถึงบริการคัดกรอง นั้นเป็นการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในการนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ สปสช. จึงได้ร่วมจัดบริการคัดกรองโรคโควิด-19 นี้ ภายใต้สิทธิประโยชน์กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ดูแลให้กับคนไทยทุกคน
นอกจากนั้น ในครั้งนี้ สปสช.ยังได้ฝากผู้ปฏิบัติงานสถาบันและขบวนองค์กรชุมชนที่ได้ลงทำงานในชุมชน ร่วมรณรงค์ให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถจองผ่านระบบไลน์ @ucbkk สร้างสุข เพื่อเป็นการลดความรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่จากภาวะแทรกซ้อนและอัตราการเสียชีวิต และเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้ชัดเจน เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19 มีลักษณะอาการที่ใกล้เคียงกัน
ด้าน ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ พอช. เป็นด่านหน้าที่สำคัญ คล้ายกับบุคลากรทางการแพทย์ที่อยูในระบบสาธารณสุข เพราะมีโอกาสสัมผัสและคลุกคลีกับคนในชุมชน รวมถึงชุมชนชายขอบ อย่างเช่น คนเร่ร่อน หรือคนจรจัด ทีมงานรู้สึกยินดีมากที่ได้เข้ามาช่วยคัดกรองเจ้าหน้าที่ของ พอช. ทั้งนี้ผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่อื่นๆ ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีผลเป็นลบ แต่อยากให้ทุกคนเฝ้าระวัง ซึ่งเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 สามารถติดต่อผ่านละอองน้ำลาย ดังนั้น หากทุกคนสวมหน้ากากผ้าก็สามารถป้องกัน โดยเฉพาะจากผู้ที่มีเชื้อไวรัสนี้อยู่แต่ไม่แสดงอาการ และยังอาจอยู่ในระยะของการแพร่กระจายเชื้อ สำหรับในวันนี้ เป็นกระบวนการตรวจคัดกรองหาสารพันธุกรรมของเชื้อก่อโรคโควิด-19 ด้วยวิธี Real-time RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน ซึ่งผลที่ออกมาจะสามารถให้ความมั่นใจต่อทีมทำงานและเครือข่ายองค์กรชุมชนในการทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนได้อย่างเต็มกำลังต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม พวกเราก็ต้องไม่ผ่อนปรนการป้องกันตนเองและผู้อื่นอย่างต่อเนื่องต่อไป
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เราต้องร่วมมือกันก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ บนพื้นฐานของความเป็นอยู่ปัจจุบัน ท้ายที่สุดแล้วทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจซึ่งกันและกัน ต้องขอขอบคุณ ทาง สปสช. และคณะเทคนิคทางการแพทย์มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้สนับสนุนการตรวจคัดกรองทางสุขภาพสำหรับผู้ปฏิบัติงานของ พอช. และเครือข่ายองค์กรชุมชนในวันนี้