บางจากประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2563 ปรับแผนการดำเนินงานเพื่อบริหารสภาพคล่องและรักษาความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน
ผลการดำเนินงานกลุ่มบริษัท บางจากฯ ไตรมาสแรกปี 2563 มีรายได้รวม 43,070 ล้านบาท EBITDA ติดลบ 2,546 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 4,661 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 3.49 บาท เตรียมแผนการบริหารภาวะวิกฤตในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่สอดคล้องกับมาตรการควบคุมการระบาดของจากภาครัฐ และมีมาตรการต่างๆ เพื่อบริหารสภาพคล่องและรักษาความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานกลุ่มบริษัท บางจากฯ ไตรมาสแรกของปี 2563 ว่า บริษัท บางจากฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการรวม 43,070 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน มี EBITDA ติดลบ 2,546 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 205 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 230 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มี Inventory Loss 3,434 ล้านบาท รวมขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ (NRV) 1,689 ล้านบาท และเนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก ทำให้มีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำนวน 1,366 ล้านบาท ส่งผลให้ไตรมาสนี้มีขาดทุนสุทธิรวม 4,316 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 4,661 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 3.49 บาท
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นเหตุให้อุปสงค์น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วโลกลดลง มีผลต่อราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องลดการผลิตน้ำมันได้ กดดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงอย่างรุนแรงในช่วงปลายไตรมาส ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 50.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 11.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือลดลงเกือบร้อยละ 20 จากไตรมาสก่อนหน้า
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และสายการบินที่ต้องหยุดให้บริการ รวมถึงการประกาศภาวะฉุกเฉินและมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ส่งผลให้ผลประกอบการของทั้งอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปรับตัวลดลง
สำหรับผลการดำเนินงานในแต่ละกลุ่มธุรกิจ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน มี EBITDA ติดลบ 2,590 ล้านบาท มีค่าการกลั่นพื้นฐาน 2.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ค่าการกลั่นยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบอ้างอิงในผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมากจากความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกลดลงอย่างรุนแรง จากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศที่ลดลง ทำให้โรงกลั่นต้องปรับลดกำลังการผลิตมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยมีอัตราการผลิตเฉลี่ย 104,300 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 87 ของกำลังการผลิตรวมของโรงกลั่น และจากการที่ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงอย่างมากในไตรมาสนี้ ธุรกิจโรงกลั่นมี Inventory Loss 2,774
ล้านบาท (รวมขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ (NRV)) ทำให้ธุรกิจโรงกลั่นมีผลการดำเนินงานปรับลดลงค่อนข้างมาก ในขณะที่ธุรกิจการค้าน้ำมันโดยบริษัท BCP Trading จำกัด มีปริมาณการค้าและธุรกรรมการซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น จากการเดินหน้าขยายธุรกรรมการค้ากับคู่ค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้นต่อไป ตามแผนกลยุทธ์การขยายธุรกิจของบริษัท
กลุ่มธุรกิจการตลาด มี EBITDA จากการดำเนินงาน 672 ล้านบาท แต่เนื่องจากมี Inventory Loss จำนวน 591 ล้านบาท ทำให้มี EBITDA 81 ล้านบาท โดยปริมาณการจำหน่ายรวมของธุรกิจการตลาดลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่ลดลงจากการจำหน่ายน้ำมันผ่าน
ตลาดอุตสาหกรรม เนื่องจากสภาวะการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างสูง และในช่วงไตรมาส 4 เป็นช่วง High Season ของการใช้น้ำมัน อีกทั้งในช่วงปลายไตรมาส 1 ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง อย่างไรก็ดี ในไตรมาสแรกของปี 2563 นี้ บริษัทฯ ได้มีการจำหน่ายน้ำมันดีเซล B10 ในสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศและได้จัดกิจกรรมการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ในคุณภาพน้ำมันดีเซล B10 อย่างต่อเนื่อง โดยส่วนแบ่งการตลาดสะสมเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2563 อยู่ที่ร้อยละ 15.9 ตามข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงาน อีกทั้งมีการขยายจำนวนสถานีบริการควบคู่ไปกับการพัฒนาและขยายธุรกิจ Non-Oil โดยมีจำนวนสถานีบริการน้ำมัน ณ สิ้นไตรมาส 1/2563 ทั้งสิ้น 1,204 สาขา ทั้งนี้ ค่าการตลาดสุทธิปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถกำหนดราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการได้เหมาะสมกับต้นทุนผลิตภัณฑ์
ในส่วนของธุรกิจ Non-oil ยังคงพัฒนาและขยายธุรกิจร้านกาแฟอินทนิลอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสนี้ร้านกาแฟอินทนิลมีจำนวน 610 สาขา โดยเปิดเพิ่ม 19 สาขา ในทำเลที่มีศักยภาพทั้งในและนอกสถานีบริการน้ำมัน ประกอบกับการจัดทำแคมเปญส่งเสริมการขายต่างๆ และเมนูเครื่องดื่มสร้างสรรค์จากสินค้าที่มีคุณภาพ พร้อมจัดแคมเปญ “อยู่บ้านนะ เดี๋ยวเราไปส่ง” ในช่วงที่รณรงค์ให้หยุดอยู่บ้าน เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 โดยบริษัทฯ ได้มีมาตรการในการกระตุ้นยอดขายผ่านกิจกรรมและช่องทางต่างๆ และปรับตัวต่อสถานการณ์โดยเน้นไปที่การขายผลิตภัณฑ์ผ่านทางการจัดส่งมากขึ้น สนับสนุนให้ลูกค้าสั่งสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ หรือใช้บริการ SPAR ส่งตรงจากสาขาถึงบ้าน ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้มีรายได้ลดลงร้อยละ 8 ขณะที่ EBITDA ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 71 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง
กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า มี EBITDA 770 ล้านบาท ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศลาว ในโครงการ “Nam San 3A” เมื่อเดือนกันยายน 2562 และโครงการ “Nam San 3B” ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 45 เมกะวัตต์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 รวมทั้งการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศไทย “ลมลิกอร์” ของบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มฯ แต่มีปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้ารวมลดลงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยหลักมาจากการจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศลาวลดลง เนื่องจากปัญหาภาวะแล้งที่มากผิดปกติ นอกจากนี้โครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ทั้งในประเทศไทยและญี่ปุ่นมีปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าลดลง โดยประเทศไทยมีสาเหตุจากความเข้มแสงเฉลี่ยปรับลดลง ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากการหยุดรับซื้อไฟฟ้า (Curtailment) จากการไฟฟ้าประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ ในไตรมาสนี้รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม 91 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ในประเทศฟิลิปปินส์ 24 ล้านบาทและส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ในประเทศอินโดนีเซีย 67 ล้านบาท
กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มี EBITDA รวม 510 ล้านบาท เพิ่มขี้นร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วและเพิ่มขึ้นร้อยละ 162 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2562 โดยธุรกิจผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 95 เมื่อเทียบกับปี 2562 และร้อยละ 61 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว จากราคาขายผลิตภัณฑ์ B100 ที่ปรับขึ้นค่อนข้างมาก ตามมาตรการต่างๆ ของภาครัฐในการส่งเสริมการใช้ B100 ในภาคพลังงาน ที่กำหนดให้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันเกรดหลัก และน้ำมันดีเซล B7 และ B20 เป็นเกรดทางเลือก ถึงแม้ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ B100 จะลดลง จากปัจจัยด้านฤดูกาลและจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่ส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซลในช่วงปลายไตรมาส แต่จากราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ B100 ที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบ ทำให้กำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้นด้านธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล มีรายได้ลดลงจากปริมาณการจำหน่ายที่ลดลงเมื่อเทียบกับทั้งปีก่อนหน้าและไตรมาสก่อนหน้า โดยหลักเกิดจากการแข่งขันของธุรกิจเอทานอลที่ค่อนข้างสูง จากการผลิตเอทานอลรวมของประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ประกอบกับการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ลดลง ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์เอทานอลปรับตัวสูงขึ้นตามราคาต้นทุนวัตถุดิบเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง
แต่จากการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้กำไรขั้นต้นปรับเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสนี้มีรายได้เพิ่มในส่วนของการจำหน่ายเอทานอลสำหรับนำไปผลิตเจลแอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคตามที่กรมสรรพสามิตอนุญาตกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ มี EBITDA ขาดทุน 1,227 ล้านบาท ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างมาก จากภาวะอุปทานล้นตลาดและอุปสงค์ที่ลดลงจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 โดยมีการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม OKEA เนื่องจากราคาน้ำมันและราคาก๊าซธรรมชาติปรับลดลง ส่งผลให้ OKEA มีรายได้ลดลง อีกทั้งมีการตั้งด้อยค่า Technical Goodwill และ Ordinary Goodwill และมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากการแปลงค่าเงินกู้ยืมสกุลต่างประเทศ เนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินโครนนอร์เวย์เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของ Nido Petroleum Pty. Ltd. 1,366 ล้านบาท ทำให้ผลการดำเนินงานปรับลดลงค่อนข้างมาก
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่วโลกเป็นวงกว้าง กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทฯ ได้ประเมินสถานการณ์และเตรียมแนวทางการดำเนินงานเพื่อรองรับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ดังนี้
ด้านความปลอดภัย
มีแผนงาน Business continuity management (BCM) ซึ่งครอบคลุมถึงการบริหารภาวะวิกฤตในสถานการณ์
โรคระบาด (Epidemic - Crisis management plan) โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องของความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน ลูกค้าและผู้เกี่ยวข้อง มีการประชุมและปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังไม่พบพนักงานของกลุ่มบริษัทติดเชื้อโควิด-19
ได้ประกาศมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีการกำกับดูแลและรับมือกับสถานการณ์อย่างเป็นระบบ อีกทั้งได้มีการสื่อสารกับพนักงานและผู้เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ยังคงสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง
• โรงกลั่นบางจากฯ มีการปรับเวลาปฏิบัติงานของพนักงานที่ทำงานเป็นกะ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการเคอร์ฟิว และกันพื้นที่อาคาร Control Room ให้เข้าออกได้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น มีการจัดรถรับส่งจากโรงกลั่นถึงบ้านสำหรับพนักงานที่ปฏิบัติงานในห้อง Control Room อีกทั้งได้เตรียมจัดพื้นที่ภายในโรงกลั่น เป็นที่พักสำรองกรณีที่พบการระบาดเป็นวงกว้าง
• สถานีบริการน้ำมัน บริษัทฯ ได้จัดเตรียมมาตรการการดูแลความสะอาดอย่างเคร่งครัดในจุดสัมผัสต่างๆ เช่น กำหนดให้พนักงานบริการหน้าลานและเจ้าหน้าที่ภายในสถานีบริการทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา มีการสอบถามและเฝ้าสังเกตอาการพร้อมวัดอุณหภูมิร่างกายของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ จัดให้มีเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือประจำตู้แคชเชียร์และบริเวณหน้าลาน เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าในการเข้ามาใช้บริการ
• ด้านบุคลากร บริษัทฯ ได้จัดเตรียมความพร้อมทั้งในด้านบุคลากร ระบบปฏิบัติการ ระบบสารสนเทศต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำงาน สำหรับพนักงานที่ปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from Home) มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและคล่องตัว เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างราบรื่น และได้กำหนดให้มีมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างเคร่งครัด รวมถึงการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาและ
ข้อปฏิบัติต่างๆ เพื่อรักษาระยะห่างระหว่างกัน ป้องกันการแพร่เชื้อและติดเชื้อ
ด้านการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงและปิโตรเลียมเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จึงมีการปรับแผนการผลิต การปรับลดค่าใช้จ่ายและเงินลงทุนดังนี้
ด้านการผลิต โรงกลั่นได้มีการติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับการใช้กำลังการผลิตได้อย่างเหมาะสม และได้ปรับลดการผลิตลงเพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการในตลาดที่ลดลง คาดว่าในปีนี้กำลังการผลิตจะลดลงจากแผนประมาณ 20% อีกทั้งได้พิจารณาถึงการจัดหาผลิดภัณฑ์จากภายนอกเพื่อนำมาขายแทนการผลิตเองบางส่วน ในกรณีที่สามารถทำกำไรได้มากกว่า รวมถึงได้มีการพิจารณาการจัดหาน้ำมันดิบทางเลือกเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ได้พิจารณาปรับแผนการหยุดซ่อมบำรุงประจำปี (TAM) โดยหยุดซ่อมหน่วยกลั่นที่ 2 ในระหว่างที่ใช้กำลังการผลิตลดลง และเลื่อนการหยุดซ่อมบำรุงประจำปี (TAM) ในส่วนอื่นๆ ตามแผนเดิมที่จะดำเนินการในไตรมาส 3 ของปีนี้ ออกไปเป็นปีหน้า เนื่องจากการซ่อมบำรุงจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและผู้รับเหมาเป็นจำนวนมากเข้ามาดำเนินงานทำให้อาจเกิดความเสี่ยงด้านการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งเป็นการใช้ประโยชน์ตัวเร่งปฏิกิริยาและอุปกรณ์ต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจากการใช้กำลังการผลิตที่ลดลงในปีนี้ และเป็นส่วนหนึ่งในการลดค่าใช้จ่ายเพื่อบริหารกระแสเงินสดอีกด้วย
ด้านการจำหน่าย บริษัทฯ ประเมินว่าปริมาณการจำหน่ายของธุรกิจการตลาดในปีนี้จะปรับตัวลดลงประมาณ 20-25% โดยเฉพาะการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซล และน้ำมันอากาศยาน ทางบริษัทฯ ได้มีมาตรการในการกระตุ้นยอดขาย โดยการจัดโปรโมชั่นผ่านทาง Loyalty program รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตร ส่วนทางด้านธุรกิจ Non-oil เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดส่งผลให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการสถานีรวมไปถึงร้านกาแฟอินทนิลลดลง ก็ได้มีการปรับตัวต่อสถานการณ์โดยเน้นไปที่การขายผลิตภัณฑ์ผ่านทาง Delivery มากขึ้น ในส่วนของการขยายสาขาของสถานีบริการและธุรกิจ Non-Oil ยังคงดำเนินการตามแผน แต่อาจมีการชะลอการลงทุนบางส่วนด้วยภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว
ด้านสถานะการเงิน บริษัทฯ เตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์ โดยได้ทบทวนและปรับแผนการใช้จ่าย (OPEX) และแผนการลงทุน (CAPEX) ในโครงการต่าง ๆ ตามแผนธุรกิจของปี 2563 โดยให้มีการปรับลดหรือชะลอ รวมถึงเลื่อนการลงทุนในโครงการที่ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน แต่ต้องไม่กระทบกับการดำเนินธุรกิจหลักและต้องปฏิบัติตามกฎหมายและคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก โดยสามารถปรับลด OPEX ได้ร้อยละ 20 และลดและเลื่อน CAPEX ได้ร้อยละ 15
สำหรับการบริหารสภาพคล่องทางการเงิน บริษัทฯ ได้มีมาตรการในการอนุมัติวงเงินสินเชื่อ ติดตามดูแลและจัดเก็บหนี้ของลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้เพียงพอสำหรับการดำเนินงาน ตลอดจนบริหารจัดการชำระหนี้ได้ตามกำหนด ทั้งนี้ได้มีการจัดหาแหล่งเงินทุนทั้งวงเงินกู้ระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรองรับในกรณีที่มีความต้องการใช้
โดยล่าสุดบริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการออกหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกันและมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ให้กับผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ (Institutional Investors and/or High Net Worth Investors) มูลค่า 8,000ล้านบาท ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ลงทุนสถาบันและ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ สะท้อนความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อบริษัทฯ โดยส่วนหนึ่งเพื่อนำไปไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในปีนี้ และสำรองส่วนหนึ่งเพื่อการบริหารการเงิน
นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งคณะทำงาน Innovation Continuity Task Force ระดมความคิดจากพนักงานในการต่อยอดธุรกิจเดิมหรือสรรหาแนวการทำธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนและรองรับการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางธุรกิจที่จะเปลี่ยนแปลงไปหลังจากวิกฤตโควิด-19
ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังได้ให้การสนับสนุนหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคสังคมผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมหลากหลายรูปแบบ
ซึ่งเป็นภารกิจที่บางจากฯ ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ภายใต้โครงการ “กลุ่มบางจากร่วมดูแลใส่ใจ สู้ภัยโควิด-19” ครอบคลุมกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด ทั้งการสนับสนุนนวัตกรรมทางการแพทย์ การมอบแอลกอฮอล์เจล เครื่องดื่มอินทนิล บัตรเติมน้ำมัน ให้กับหน่วยงานต่างๆ การจำหน่ายแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยในราคาพิเศษ การบริจาคหน้ากากผ้า ถุงยังชีพให้เพื่อนบ้านรอบโรงกลั่น ฯลฯ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงภาวะวิกฤตนี้ โดยล่าสุด จะจัดทำ ‘ถังปันสุข’ นำร่อง ณ สถานีบริการน้ำมันและจุดต่างๆ ในพื้นที่ชุมชน เพื่อให้ผู้ที่มีมากพอ นำเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ มาเติม เพื่อให้ผู้ที่ต้องการ หยิบไปใช้หรือบริโภคได้