ประธานศาลปกครองสูงสุดออกคำแนะนำแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการปฏิบัติงานทางคดี รองรับการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือทำงานเดินหน้าสู่ศาลอิเล็กทรอนิกส์อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
เมื่อวันที่ 30เมษายน 2563 นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ออกคำแนะนำแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการปฏิบัติงานทางคดีในสำนวนที่จัดทำไว้ในรูปกระดาษ และในการประชุมทางคดีของตุลาการศาลปกครอง เพื่อให้ตุลาการศาลปกครอง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ศาลปกครองที่เกี่ยวข้องมีแนวทางปฏิบัติในการใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการปฏิบัติงานทางคดีที่สอดคล้องในแนวทางเดียวกัน อันจะเป็นการสนับสนุนการทำงานของตุลาการ
ศาลปกครองทำให้เกิดความยืดหยุ่น สามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วทั้งในและนอกสถานที่ทำงาน
ซึ่งจะเป็นแนวทางป้องกันไม่ให้คดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองต้องหยุดชะงัก และไม่กระทบสิทธิประโยชน์ทางคดีของประชาชนและคู่กรณีจากสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่อาจคาดหมายได้ เช่น การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้ประชาชนและคู่กรณีที่อาจมีความกังวลต่อการเดินทางมาติดต่อราชการยังที่ทำการศาลปกครอง ให้สามารถดำเนินการทางระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ได้ ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ศาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Court) ที่จะสามารถอำนวยความยุติธรรมทางปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ตามคำแนะนำดังกล่าว กำหนดให้การใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการปฏิบัติงานทางคดีในสำนวนที่จัดทำไว้ในรูปแบบกระดาษ มีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายเช่นเดียวกับการปฏิบัติงานทางคดีโดยวิธีการทางกายภาพในสำนวนที่จัดทำในรูปกระดาษดังที่เคยปฏิบัติ โดยมีแนวทางปฏิบัติสำหรับตุลาการศาลปกครอง สรุปได้ดังนี้
1) กรณีที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทุกฝ่ายประสงค์เปลี่ยนมาใช้หรือยอมรับให้ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกรณีนี้สถานะในการปฏิบัติงานของสำนวนคดีดังกล่าวได้เปลี่ยนจากสำนวนที่จัดทำไว้ในรูปกระดาษ ไปเป็นสำนวนคดีอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ดังนั้น เมื่อตุลาการศาลปกครองได้ปฏิบัติงานทางคดีด้วยวิธีการตามที่ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์รองรับไว้แล้ว จึงไม่มีกรณีที่จำเป็นต้องพิมพ์หลักฐานการปฏิบัติงานจากระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ออกมาเพื่อแนบไว้ในสำนวนที่จัดทำไว้ในรูปกระดาษอีก โดยให้สำนักงานศาลปกครองมีหน้าที่แปลงเอกสารและพยานหลักฐานทั้งหมดในสำนวนคดีที่จัดทำไว้ในรูปกระดาษให้เป็นเอกสารและพยานหลักฐานในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้มีสำนวนคดีอิเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์โดยเร็ว
2) กรณีที่คู่กรณียังไม่ประสงค์ที่จะเปลี่ยนมาใช้หรือยอมรับให้ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรณีนี้สถานะในการปฏิบัติงานของสำนวนคดีดังกล่าวจึงยังคงเป็นสำนวนที่จัดทำไว้ในรูปกระดาษ และถึงแม้ว่าการปฏิบัติงานทางคดีด้วยวิธีการตามที่ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์รองรับไว้ในกรณีนี้มีผลทางกฎหมายอย่างเดียวกับการปฏิบัติงานทางคดีในขั้นตอนนั้นๆ ในสำนวนที่จัดทำไว้ในรูปกระดาษแล้วก็ตาม แต่เพื่อประโยชน์ในการตรวจสำนวนได้โดยสะดวกและครบถ้วนจากสำนวนที่จัดทำไว้ในรูปกระดาษ ให้ตุลาการศาลปกครองที่ปฏิบัติงานนั้นพิจารณาให้มีการพิมพ์หลักฐานการปฏิบัติงานดังกล่าวจากระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแนบไว้ในสำนวนที่จัดทำไว้ในรูปกระดาษ
3) กรณีการใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบการประชุมทางจอภาพในการประชุมทางคดีของตุลาการศาลปกครอง ผ่าน “ห้องประชุมอิเล็กทรอนิกส์” ตุลาการศาลปกครองสามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบการประชุมทางจอภาพในการประชุมทางคดีได้ในทุกกรณี เช่น การกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง การกำหนดวันนั่งพิจารณาคดี หรือการประชุมเพื่อจัดทำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล เป็นต้น ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติมาตรา ๖๐/๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และข้อ ๒๗ แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่บัญญัติรองรับไว้อย่างแจ้งชัดให้สามารถ “ดำเนินกระบวนพิจารณา” ซึ่งครอบคลุมถึงบรรดาการดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งปวง รวมทั้งการประชุมปรึกษาทางคดีของตุลาการศาลปกครอง โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
อนึ่ง เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของข้อมูลในระบบการประชุมทางจอภาพ คำแนะนำของประธานศาลปกครองสูงสุดฉบับนี้ ยังได้กำหนดคุณสมบัติของห้องประชุมอิเล็กทรอนิกส์ให้มีมาตรฐานในการถ่ายทอดภาพและเสียงได้อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง มีมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุม และสามารถให้ผู้ร่วมประชุมแสดงตนในการเข้าร่วมประชุม แสดงความคิดเห็นต่อผู้ร่วมประชุมอื่นทุกคน และรับรู้การออกเสียงเพื่อลงมติของผู้ร่วมประชุมได้เป็นรายบุคคลอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ต้องสามารถกำหนดขอบเขตการเข้าร่วมประชุมของบุคคลได้เป็นการเฉพาะเจาะจง โดยให้เข้าถึงได้เฉพาะตุลาการศาลปกครองที่เป็นองค์คณะหรือที่มีคุณสมบัติเป็นผู้ร่วมประชุมได้ตามกฎหมาย หรือบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากตุลาการหัวหน้าคณะหรือผู้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีการประชุมทางคดีให้อยู่ในที่ประชุม และมีระบบการจัดเก็บข้อมูลจราจรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ร่วมประชุมทุกคนตามมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
รายละเอียดปรากฏตามเอกสารข่าวศาลปกครอง และคำแนะนำของประธานศาลปกครองสูงสุดที่แนบมาพร้อมนี้
สอบถามเพิ่มเติม โทร. สายด่วนศาลปกครอง 1355 หรือสามารถติดตามข่าวสารได้ที่
- Facebook สำนักงานศาลปกครอง https://www.facebook.com/admincourt/
- Line สำนักงานศาลปกครอง @admc https://line.me/R/ti/p/%40mwo8915l