เอสซีจีแถลงผลประกอบการไตรมาสที่1 ปี 2563 รายได้ใกล้เคียงไตรมาสก่อน เผยมุ่งพาสังคม คู่ค้า พนักงาน และธุรกิจ สู้วิกฤตโควิด-19 ด้วยความทุ่มเทในการบริหารจัดการความต่อเนื่องในการดำเนินงานเชิงรุก ควบคู่การขานรับมาตรการภาครัฐอย่างเข้มงวด ดึงเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยส่งมอบโซลูชันสินค้าบริการสะดวก-ปลอดภัย เสริมภูมิคุ้มกันกลยุทธ์รับดิสรัปชันที่สร้างมา เร่งคว้าโอกาสใหม่ตอบความต้องการตลาดอย่างรวดเร็ว มั่นใจสถานะทางการเงินยังแข็งแกร่ง พร้อมเตรียมรับความท้าทายในอนาคต
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า “งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจี ในไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2563 มีรายได้จากการขาย 105,741 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลง ตามความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่ลดลง แต่ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 6,971 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อน ตามผลการดำเนินงานที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์ เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าลดลง
โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services - HVA) 46,120 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากไตรมาสก่อน โดยใช้งบลงทุนด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกว่า 1,372 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.3 ของยอดขายรวม
นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ทั้งสิ้น 44,859 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เอสซีจีมีรายได้จากการส่งออกจากประเทศไทย 24,319 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23 ของยอดขายรวม ลดลงร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีมูลค่า 708,931 ล้านบาท โดยร้อยละ 34 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้
ธุรกิจเคมิคอลส์ มีรายได้จากการขาย 38,329 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์และปริมาณขายที่ปรับตัวลดลง และลดลงร้อยละ 7 จากไตรมาสก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,778 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 70 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลง และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลง และลดลงร้อยละ 37 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลง
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีรายได้จากการขาย 46,245 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการในประเทศที่ลดลง แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากปัจจัยด้านฤดูกาล โดยมีกำไรสำหรับงวด 2,778 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 113 จากไตรมาสก่อน
ธุรกิจแพคเกจจิ้ง มีรายได้จากการขาย 24,267 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากการรวมผลประกอบการ Fajar และ Visy ประเทศไทย รวมถึงการทำงานเชิงรุกในทุกหน่วยงานภายในเพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,732 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 45 จากไตรมาสก่อน
นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า “ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 เอสซีจีก็เป็นหนึ่งองค์กรซึ่งใช้ความพยายามอย่างมากที่จะรักษาผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ให้ใกล้เคียงไตรมาสก่อน แม้สถานการณ์โควิด-19 จะพึ่งเริ่มส่งผลต่อธุรกิจในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อให้สังคม คู่ค้า พนักงาน และธุรกิจ ร่วมก้าวผ่านสถานการณ์อันยากลำบากนี้ไปด้วยกัน ด้วยความทุ่มเทเชิงรุกและรวดเร็วในการบริหารจัดการความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ (Business Continuity Management) เสริมกับการเตรียมความพร้อมด้วยการปรับกลยุทธ์สู้ศึกดิสรัปชันในช่วงที่ผ่านมาอย่างเข้มข้น ภายใต้การขานรับมาตรการภาครัฐเพื่อรักษาสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด โดยนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยให้พนักงานที่สำนักงานกว่าร้อยละ 90 สามารถทำงานได้จากที่บ้าน (Work from home) ขณะเดียวกันก็ช่วยให้การบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่การผลิตจนถึงการส่งมอบโซลูชันสินค้าและบริการต่าง ๆ ไปยังลูกค้าทุกกลุ่มมีความสะดวกและปลอดภัย ควบคู่กับการมองหาโอกาสใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปได้ เช่น การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือการผลักดันการใช้ Blockchain ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง-วางบิล-ชำระเงินกับคู่ธุรกิจได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ยังรักษาสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่ง พร้อมเตรียมปรับตัวอย่างเต็มที่ในการรับความท้าทายหากสถานการณ์ยาวนานต่อไป
สำหรับธุรกิจแพคเกจจิ้ง สามารถขายสินค้าและบริการด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจรได้ตอบโจทย์และทันต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะจากพฤติกรรมการสั่งอาหารเดลิเวอรี่และการซื้อสินค้าออนไลน์ ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นด้านสุขอนามัยในการผลิตและการขนส่งบรรจุภัณฑ์ ซึ่งลูกค้าให้ความใส่ใจอย่างมากในสถานการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการบริหารจัดการโรงงานในไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ให้สามารถดำเนินการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย อีกทั้งยังมีการวางแผนการขายร่วมกับลูกค้ากลุ่มธุรกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับกระบวนการส่งมอบสินค้าและบริการให้มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ยังคงเสถียรภาพไว้ รวมทั้งการลดข้อจำกัดและอุปสรรคในการดำเนินงาน เพื่อให้ธุรกิจของลูกค้าสามารถเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เร่งพัฒนาช่องทางค้าปลีกออนไลน์ของ SCG HOME ทั้งเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน และโซเชียลมีเดีย ให้เชื่อมโยงและมีประสิทธิภาพ พร้อมบริการจัดส่งทั่วประเทศและบริการให้คำปรึกษาเรื่องบ้านผ่านออนไลน์ ลูกค้าจึงเลือกซื้อสินค้าและรับบริการได้สะดวกโดยไม่ต้องออกจากบ้าน ทำให้ช่องทางนี้มียอดขายเติบโตจากไตรมาสก่อนหลายเท่าตัว ควบคู่กับการเพิ่มมาตรการเชิงรุกด้านสุขอนามัยในการให้บริการติดตั้งและอื่น ๆ รวมทั้งในธุรกิจขนส่งสินค้า ซึ่งเอสซีจี โลจิสติกส์ และเอสซีจี เอ็กซ์เพรส ก็มีมาตรการที่เข้มงวด ตั้งแต่การรับสินค้า การจัดการคลังสินค้า และการจัดส่งสินค้า เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในความปลอดภัย พร้อมให้บริการจัดส่งของสด เช่น ผัก และผลไม้ ทั่วประเทศที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ธุรกิจฯ ยังได้เผยแพร่องค์ความรู้และมาตรการช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ให้พาร์ทเนอร์ในวงการก่อสร้าง ทั้งผู้พัฒนาโครงการ ผู้รับเหมาและช่าง ตลอดจนร้านผู้แทนจำหน่าย เพื่อให้ทุกฝ่ายรอดพ้นวิกฤตไปด้วยกัน
ส่วนธุรกิจเคมิคอลส์ มุ่งปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่ผันผวนและท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับสัดส่วนการขายเม็ดพลาสติกให้สอดคล้องกับตลาดที่เปลี่ยนไป ด้วยจุดแข็งในการมีเครือข่ายลูกค้าในหลายประเทศทั่วโลก จึงสามารถเพิ่มโอกาสทางการขายโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ความต้องการใช้งานไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร และบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง นอกจากนี้ ยังเพิ่มมาตรการเชิงรุกด้านการป้องกันการระบาดของโควิด-19 เพื่อรักษามาตรฐานในการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่กระบวนการผลิต เช่น การเพิ่มมาตรการที่รัดกุมในการดูแลสุขภาพของพนักงานและคู่ธุรกิจเพื่อให้โรงงานในจังหวัดระยองเป็น ZERO COVID-19 ZONE การบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่าเพื่อให้การส่งมอบสินค้าและบริการแก่ลูกค้าเป็นไปอย่างต่อเนื่องและปลอดภัย ตลอดจนการเดินหน้าพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ ธุรกิจฯ ยังตระหนักถึงสถานการณ์น้ำแล้งในจังหวัดระยองและให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ โดยให้ความสำคัญกับการลดการใช้น้ำและการจัดการการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างดีที่สุด ทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต
ขณะที่การช่วยเหลือสังคมนั้น เอสซีจีได้นำความเชี่ยวชาญ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่มีอยู่ไปร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในการเร่งพัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิด-19 ที่หลากหลาย ตอบโจทย์ และทันต่อความต้องการ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นกำลังสำคัญในการดูแลประชาชน อาทิ นวัตกรรมห้องตรวจและคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง (Modular Screening & Swab Unit) โดยเทคโนโลยีของ SCG HEIM และ Living Solution รวมทั้งนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ (Mobile Isolation Unit) โดยธุรกิจเคมิคอลส์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากมูลนิธิเอสซีจีจะได้สนับสนุนงบประมาณกว่า 50 ล้านบาท เพื่อนำนวัตกรรมเหล่านี้ไปทยอยส่งมอบให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ขาดแคลนแล้ว ยังมีพลังน้ำใจจากผู้ร่วมบริจาคผ่านมูลนิธิต่าง ๆ ที่ช่วยให้ประเทศของเราก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันอย่างดีที่สุดอีกด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้เลื่อนการจัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ของเอสซีจี มาเป็นวันที่ 8 มิ.ย. 2563 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป ณ อาคารอเนกประสงค์ เอสซีจี สำนักงานใหญ่บางซื่อ โดยจะมีการปฏิบัติตามมาตรการภาครัฐอย่างเคร่งครัด ด้วยการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม โดยขอความร่วมมือผู้ถือหุ้นให้มอบฉันทะให้กรรมการอิสระตามรายชื่อที่กำหนด พร้อมมีมาตรการคัดกรองก่อนเข้าประชุม การดูแลสุขอนามัย และการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ตลอดการประชุม” นายรุ่งโรจน์ กล่าวสรุป